บทที่ 3 การปกครองระบอบประชาธิปไตย


ความหมายของประชาธิปไตย 
         คำว่า ประชาธิปไตย”  ถอดศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า  “Democracy”  ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก  คำ  คือ “Demos”  แปลว่า ประชาชน”  และ “Kratos”  แปลว่า  อำนาจ”  เมื่อรวมกันเข้าแล้วก็มีความหมายว่า อำนาจของประชาชน”  หรือ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ”   เพราะฉะนั้นหลักการขั้นมูลฐานของระบอบประชาธิปไตยก็คือ  การยอมรับนับถือความสำคัญและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของบุคคล  ความเสมอภาคและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต
            ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อับราฮัม  ลินคอล์น  ได้ให้คำนิยามประชาธิปไตยในการกล่าวสุนทรพจน์  ณ  เมืองเกตติสเบอร์ก  หรือ เกตต์สปุระ”  ในมลรัฐเพนซิลวาเนีย  ในวันที่  19 พฤศจิกายน ค.. 1863  ว่า  รัฐบาลของประชาชน  โดยประชาชน  เพื่อประชาชนจะไม่มีวันสูญสลายไปจากผืนพิภพนี้”  วาทะดังกล่าวได้กลายเป็นคำนิยามยอดนิยม   เพราะกระทัดรัดและกระชับความ   ทั้งนี้อาจวิเคราะห์คำนิยามของอับราฮิม  ลินคอล์น  ออกเป็น  3  ส่วน  ได้แก่ 1) รัฐบาลของประชาชน  2)  รัฐบาลโดยประชาชน 3)  รัฐบาลเพื่อประชาชน   (อ้างจาก  จิรโชค  (บรรพตวีระสัย ดร., สุรพล  ราชภัณฑารักษ์, ดร., และสุรพันธ์  ทับสุวรรณ์ , ผศ., 2538 : 259)
            นักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่านได้ให้คำจำกัดความเรื่อง  ระบอบการปกครองประชาธิปไตยไว้แตกต่างกัน  เช่น

            ฮาโรลด์  ลาสกี้  เนื้อแท้ของประชาธิปไตยก็คือ  ความปรารถนาของมนุษย์ที่จะยอมรับนับถือและรักษาไว้ซึ่งความสำคัญของตนเอง   รวมตลอดถึงความเสมอภาคระหว่างบุคคลในทางเศรษฐกิจ   สังคมการเมือง”   (ใจความสำคัญก็คือ  ความเสมอภาคซึ่งเป็นที่มาแห่งเสรีภาพ)
            ชาลส์  อีเมอเรี่ยม  ประชาธิปไตยเป็นแนวความคิด   และเป็นการปฏิบัติที่มุ่งไปสู่ความผาสุกร่วมกันของประชาชน   โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนนั้นเอง  เป็นเครื่องนำทาง”  (ใจความสำคัญก็มุ่งถึงความผาสุกร่วมกัน   ซึ่งมีรากฐานจากทางเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการวิภาคผลผลิตไปสู่ชุมชน)
            ลอร์ด  ไบร์ซ์  ประชาธิปไตยหมายถึง   รัฐบาลที่ถือเอาเจตนารมณ์ของประชาชนฝ่ายข้างมากเป็นหลัก”  (สาระสำคัญ  ในความคิดนี้อยู่ที่การตัดสินโดยเสียงข้างมาก)
            แม้กไอเวอร์  ประชาธิปไตยเป็นทั้งรูปการปกครองและวิถีชีวิต   ประชาธิปไตยทั้งสองด้านนี้จะต้องดำเนินไปด้วยกัน”  (สาระสำคัญของประชาธิปไตย   ความคิดนี้เน้นความหมายของประชาธิปไตยทั้งที่เป็นลักษณะรูปการปกครอง  และปรัชญาในการดำรงชีวิตร่วมกันของมนุษย์
            ประชาธิปไตยตามทัศนะของพระพุทธศาสนา  คือ
                  1. ปชาสุขัง  มหุตมัง   ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสูงสุด
                  2. มหาชนหิตายะ  สุขายะ   ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นไปแห่งประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อความสงบสุขของมหาชนเป็นที่ตั้ง
            สุขุม  นวลสกุลและวิศิษฐ   ทวีเศรษฐ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
            การปกครองที่เป็นประชาธิปไตย   คือ  รูปการปกครองที่ยึดอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี  (Presidential  Democracy)  หรือแบบรัฐสภา (Parliamentary  Democracy)  ถ้าอำนาจสูงสุดในการกำหนดการปกครองอยู่ที่ประชาชนแล้วก็เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งสิ้น   ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญซึ่งอาจเป็นรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรหรือไม่ลายลักษณ์อักษรก็ได้   เพราะประชาธิปไตยถือการปกครองโดยกฎหมาย (Rule by law)  อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพียงกติกาการปกครองไม่ใช่เครื่องหมายแสดงความเป็นประชาธิปไตย   เพราะฉะนั้นการที่ประเทศใดมีรัฐธรรมนูยจึงมิได้หมายความว่ารูปการปกครองของประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตย   เพราะบางประเทศเช่น  สหภาพโซเวียต  สาธารณรัฐประชาชนจีน   ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่ามีระบบการปกครองแบบเบ็ดเสร็จต่างก็มีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประเทศเสรีนิยมอื่นๆเหมือนกัน   การที่จะพิจารณาว่าประเทศใดเป็นประชาธิปไตยหรือไม่จึงต้องดูว่ารัฐธรรมนูญของประเทศนั้นกำหนดให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือไม่
            จรูญ  สุภาพ ได้ให้ความหมายของประชาธิปไตยไว้ดังนี้
            คำว่าประชาธิปไตย   มีต้นกำเนิดจากภาษากรีก   ดูเหมือนชาวกรีกจะเป็นพวกแรกที่ใช้คำนี้   ความหมายดั้งเดิมของประชาธิปไตย  ที่รู้จักกันในหมู่ชาวกรีกโบราณเมื่อประมาณ  2,000 กว่าปี  หมายถึงการปกครองโดยหมู่ชนหรือประชาชน  การปกครองแบบนี้ตรงกับคำภาษาอังกฤษ คือ  democracy  ซึ่งมีรากศัพท์เดิมจาก demos ซึ่งแปลว่าประชาชน
            สำหรับภาษาไทย   คำว่า ประชาธิปไตย”  อาจจะแยกได้เป็น 2 คำ  คือ ประชา   ซึ่งหมายถึง  ประชาชน  และคำว่า อธิปไตย  ซึ่งแปลว่าอำนาจสูงสุดของแผ่นดิน   เมื่อรวมกันขึ้นจึงหมายถึง  การปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนหรือมาจากประชาชน
            ประชาธิปไตยจึงมีความหมาย  ทั้งในรูปแบบและหลักของการปกครอง  รวมตลอดถึงการดำรงชีวิตร่วมกันของมนุษย์
            ในแง่ของการปกครองนั้น  มุ่งถึงการมีส่วนของประชาชนในการที่จะเข้าร่วมกำหนดนโยบายต่างๆ  อันเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม
            ส่วนในแง่ของการดำเนินชีวิตนั้น  หมายถึงการยอมรับเสรีภาพ  ความสำคัญและประโยชน์ซึ่งกันและกัน  โดยมีเหตุผลเป็นเครื่องนำทาง  เพื่อความผาสุกร่วมกัน
            ความหมายของประชาธิปไตยที่ใช้กันในภายหลังนั้น   อาจจะแบ่งได้เป็น  2 ประเภท  คือ ความหมายแคบกับความหมายกว้าง
            ความหมายแคบ หมายถึง  การที่ประชาชนมีอำนาจปกครองตนเอง
            ส่วนในความหมายที่กว้าง  ประชาธิปไตยเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งซึ่งมีแบบแผนแห่งพฤติกรรมในทางการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม

ทัศนะเกี่ยวกับประชาธิปไตย
            ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีความรู้สึกที่ดีหรือมีทัศนคติที่ดีเชิงปฏิฐานต่อคำว่า   ประชาธิปไตย”   ดังจะเห็นได้จากการที่มีผู้นิยมใช้ศัพท์นั้นกันมากดังกล่าวข้างต้น  อีกทั้งในช่วงหลังมหาสงครามโลกครั้งที่  องค์การยูเนสโก  ได้สำรวจความคิดเห็นของนักวิชาการทั้งจากโลกตะวันตกและตะวันออกเป็นจำนวนกว่า 100  คน   ทุกคนล้วนมีทัศนะที่ดีต่อประชาธิปไตย  สำหรับในอดีตนั้น  เปอริคลีส  ผู้นำคนหนึ่งของนครรัฐเอเธนส์ยุคโบราณได้แสดงความชื่นชมต่อระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบโดยตรง  ส่วนนักปราชญ์เพลโตมีความเห็นต่อต้านประชาธิปไตย  โดยถือว่าเป็นการให้อำนาจแก่ผู้ที่ปราศจากความรู้  เพลโตต้องการสถาปนาสังคมันเลอเลิศอย่างที่เรียกว่า อุตมรัฐ”  โดยให้ผู้ปกครองสูงสุดเป็น  ราชาปราชญ์”  และบรรดาผู้นำระดับรองๆลงไปเป็นผู้มีสติปัญญาและคุณธรรมสำหรับ  อาริสโตเติล  มีแนวคิดคล้ายเพลโต  แต่ไม่ต่อต้านประชาธิปไตยมากนัก  ดังจะเห็นได้ว่าในการแบ่งรูปแบบการปกครองนั้น                อาริสโตเติลจัดประชาธิปไตยอยู่ในกลุ่มการปกครอง โดยคนหมู่มากที่มีความโน้มเอียงไปในทางที่ไม่ดี  แต่การปกครองโดยคนส่วนใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มไปในทางที่ดี และอาริสโตเติลเชื่อว่าจะเป็นไปได้คือ มัชฌิมธิปไตย”  หรือ มัชฌิมวิถีอธิปไตย” (Polity) ซึ่งพอที่จะเทียบเคียงกับประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันซึ่งมหาชนส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลาง  เช่น ในอังกฤษ  สหรัฐอเมริกา  และญี่ปุ่น
            ต่อจากช่วงเวลาของอาริสโตเติลแล้ว ศัพท์ประชาธิปไตยถูกใช้ในความหมายที่ไม่แสดงความนิยมชมชื่น  จวบจนกระทั่งศตวรรษที่ 17  ประชาธิปไตยเริ่มได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าโดยกลุ่มบุคคลซึ่งเรียกตนเองว่า ผู้ขยับให้สูงขึ้น”  หรือ ผู้ยกระดับ(the levellers) ในประเทศอังกฤษ
            ต่อมาในตอนปลายศตวรรษที่  18  คือประมาณ  200  ปีมาแล้ว   ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้มีการศึกษาไม่พอใจกับการใช้ศัพท์ประชาธิปไตย   และแม้กระทั่ง  บรรดาบิดาผู้สถาปนา”  หรือ  ผู้ประดิษฐ์”  (Founding Fathers) คือผู้ก่อตั้งของประเทศและรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา   ไม่ยอมใช้ศัพท์  ประชาธิปไตย”  แต่ใช้คำว่า  ลัทธิสาธารณรัฐนิยม”  หรือ คตินิยมแบบสาธารณรัฐ”  (Republicanism)  แทน   ทำให้ศัพท์สาธารณรัฐนิยมนี้มีความหมายแทนประชาธิปไตยในยุคนั้น   คือเมื่อประมาณ  200  ปีมาแล้ว  ในศตวรรษที่ 19  มีการมองประชาธิปไตยในแง่ที่ดีอย่างแพร่หลายมากขึ้น   ดังปรากฏในข้อเขียนของผู้มีเชื้อสายขุนนางฝรั่งเศสที่มีชื่อว่าแอเลกซิส  เดอ ทอคเกอวิลย์  เกี่ยวกับ  ประชาธิปไตยในอเมริกา”  จวบจนกระทั่งถึงยุคร่วมสมัยในศตวรรษที่  20  โดยเฉพาะเมื่อ 70 ปีมาแล้วคือภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914 – 18)  มีการมองประชาธิปไตยไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดแจ้ง  และถือว่าศตวรรษที่ 20  น่าจะเป็นศตวรรษแห่งสามัญชนและศตวรรษแห่งการที่นานาชาติตัดสินใจด้วยตนเอง (Self – determination)  โดยปราศจากการบีบบังคับหรือขู่เข็ญใดๆ  ดังนั้นศัพท์  ประชาธิปไตย”  ได้กลายเป็น ศัพท์เกียรติยศ” (Honorific)  ที่หลายสำนักและหลายฝ่ายต้องการยึดเป็นของตนดังได้กล่าวมาแล้ว
            ตัวอย่างพอเห็นได้จากการที่  1) ฮิตเลอร์   เรียกระบบเผด็จการนาซีของเขาว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริง”  (“Real” Democracy)  ส่วน 2)  มุสโสลินี  เรียกระบบฟาสซิสม์ของเขาว่าเป็น ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม”  (Authoritarian  Democracy)  การจัดระบบและโน้มอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง   สำหรับ  3) สหภาพโซเวียต   เรียกระบบการปกครองของตนว่าเป็น  ประชาธิปไตยที่แท้จริง”   โดยเรียกการปกครองในโลกตะวันตกว่าเป็น  ประชาธิปไตยแบบกระฎุมพี”  (Bourgeois)  หรือ  แบบนายทุน  หรือเป็น  ประชาธิปไตยแบบทราม”  (Sham Democracy)  4)  ส่วนประเทศซึ่งนิยมคอมมิวนิสต์อื่นๆ  รวมทั้งยุโรปตะวันออกและประเทศจีน  เรียกระบบของตนว่าเป็น ประชาธิปไตยของประชาชน”  หรือ มหาชนาธิปไตย




หลักการของประชาธิปไตย
        หลักการของประชาธิปไตย   ตามทัศนะของปราชญ์ทางรัฐศาสตร์  ดังนี้
            เฮนรี่  เมโย (Henry  Mayo)  ได้ระบุว่ามี  หลักการแห่งประชาธิปไตย   ได้แก่ 1) การควบคุมผู้วางนโยบายโดยประชาชน  2)  ความเสมอภาคทางการเมือง  3)  เสรีภาพทางการเมืองหรือประสิทธิผลในการควบคุมโดยประชาชน   และ 4)  หลักแห่งเสียงส่วนมาก  
            ซิกมันด์  นอยมันน์  (Sigmund Neumann)  ได้ให้หลักการประชาธิปไตยไว้  10  ประการ  คือ
            1.   อำนาจอธิปไตย   (อำนาจสูงสุดมาจากราษฎร  เป็นของปวงชนหรือมหาชน
            2.   ขั้นตอนเลือกผู้นำเป็นไปโดยเสรี
            3.   ผู้นำมีความรับผิดชอบ
            4.   ระบอบความเสมอภาค (ของราษฎรโดยกฎหมายยอมรับ
            5.   สนับสนุนพรรคการเมืองมีมากกว่าหนึ่งพรรค
            6.   พึงเน้นความหลากหลายในชีวิตประจำวัน
            7.   ไม่กีดกันกลุ่มสำคัญๆ  จากการมีส่วนร่วมในการบริหารการปกครอง
            8.   ส่งเสริมครรลองทัศนคติแบบประชาธิปไตย
            9.   ให้สำนึกในความเป็นพลเมืองดี
            10. เน้นความเชื่อมั่นในความดีของมนุษย์
            ออสติน  แรนนี (Austin Ranny)  ได้สรุปหลักประชาธิปไตยไว้  4  ประการ  คือ
            1.   อำนาจอธิปไตยของพลเมืองเด่น
            2.   เน้นความเสมอภาคโดยสุจริต
            3.   ฟังความคิดเห็น
            4.   เน้นเสียงหมู่มาก
             

หลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
        การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เจริญอยู่ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกานั้นมีหลักการสำคัญดังนี้
            1.  การยึดถือเหตุผล
          ปรัชญาประชาธิปไตยถือว่า  สัจธรรมย่อมขึ้นอยู่กับเหตุผล  การวิพากวิจารณ์หรือแสดงความเห็นคัดค้านต่างๆ  นั้นย่อมเป็นที่มาของการแสวงหาเหตุผล   เป็นวิถีทางที่จะทำให้ประชาชนพลเมืองเจริญเติบโตทางสมองและจิตใจ   และเป็นเหตุให้สังคมเจริญก้าวหน้า
            2.  การเน้นความสำคัญของปัจเจกชน
          โดยเห็นว่า  บุคคลแต่ละคนเป็นศูนย์กลางของนโยบายและลัทธิทั้งปวง  บุคคลเป็นผู้สร้างสถาบันสังคมและสถาบันการเมือง  เพื่อเป็นปัจจัยให้บุคคลมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  แต่ละคนจึงควรเป็นตัวของตัวเอง   ลิขิตชีวิตของตัวเองมากที่สุดกว่าผู้ใด   หรือสถาบันใด
            3.  การถือรัฐเป็นเครื่องมือของประชาชน
          เมื่อถือว่าแต่ละคนเป็นผู้ลิขิตชีวิตของตนเองมากที่สุด  รัฐก็คอยเข้าแทรกแซง แต่น้อยที่สุด  รัฐเป็นเพียงเครื่องมือส่งเสริมให้บุคคลบรรลุจุดหมายปลายทาง ในส่วนที่เหนือความสามารถที่แต่ละบุคคลจะกระทำกันเองได้เท่านั้น  เช่น  การพิทักษ์รักษาสิทธิมูลฐานของมนุษย์   การรักษาความยุติธรรม   การรักษาความสงบเรียบร้อย  และป้องกันการรุกรานจากภายนอกเป็นต้น   ความคิดนี้ตรงกันข้ามกับลัทธิเผด็จการที่เห็นว่าประชาชนเป็นเครื่องมือของรัฐ
            4.  การอาศัยความสมัครใจเป็นใหญ่
          เป็นวิธีการปล่อยให้เอกชนดำเนินการทางเศรษฐกิจ  การเมืองและสังคมตามความสมัครใจระหว่างกันเอง  เช่น  การจัดตั้งพรรคการเมืองหรือการจัดตั้งสมาคมต่างๆ  เป็นต้น
            5.  การยึดถือกฎเหนือกฎ
          เรื่องนี้ย่อมเป็นไปตามแนวคิดเดิมที่ว่า   ประชาชนสร้างรัฐขึ้นมาเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิสำคัญบางประการของประชาชน   รัฐบาลผู้ปกครองจะบิดเบือนผันแปรไปตามใจตนมิได้  มิฉะนั้นแล้วประชาชนมีสิทธิล้มล้างรัฐบาลนั้นเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาได้   ความจริงฝ่ายเผด็จการก็ถือเรื่องกฎเหนือกฎ  แต่เป็นกฎที่สร้างขึ้นตามใจตน  จึงก่อความไม่สงบไม่สิ้นสุด
            6.  การเน้นความสำคัญของวิธีการ
          ถือว่าวิธีการนั้นจะต้องเหมาะสมในการดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทาง   ซึ่งควรต้องยึดความผาสุกของประชาชนเป็นที่ตั้ง   ซึ่งโดยนัยนี้น่าจะต้องยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา  คือถือสายกลาง  ซึ่งตรงข้ามกับฝ่ายเผด็จการที่ชอบใช้วิธีรุนแรง   ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนความเกลียดชังมากกว่าที่จะสร้างภราดรภาพให้เกิดขึ้นตามอุดมการณ์ของตนเอง
            7.  การถือความเห็นพ้องต้องกันเป็นหลักในมนุษยสัมพันธ์
          ประชาธิปไตยนิยมการประนีประนอมเป็นสำคัญ   ซึ่งอาจทำได้โดยการอภิปรายหรือโต้เถียงกัน  เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน  โดยถือฝ่ายข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสิน  ทั้งนี้โดยต้องยอมรับความเห็นของฝ่ายข้างมาเป็นฝ่ายชนะไปพลางก่อน  อาจเป็นชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น  ฝ่ายข้างน้อยย่อมอาจหาทางชักูงคนส่วนใหญ่ให้เห็นคล้อยตาม  และอาจกลายเป็นฝ่ายข้างมากภายหลังได้
            8.  การถือสมภาพ  หรือความเท่าเทียมกันขั้นมูลฐานของมนุษย์        
          ความเท่าเทียมกันหรือสมภาพในทัศนะของประชาธิปไตย  หมายถึงความเท่าเทียมกันในโอกาส   อย่างไรก็ดี  ในเรื่องนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องความจำเป็นและความขาดแคลนของแต่ละบุคคลไว้ด้วย

สองรูปแบบแห่งการปกครองประชาธิปไตย
            โดยทั่วไปแล้วประชาธิปไตยแบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือประชาธิปไตยแบบโดยตรงและประชาธิปไตยแบบโดยอ้อม
            ประชาธิปไตยแบบโดยตรง
          ประชาธิปไตยแบบโดยตรง  ได้แก่  รูปแบบการปกครองที่ให้ราษฎรมีส่วนร่วม  ในการกระทำดังนี้  1)  ออกกฎหมาย  2)  บังคับกฎหมาย   คือให้มีการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย
            ประชาธิปไตยแบบโดยตรงมียุคนครเอเธนส์   เมื่อประเมาณ  24  ศตวรรษมาแล้ว   ซึ่งการใช้อำนาจตุลาการแบบโดยตรง  ของนครเอเธนส์  เคยมีปรากฏดังตัวอย่างการพิพากษาคดีซอคราตีสในที่ชุมชน
            ประชาธิปไตยในนครรัฐเอเธนส์มีสภาพการณ์ที่แตกต่างกับยุคปัจจุบัน  คือ
            1.   ผู้มีสิทธิไม่ถึง  10% ของประชากรทั้งหมด  กล่าวคือ เอเธนส์มีพลเมืองประมาณ  3 – 4 แสนคน  แต่ผู้มีสิทธิเพียง 2 – 4  หมื่นคนเท่านั้น  (ผู้ถูกกีดกัน  ได้แก่  สตรี  ทาส  และเยาวชน)
            2.   สภาพเศรษฐกิจและการเมืองยังไม่สลับซับซ้อนมากนัก
            3.   พลเมืองมีความสนใจการบ้านการเมืองเป็นกิจวัตรและเอาใจใส่ในกิจการอันเป็นส่วนรวม
            4.   ผู้มีสิทธิมักเข้าร่วมในการประชุมนครรัฐไม่มากนักจึงไม่มีปัญหาในเรื่องสถานที่ประชุม
            แต่ในปัจจุบันพลเมืองของประเทศต่างๆ  มีมากกว่าในสมัยนั้นอย่างมหาศาล  เกินกว่าที่จะจัดประชุม  ณ  สถานที่เดียวกันได้  จึงเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการประชาธิปไตยแบบโดยตรง
            ประชาธิปไตยแบบโดยตรงในปัจจุบัน  มีตัวอย่างเช่น
            1.   สหรัฐอเมริกา  มีในเมืองหรือชุมชนเล็กๆ  บางแห่ง  เรียกว่า “Town  Meeting”
            2.   สวิตเซอร์แลนด์  มีในบางแคว้น   เรียกว่า กังต็อง” (Canton)
            3.   อิสราเอล  มีในชุมชนคิบบุทซ์  (Kibbutz)
            ปัญหาของประชาธิปไตยแบบโดยตรงมี  ประการ  คือ  1)  มีจำนวนประชากรไม่มากนัก  2)  ฐานะความเป็นอยู่ไม่เหลื่อมล้ำกันมากนัก  3)  สังคมมีลักษณะสมานรูป  4)  ผู้ใช้กฎหมายจะต้องปฏิบัติตนภายในขอบเขตของกฎหมาย
            ประชาธิปไตยแบบโดยอ้อมหรือแบบมีตัวแทน
          ประชาธิปไตยแบบนครรัฐเอเธนส์อยู่ได้ระยะเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง   หลังจากหมดยุครุ่งเรืองของเอเธนส์และยุคที่อารยธรรมกรีกกำลังเฟื่อง   ก็เข้ายุคจักรวรรดิโรมันที่รูปแบบการปกครองเน้นหนักไปในทางการใช้อำนาจ
            ในยุคกลางของยุโรปเป็นช่วงเวลาแห่งระบบศักดินา  แนวคิดประชาธิปไตยก็ไม่เคยดับสิ้นไป   ซึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับแม็กนา  คาร์ตา  โดยพระเจ้าจอห์นถูกขุนนางอังกฤษบังคับให้ทรงลงพระนาม   ทั้งนี้เพราะขุนนางเหล่านั้นไม่พอใจที่พระเจ้าจอห์นเก็บภาษีสูงเพื่อนำไปใช้ในการสงคราม   และไม่พอใจที่พวกขุนนางไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในการบริหารบ้านเมือง
            ลักษณะ  ประการของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในทางปฏิบัติ  ได้แก่ 
            1)  มีพรรคการเมืองเข้าบริหาร 
            2)  มีการเลือกตั้งตามระยะเวลา 
            3)  ปวงประชามีสิทธิหย่อนบัตรลง 
            4)  แสดงความจำนงได้  บัตร   
            5)  รัฐบาลโดยเสียงสนับสนุนจากผู้แทน 
            6)  ไม่แค้นแม้แพ้คะแนนเสียง  
            7)   ไม่บ่ายเบี่ยงจำกัดสิทธิทางการเมือง 
            8)  ส่งเสริมเรื่องการแข่งขัน
            ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนในสภาพกลุ่มหลากหลาย
                  -  สังคมที่มีกลุ่มหลากหลายหรือมีความเป็น พหุสังคม  หมายถึง  มีกลุ่มหลากประเภท  และกลุ่มหลายชนิด
                  -  ลักษณะของกลุ่มหลากหลายที่ช่วยผดุงประชาธิปไตย  ได้แก่
            1)  มีการรวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มโดยสมัครใจ 
            2)  กลุ่มมีอายุยืนยาวพอสมควร 
            3)  เป็นกลุ่มอย่างเป็นกิจลักษณะพอสมควร 
            4)  กลุ่มจะต้องมีการประชุมและมีการดำเนินงานบ่อยครั้งพอสมควร
                  กลไกที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในกลุ่มหลากหลาย  มีดังนี้คือ 
            1)  ทำให้อำนาจแยกกระจาย  
            2)  เป็นบทเรียนหรือเป็นแบบฝึกหัดประชาธิปไตย 
            3)  การเป็นสมาชิกหลายกลุ่ม (พหุสมาชิกภาพ)  ทำให้รู้จักประนีประนอม
            ลอร์ด แอคตัน  นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ  ได้กล่าววาทะที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย   โดยกล่าวถึงลักษณะแห่งอำนาจไว้ดังนี้คือ  Power  Corrupts,  Absolute Power Corrupts  Absolutely  ซึ่งแปลว่า  ที่ใดมีอำนาจที่นั่นมีการฉ้อฉล   ที่ใดมีอำนาจเหลือล้น  การฉ้อฉลชั่วเสียย่อมมีมากสุดประมาณ”  โดยมีความหมายว่า   อำนาจมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดความอธรรมขึ้นมาได้


ประชาธิปไตยในมิติอื่นๆ
          1.  ประชาธิปไตยทางสังคม  (Social  Democracy)   เป็นศัพท์ที่ใช้โดยทอคเกอวิลล์  ชาวฝรั่งเศส
          2.  ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ  (Economic  Democracy)  เป็นศัพท์ที่ใช้โดยผู้นิยมมาร์กซิสต์  หมายถึงการกระจายรายได้ให้ทัดเทียมกันในหมู่ประชาชนจำนวนมาก
          3.  ประชาธิปไตยทางอุตสาหกรรม (Industrial  Democracy)  หมายถึงประชาธิปไตยในระดับโรงงานอุตสาหกรรม  เช่น  การมีสหภาพแรงงาน  สหพันธ์กรรมกร  เป็นต้น
          4.  ประชาธิปไตยแบบถูกนำ (Guided   Democracy)  เป็นศัพท์ที่ใช้โดยอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน  ผู้กอบกู้เอกราชและบิดาผู้สถาปนาอินโดนีเซียยุคใหม่
          5.  ประชาธิปไตยแบบเบสิก (Basic  Democracy)  เป็นศัพท์ที่ใช้โดยอดีตประธานาธิบดีอายุบข่าน (Ayub Khan)  แห่งปากีสถาน
          6.  หน้าฉากประชาธิปไตย   (Façade Democracy)  หรือประชาธิปไตยแบบจอมปลอม
          7.  ประชาธิปไตยครึ่งใบ (Quasi  Democracy)  หรือไม่เต็มใบ




          ความเสมอภาคทางการเมือง
            ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งควรให้แก่พลเมืองที่บรรลุนิติภาวะทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิง   และโดยไม่คำนึงถึงความยากดีมีจน  แต่ในอดีตหาได้เป็นเช่นนั้นไม่   ทั้งนี้เนื่องจากการยึดหลักต่างๆเช่น
            1.   การมีทรัพย์สิน  เกิดขึ้นจากความเชื่อหรือแนวความคิดที่ว่า  ผู้มีทรัพย์สินย่อมมีความรับผิดชอบ  กล่าวคือย่อมไม่ออกเสียงเลือกบุคคลโดยไม่คิดให้รอบคอบ
            2.   การรู้หนังสือ   โดยเชื่อว่าผู้มีความรู้ย่อมทำให้การออกเสียงเป็นไปโดยถูกต้องมากยิ่งขึ้น
            ในอดีตสตรีจะไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง   ประเทศต่างๆเพิ่งเริ่มให้สิทธิแก่สตรีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ มานี้เท่านั้น  เช่น  สหรัฐอเมริกา  ให้สิทธิสตรีในปี ค.. 1920  (หลังสงครามโลกครั้งที่  เพียง  ปี)   ฝรั่งเศส  ให้สิทธิสตรีในปี ค..  1945  (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2)  สวิตเซอร์แลนด์  ซึ่งถือกันว่าเป็นประเทศที่เป็นแบบอย่างประชาธิปไตยก็เพิ่งให้สิทธิสตรีในปี ค..  1971  หรือเมื่อประมาณ  30  ปีมานี้เอง
            ประเทศที่เคยมีหรือมีประมุขของรัฐบาลเป็นสตรี  ได้แก่  ปากีสถาน  อินเดีย  ศรีลังกา  อังกฤษ  นิวซีแลนด์  ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย  ฯลฯ

            ข้อแตกต่างระหว่างนักการเมืองกับรัฐบุรุษ
            นักการเมือง (Politician)  มักพยายามกระทำหรือประกาศว่าจะกระทำตามความต้องการของประชาชน  เพื่อหาเสียงสนับสนุนเฉพาะหน้า  คือในระยะเวลาที่สามารถเห็นผลโดยเร็วหรือในระยะสั้น
            รัฐบุรุษ (Statesman)  เป็นผู้เห็นการณ์ไกล  มักจะใช้วิจารณญาณเลือกกระทำการเฉพาะที่เห็นว่าจะยังประโยชน์ให้แก่ราษฎรจริงๆ  เท่านั้น  โดยเฉพาะในระยะยาว  ทั้งนี้เพราะรัฐบุรุษเป็นห่วงผลที่ตามมาต่ออนุชนคนรุ่นหลัง  ดังภาษิตรัฐศาสตร์ที่ว่า  นักการเมืองคิดถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป  แต่รัฐบุรุษคิดถึงคนรุ่นต่อไป



ประชาธิปไตยกับอธิปไตย ประเภทในพุทธศาสนา
        ในพุทธศาสนาได้มีการกล่าวถึงอธิปไตย  ประเภท  คือ  1)  โลกาธิปไตย  2)  อัตตาธิปไตย  3) ธรรมาธิปไตย
1. โลกาธิปไตย  ถือเป็นการปกครองที่ใกล้เคียงกับลัทธิประชาธิปไตย    เพราะมีความหมายว่ายกให้พลเมืองเป็นใหญ่   คือเป็นการปกครองของโดยคนส่วนมาก   ในอินเดีย   โลกสภา  หมายถึง  สภาประชาชน  คือสภาล่าง  (ส่วนสภาสูงคือราชยสภา)
          2. อัตตาธิปไตย  ได้แก่การให้อำนาจไว้กับคนๆเดียว  เช่น  มอบให้แก่พระราชาหรือผู้ยิ่งใหญ่คนใดคนหนึ่ง   หากมอบอำนาจให้กับกษัตริย์   ก็เรียกว่า  ราชาธิปไตย”   และหากมอบอำนาจไว้ให้ผู้เผด็จการก็เป็นระบบ  อำนาจนิยม”   ซึ่งอาจเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาก็ได้
          3. ธรรมาธิปไตย   ได้แก่  การยกย่องธรรมะให้เป็นใหญ่ทั้งในหมู่ผู้นำและประชาชนทั่วไป   มีการเทอดทูนผู้มีคุณธรรมให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน   จึงถือว่าเป็นการปกครองที่ดีเลิศตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา
          คำสอนที่ส่งเสริมหรือสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยมีมากในพระพุทธศาสนา  เช่น 
          1.   เรื่องความเสมอภาค   พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เท่ากัน   ไม่ว่าจะมีตระกูลหรือเกิดในวรรณะใด
            2.  เรื่องเสรีภาพ   พุทธศาสนามีคำสอนใน  กาลามสูตร  ซึ่งสนับสนุนให้บุคคลใช้เหตุผลและความคิดอิสระในการตัดสินปัญหาต่างๆ   โดยไม่ติดอยู่กับความยึดมั่นคือ  ไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ”    แต่ให้สืบสวนค้นคว้าเสียก่อนจึงเชื่อ

อุดมการณ์ประชาธิปไตย
        อุดมการประชาธิปไตยยึดหลักการสำคัญในเรื่องความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพ   ลัทธิประชาธิปไตยเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ของทุกคนว่ามีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน   คนทุกคนอย่างน้อยที่สุดก็มีความสามารถในการปกครองตนเอง   ด้วยเหตุที่ถือว่าความเสมอภาคเป็นเรื่องสำคัญ   ประชาธิปไตยจึงยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพ   เพราะถ้าขาดสิทธิเสรีภาพแล้วก็ย่อมขาดหลักประกันในเรื่องความเสมอภาค   อุดมการประชาธิปไตยจึงเน้นเรื่องความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพควบคู่กันไป


            สิทธิเสรีภาพ
          สิทธิ   คืออำนาจอันชอบธรรมหรือความสามารถที่จะกระทำการได้โดยชอบธรรม   สิทธิของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับโดยธรรมเนียมประเพณีหรือกฎหมาย    เพราะฉะนั้นอำนาจอื่นแม้กระทั่งอำนาจของรัฐจะก้าวก่ายในสิทธิของบุคคลไม่ได้    ส่วนเสรีภาพนั้นหมายถึงความมีอิสระในการกระทำการใดๆได้ตามความปรารถนา   แต่มีขอบเขตจำกัดว่าการกระทำนั้นๆ  ต้องไม่ละเมิดกฎหมายหรือสิทธิของบุคคลอื่น
            คนทุกคนมีเสรีภาพที่จะกระทำการใดๆ  ที่ตนปรารถนาภายใต้แวดวงของกฎหมาย   ถ้าสิทธิหรือเสรีภาพของเขาถูกก้าวก่ายโดยบุคคล   นิติบุคคล  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ   เขาสามารถที่จะร้องขอความยุติธรรมจากศาลได้   ในอดีตนั้นสิทธิและเสรีภาพของบุคคลมักถูกละเลยหรือได้ได้รับหลักประกันเพียงพอ   ในบางประเทศสิทธิและเสรีภาพอาจมีการกล่าวอ้างอิงถึงเฉพาะในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญเท่านั้น   มิได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา  ซึ่งทำให้ศาลไม่มีอำนาจที่จะพิทักษ์ให้ได้   ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะยึดถือว่ารัฐธรรมนูญที่ยึดหลักประชาธิปไตยจะไม่มีความสมบูรณ์หากปราศจากบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
            สิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยนั้นอาจจำแนกออกได้เป็นข้อๆ  ดังนี้
            1.  เสรีภาพในการพูด  การพิมพ์  และการโฆษณา  รัฐประชาธิปไตยโดยทั่วไปอนุญาตให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นการพูด   การเขียน  ตราบเท่าที่ความที่นำมาเผยแพร่นั้นไม่หยาบคายลามก  หมิ่นประมาท  หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น   เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้มีค่าสูงมาก   และเชื่อว่าหากยอมให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีแล้ว   การขัดแย้งอย่างรุนแรงจะไม่ปรากฏ
            2.  เสรีภาพในการนับถือศาสนา   ศาสนาเป็นเรื่องของการเชื่อถือ   คนแต่ละคนย่อมมีิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะเลือกนับถือศาสนาหรือศรัทธาในศาสนาหนึ่งศาสนาใด    อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการนับถือศาสนามิได้หมายความว่า   บุคคลสามารถที่จะปฏิเสธกฎหมายของรัฐซึ่งขัดแย้งกับหลักการทางศาสนาของเขา   เช่น  ศาสนาบางศาสนาถือว่าการเคารพธงชาติหรือประมุขของชาติเป็นผิดเป็นบาป   แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับกฎหมายของบ้านเมือง   รัฐจึงอาจบังคับให้บุคคลที่ถือศาสนาดังกล่าวประพฤติตนให้เหมาะสมตามกฎเกณฑ์ของประเทศ   อย่างไรก็ดีในบางประเทศที่เคารพเสรีภาพสูง  เช่น  สหรัฐอเมริกา   การหลีกเลี่ยงกฎหมายของประเทศเพราะขัดต่อหลักการของศาสนาได้รับการยอมรับว่าไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย  ไม่ต้องรับโทษแต่อย่างใด
            3.  เสรีภาพในการสมาคมหรือรวมกลุ่ม   บุคคลย่อมมีเสรีในการที่จะรวมกลุ่มกัน   ซึ่งอาจจัดตั้งในรูปสมาคมเพื่อวัตถุประสงค์ใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายก็ได้   อย่างไรก็ตามกลุ่มหรือสมาคมที่จัดตั้งขึ้นนั้นต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งกฎหมาย   และไม่เป็นอันตรายหรืออุปสรรคต่อผลประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม   นอกจากนี้ประชาชนต้องมีเสรีภาพที่จะรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ตราบเท่าที่การกระทำนั้นเป็นไปอย่างสันติและไม่เกินเลยขอบเขตแห่งกฎหมาย   เสรีภาพของประชาชนที่จะชุมนุมกันโดยสงบและปราศจากอาวุธ   จะต้องได้รับการรับรองและถือกันว่าเป็นสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยควบคู่กันไปกับเสรีภาพในการพูด  การพิมพ์  และการโฆษณาแสดงความคิดเห็น
            4,  สิทธิในทรัพย์สิน  บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีทรัพย์สมบัติเป็นของตนเอง   รัฐจะต้องทำหน้าที่ป้องกันภัยอันตรายอันจะเกิดต่อทรัพย์สินของประชาชนภายในรัฐด้วย
            5.  สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย  หากบุคคลใดตกเป็นผู้ต้องหาไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรืออาญา   บุคคลนั้นมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อหาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ   รวมตลอดถึงการได้รับทราบสิทธิที่จะสามารถกระทำได้  เช่น  ขอพบทนายความเพื่อขอรับคำปรึกษา   หรือผลัดการให้การ  ที่สำคัญที่สุดคือ  บุคคลจะต้องไม่ถูกลงโทษถึงแก่ชีวิต  เสียอิสรภาพ  หรือเสียทรัพย์สินโดยปราศจากการพิจารณาตามขบวนการแห่งกฎหมาย
            6.  สิทธิส่วนบุคคล  สิทธิมูลฐานที่ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลมีหลายประการ  เช่น  เสรีภาพในร่างกาย  การไปไหนมาไหน  การเลือกประกอบอาชีพ  ฯ  นอกจากนี้  การสมรส  การหย่าร้าง  ความสัมพันธ์ในครอบครัว   เหล่านี้ล้วนเป็นสิทธิส่วนบุคคลทั้งสิ้น  บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีภาพตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
            อย่างไรก็ตาม   ในบางวาระเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นภัยต่อความสงบและมั่นคงของรัฐหรือยามสงคราม  รัฐอาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้   โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกหรือประกาศภาวะฉุกเฉิน   ถือว่าการละเมิดนั้นกระทำไปโดยความจำเป็นเพื่อผลประโยชน์ของรัฐหรือสังคมโดยส่วนรวม
            ความเสมอภาค
          ความเสมอภาคเป็นหลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งของอุดมการประชาธิปไตย   เพราะประชาธิปไตยถือว่าคนทุกคนมีความเท่าเทียมกันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเหมือนกัน   ความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยนี้อาจจำแนกออกได้เป็น  ประการ ด้วยกันคือ
            1. ความเสมอภาคทางการเมือง  ได้แก่การที่บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมการเมืองเท่าๆกัน  เช่น  การออกเสียงเลือกตั้งเมื่ออายุถึงเกณฑ์   เสียงของแต่ละคนนับค่าเท่ากัน   ความเสมอภาคทางการเมืองนี้รวมถึงสิทธิที่จะสมัครเข้ารับการเลือกตั้งด้วย  เมื่อคุณวุฒิและวัยวุฒิครบถ้วนตามที่กำหนดไว้
            2.  ความเสมอภาคต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย  ในระบอบประชาธิปไตยนั้น  คนทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติด้วยกฎหมายอย่างเสมอภาคกัน  หมายความว่า  บุคคลจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน   เมื่อกระทำผิดจะต้องใช้กฎหมายเดียวกัน   การลงโทษอย่างเดียวกัน  และถ้าได้รับเหตุอันควรปราณีก็ควรได้รับเช่นเดียวกัน
          3.  ความเสมอภาคในโอกาส  สังคมประชาธิปไตยต้องเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้แก่คนทุกคนในสังคมโดยทัดเทียมกัน  คนทุกคนต้องได้รับโอกาสที่จะใช้ความสามารถของเขาในการศึกษาหรือประกอบธุรกิจการงาน   โอกาสที่จะแสวงหาเพื่อความเจริญก้าวหน้าของการดำรงชีพหรือการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของเขาเอง
            4.  ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ   ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจนั้นไม่ได้หมายถึงการที่ทุกคนจะต้องมีรายได้เท่าเทียมกัน   เพราะเป็นเรื่องที่เกิดหรือทำได้ยาก   แต่อาจหมายถึงสภาพความใกล้เคียงกันในฐานะทางเศรษฐกิจ  มีการกระจายรายได้  (Income Distribution)  ที่เป็นธรรมมิให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นมากนัก   เพราะถ้าอำนาจของเศรษฐกิจตกอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อยแล้ว   ย่อมส่งผลให้คนกลุ่มนั้นมีโอกาสที่จะมีอำนาจทางการเมืองสูงกว่าคนอื่น   และอาจทำให้มีการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อยแทนที่จะเน้นผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตย  นอกจากนี้ในสังคมประชาธิปไตยแต่ละบุคคลควรจะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economic Security)  พอสมควร   เพราะถ้าปราศจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจคือมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพแล้ว   เป็นการยากที่ระบบประชาธิปไตยจะดำเนินไปในลักษณะประาธิปไตย   เนื่องจากคนในสังคมต้องกังวลในเรื่องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไม่มีเวลาหรือโอกาสที่จะสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง  เป็นเหตุให้การใช้วิจารณญาณทางการเมืองขาดคุณภาพ
            5.  ความเสมอภาคทางสังคม  คนทุกคนจะต้องได้รับการเคารพว่า ความเป็นคนนั้นเป็นศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน   หมายถึงว่าจะต้องไม่มีอุปสรรคจอมปลอมเป็นเครื่องกีดขวางการคบหาสมาคมระหว่างคนรวยกับคนจนหรือคนต่างอาชีพกัน   กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  ไม่ควรให้ความความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นเครื่องกำหนดให้บุคคลหนึ่งเหนือกว่าอีกบุคคลหนึ่ง  ควรคิดว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน  ในฐานะของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน
            อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เชิดชูเรื่องความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพนี่เอง   ที่ทำให้มีการเรียกร้องหรือต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง   ในสังคมบางสังคมที่หลายคนเห็นว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว  ผู้ที่เรียกร้องนั้นเห็นว่าในสภาพความเป็นจริงคนทุกคนยังไม่เสมอภาคกัน  และเมื่อไม่เสมอภาคกันอย่างแท้จริงแล้วสิทธิเสรีภาพของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากันไปด้วยในประเทศที่ยอมรับกันว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว  เช่น  สหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ  ในประเทศนั้นๆ  ก็ยังมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยโดยให้เหตุผลว่า   ความเสมอภาคและเสรีภาพนั้นมีอยู่เฉพาะทางด้านการเมือง  แต่ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจยังไม่มีความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพก็ไม่เท่ากัน   ดังนั้นโอกาสของผู้ที่ยากจนและการศึกษาต่ำที่จะแข่งขันทางการเมืองกับนายทุนหรือเศรษฐี   ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยอย่างยุติธรรมย่อมเป็นไปไม่ได้  ทำให้อำนาจทางการเมืองผูกขาดอยู่ในกลุ่มคนมั่งมีการศึกษาสูงเท่านั้น  ทำให้ประโยชน์ตกอยู่กับคนกลุ่มน้อย   ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกร้องกันมากว่า   ถ้าประเทศใดต้องการจะทำให้ประชาธิปไตยมีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่  ตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว   ก็จะต้องเน้นเรื่องความเสมอภาคทางด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย



รัฐบาลประชาธิปไตย
        รัฐบาลรูปนี้ถือว่า  อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชน   จึงเปิดโอกาสให้ปวงชนทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมในการปกครองของรัฐ   เพราะยึดมั่นในหลักเสรีภาพของเอกชน   และต่อต้านความเชื่อถือว่าชนชั้นใดชั้นหนึ่ง  จะต้องมีอภิสิทธิในทางการเมือง   รัฐบาลรูปนี้เชื่อว่า  ปวงชนมีความสามารถในการปกครองตนเอง   การที่บุคคลใดหรือองค์การใดจะได้อำนาจสิทธิและหน้าที่   หรือสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไปย่อมเป็นไปตามกฎหมาย   ไม่ใช่ตามคำสั่งหรือความต้องการของบุคคลใดๆทั้งสิ้น
            แต่อย่างไรก็ดี  แม้ว่ารัฐบาลประชาธิปไตยจะถือว่าปวงชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย   แต่ในการใช้อำนาจอธิปไตยย่อมจะต้องมีข้อจำกัดอยู่บ้างเสมอ  เช่น  เกี่ยวกับอายุ  สภาพจิตใจ  ความเฉลียวฉลาด   และในอดีตบางรัฐยังมีการจำกัดเพศไว้ด้วย  แต่บัดนี้ไม่มีแล้ว
            ข้อดีของรัฐบาลประชาธิปไตย
          รัฐบาลนี้ให้ความสำเร็จประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นแก่ปวงชน   เป็นรัฐบาลรูปเดียวที่ทำให้ผู้ปกครองรับผิดชอบต่อปวงชน   ซึ่งทำให้ผู้ปกครองต้องดำเนินนโยบายให้เป็นผลดีต่อปวงชน  ไม่ใช่เพื่อส่วนตัว  และเนื่องจากผู้เข้าร่วมรัฐบาลได้รับเลือกตั้งจากประชาชน  ย่อมนับได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถดี  ยิ่งกว่านั้นสิทธิและผลประโยชน์ของทุกคนจะได้รับประกันเป็นอย่างดีโดยกฎหมาย   เพราะผู้ออกกฎหมายและผู้รักษากฎหมายต้องรับผิดชอบต่อปวงชน  รัฐบาลรูปนี้มีรากฐานอยู่บนสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค   จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่รัฐบาลรูปนี้ต้องส่งเสริมความยุติธรรม   เพราะรัฐมีขึ้นเพื่อรับใช้เอกชน  ไม่ใช่เอกชนมีชีวิตอยู่เพื่อรัฐ  รัฐบาลรูปนี้จะให้หลักประกันแก่สิทธิเสรีภาพของเอกชนได้ดีที่สุด  เพราะเป็นรัฐบาลโดยกฎหมาย  ไม่ใช่รัฐบาลโดยบุคคล  (Government of Law not of Man)
            อย่างไรก็ดี   การที่ประชาธิปไตยจะสำเร็จหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางประการ  เช่น  ความเฉลียวฉลาดของปวงชน  ความมั่นใจในความเป็นไปของการปกครอง   และความรู้จักรับผิดชอบในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย   นอกจากนี้ปวงชนจะต้องยอมรับหลักการที่ว่าฝ่ายข้างมากเป็นผู้ชนะ   แต่ในขณะเดียวกันสิทธิและผลประโยชน์ของฝ่ายข้างน้อยก็จะต้องได้รับความเคารพจากฝ่ายข้างมาก  (Majority Rule Minority Right)  อุปสรรคของประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดก็คือ  ความโง่เขลา  (Ignorance)  ความเฉยเมยไม่สนใจในการปกครอง  หรือไม่สนใจการเมือง (Political Apathy)  ของปวงชน  ในรัฐบาลประชาธิปไตยจึงเน้นความสำคัญของการศึกษาอบรมทางการเมือง   และส่งเสริมให้ประชาชนสนใจต่อการปกครอง  การนำประชาธิปไตยไปใช้ในประเทศที่ประชาชนด้อยการศึกษาขาดความสามารถที่จะรับผิดชอบทางการเมืองได้นั้น   ย่อมจะประสพความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จเป็นแน่นอน
            ข้อเสียของรัฐบาลประชาธิปไตย
          ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย  มีความเชื่อว่ารัฐบาลรูปนี้เสี่ยงอันตรายเป็นอย่างมาก   และเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่ส่งเสริมนักการเมืองที่ดีแต่พูด   หรือเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจอิทธิพล  หรือฝูงชนบ้าเลือด (Mob rule)  เข้าปกครองประเทศ  พวกนี้คัดค้านการเลือกตั้งว่า  ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตยุติธรรม   แต่เป็นไปตามการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคการเมือง   และในบางรัฐยังมีการให้สินบนอีกด้วย  พวกนี้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อคนไม่มีความสามารถเฉลียวฉลาดเท่าเทียมกันแล้ว  จะให้คนในรัฐออกเสียงอย่างเฉลียวฉลาดเท่าเทียมกันไม่ได้
            นอกจากนี้ผู้มีวิจารณ์รัฐบาลประชาธิปไตยว่า  เป็นรัฐบาลที่ไม่ใช้หลักประกันแก่สิทธิเสรีภาพแก่ปวงชน  เพราะฝ่ายข้างมากย่อมมีอำนาจในการปกครองอยู่มาก   บางครั้งฝ่ายข้างมากควบคุมการออกความคิดเห็นและเสรีภาพในการประชุม   และมักจะเป็นรัฐบาลโดยพรรคการเมืองที่มุ่งหวังกุมอำนาจให้นานที่สุด   ไม่ใช่รัฐบาลโดยผู้แทนที่ปวงชนเลือกตามที่เข้าใจกันในหลักการประชาธิปไตย
            นอกจากนี้ยังมีผู้วิจารณ์ว่า  รัฐบาลรูปนี้มีความสิ้นเปลืองมาก   เพราะการเลือกตั้งบุคคลเข้าประจำตำแหน่งต่างๆนั้น   ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายเกินความจำเป็น  กล่าวคือผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ต้องจ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้ง   พรรคการเมืองก็ต้องจ่ายเงินสนับสนุนการหาเสียงของลูกพรรค   และรัฐบาลเองก็ต้องใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก   กรณีเช่นนี้  จึงทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือของผู้มั่งคั่งและมีอิทธิพล   แทนที่จะเป็นเครื่องมือของประชาชน  ในการเลือกผู้แทนให้ได้คนดี   ข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจก็คือ  รัฐบาลรูปนี้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง (Corruption)  มากกว่าที่ปรากฏในรัฐบาลรูปกษัตริย์และอภิชนาธิปไตย

สรุป
            ประชาธิปไตยอาจใช้ในความหมายเชิงปรัชญา อุดมการณ์ แนวทฤษฎีทางการเมือง  วิถีชีวิต  หรือรูปแบบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐบาล  รัฐบาลบริหารประเทศให้ประชาชน  เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ  อย่างไรก็ตามประเทศที่ปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย  ก็เรียกระบบการปกครองของตนว่าเป็นประชาธิปไตย  แม้ประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการก็เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย  เช่น ฮิตเลอร์ เรียกระบบเผด็จการนาซีว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริง”  มุสโสลินีเรียกระบบฟาสซิสต์ว่า ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม”  เลนินเรียกระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ว่า ประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ”  เรียกประเทศที่ปกครองด้วยระบบเสรีประชาธิปไตยว่า ประชาธิปไตยแบบนายทุน หรือ แบบกุฎุมพี””  หรือประชาธิปไตย แบบต่ำทราม ประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งในเอเซียและยุโรปเรียกระบบการปกครองประเทศตนว่า มหาประชาธิปไตย”  หรือ ประชาธิปไตยของปวงชน ประชาธิปไตยของแต่ละฝ่ายดังกล่าวมานี้หมายถึงจุดมุ่งหมายที่เป็นอุดมการณ์อันเป็นผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายของการปกครองที่มีสัมฤทธิผลทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยแท้จริง ส่วนรูปแบบการปกครองนั้นเป็นเพียงวิธีการปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางปรัชญา อุดมการณ์ แนวคิดทฤษฎีทางการเมืองที่แตกต่างกัน  แต่เท่าที่ปรากฏในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประเทศที่ปกครองโดยระบบเสรีประชาธิปไตยมักจะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจช้า  แต่ระบบเผด็จการทั้งเผด็จการอำนาจนิยมและเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม ผู้บริหารเป็นผู้มีอำนาจและใช้อำนาจอธิปไตยโดยไม่มีขอบเขตจำกัด  มีสิทธิ เสรีภาพ ตลอดจนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเหนือกว่าประชาชนผู้ถูกปกครอง ทำให้ประชาชนเท่าเทียมกันโดยปราศจากสิทธิ เสรีภาพใดๆ เหมือนๆกัน และมีฐานะยากจนเสมอภาคกัน
            รัฐบาลในรูปแบบประชาธิปไตย ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการปกครองประเทศ โดยอาศัยหลักการเสียงข้างมากเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลดังกล่าวต้องรับผิดชอบต่อประชาชน มีพื้นฐานในการบริหารประเทศ โดยให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคแก่ประชาชนโดยยึดหลักกฎหมาย ไม่ใช่ยึดหลักตัวบุคคล แต่การปกครองรูปแบบดังกล่าวย่อมล้มเหลว หากเสียงข้างมากมาจากประชาชนที่ไม่มีความพร้อมทางด้านการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ และความรับผิดชอบในฐานะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และผู้นำขาดคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง และไม่ยึดหลักการแห่งผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ รัฐบาลเสียงข้างมากที่มีพื้นฐานดังกล่าวนี้ จะกลายเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีตามจุดมุ่งหมายของประชาธิปไตย
            อันที่จริงหลักการเสียงข้างมากในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นหลักพื้นฐานอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจตัดสินว่า เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องประกอบด้วยหลักการอื่นๆ อีก เช่น ประชาชนต้องได้รับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมือง มีสิทธิรับรู้ข่าวสาร ตลอดจนสามารถตรวจสอบ ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลได้ด้วย จึงเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย

0 comments:

แสดงความคิดเห็น