บทที่ 6 การปกครองระบอบเผด็จการ

รูปแบบการปกครองที่มีอยู่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ใช้อำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ แบบเบ็ดเสร็จ ปราศจากการถ่วงดุลอำนาจจากฝ่ายอื่น ประชาชนเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง มีทัศนคติว่า อำนาจอธิปไตยต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้คนที่มีความสามารถเฉพาะบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเท่านั้นควรจะเป็นผู้ปกครอง ประชาชนนอกนั้นควรอยู่ภายใต้การปกครอง โดยหลักการของความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพ ความสามารถของมนุษย์ว่า จะเท่าเทียมกัน หรือปกครองกันเองได้ หากให้สิทธิเสรีภาพในการปกครองแก่ประชาชนแล้ว จะเกิดความสับสนวุ่นวาย และจะประสบความล้มเหลวในที่สุด

ความหมายของการปกครองระบอบเผด็จการ

นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ได้ให้ความหมายของการปกครองในระบอบเผด็จการไว้ดังนี้

จรูญ สุภาพ ได้ให้ความหมายของระบอบเผด็จการไว้ว่า “ระบอบเผด็จการมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย นอกจากนั้นระบอบเผด็จการยังมีลักษณะอีกหลายประการ เช่น ไม่ต้องการให้มีฝ่ายค้าน ต้องการให้มีการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ ถือว่าฝ่ายค้านเป็นศัตรู หรือเป็นอุปสรรคของชาติ ระบอบเผด็จการเน้นหลักประสิทธิภาพ จึงต้องมีกองกำลังเพื่อบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเต็มที่ ถือว่าการปกครองโดยคนจำนวนมาก เป็นการปกครองที่อ่อนแอ แต่การปกครองโดยคนจำนวนน้อย หรือยิ่งน้อยที่สุด ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ประชาชนเกิดมาเพื่อรัฐ ไม่ใช่รัฐเกิดมาเพื่อประชาชน ประชาชนเป็นเครื่องมือของรัฐ ประชาชนต้องดำเนินการทุกอย่างตามคำสั่งของรัฐ”[1]

ทินพันธ์ นาคะตะ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ระบอบการเมืองแบบเผด็จการนั้นเป็นรูปแบบของการปกครองแบบหนึ่ง ที่ผู้นำมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง มีอำนาจโดยไม่จำกัด และไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายใดๆต่อประชาชน เป็นการปกครองที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย และเน้นเรื่องเคารพเชื่อฟังผู้นำมากกว่าการยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล การเปลี่ยนรัฐบาลจะกระทำได้โดยการปฏิวัติ รัฐประหาร การทำสงคราม การยินยอมมอบอำนาจให้ หรือโดยการตายของผู้นำเท่านั้น”[2]

ประสาร ทองภักดี ได้ให้ความหมายไว้ว่า “รัฐบาลเผด็จการเชื่อว่า การปกครองที่ให้ผลดีนั้น รัฐบาลต้องถูกปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว ซึ่งมีสมาชิกจำนวนน้อย แต่มีระเบียบวินัยดี เคารพนับถือหัวหน้าพรรคอย่างถวายหัว และหัวหน้าพรรคนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เป็นผู้มีอำนาจตัดสินนโยบายของพรรคอย่างเด็ดขาด นโยบายของเขาก็คือนโยบายของรัฐ และจะถูกวิจารณ์ไม่ได้ จะมีการควบคุมความคิด (Thought Control) อย่างเข้มงวด โดยจะใช้วิธีฝึกอบรมล้างสมองให้เชื่อในลัทธินี้ (Indoctrination) และการใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อ และการใช้ตำรวจลับ ซึ่งบางทีเรียกว่า ตำรวจควบคุมความคิดเห็น (Thought Police)

รัฐบาลรูปแบบนี้อยู่เหนือเอกชน เอกชนมีชีวิตอยู่เพื่อรัฐ การเคารพเชื่อฟังคำสั่งบังคับบัญชาซึ่งผ่านมาทางหัวหน้าพรรคคนเดียวนั้น เป็นระเบียบวินัยที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลรูปแบบนี้เอกชนจะต้องเสียสละเพื่อความรุ่งโรจน์ของรัฐ ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว รัฐบาลเผด็จการจึงใช้วิธีการรุนแรงและทารุณโหดร้ายในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม เพื่อควบคุมคนในรัฐให้อยู่ใต้บังคับบัญชา เหมือนฝูงแกะที่ต้องเดินไปทางที่ผู้เลี้ยงแกะต้อนให้เดินไป”[3]

วรรณา เจียมศรีพจน์ ได้ให้ความหมายว่า “ลัทธิเผด็จการ หมายถึงลัทธิที่ให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐและผู้ปกครองเหนือกว่าเสรีภาพของบุคคล ถือประโยชน์ของรัฐมากกว่าเสรีภาพของบุคคล ถือว่าเกียรติภูมิของประเทศและอำนาจของชาติเหนือสิทธิเสรีภาพของประชาชน”[4]

จากความหมายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า “การปกครองระบอบเผด็จการก็คือ การปกครองที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนคนเดียว หรือกลุ่มเดียว เป็นการใช้อำนาจที่เด็ดขาดและรุนแรงโดยพลการ ปราศจากการควบคุมหรือเหนี่ยวรั้งจากอำนาจอื่นใด ลัทธิเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัดและควบคุมโดยผู้นำที่มีอำนาจสูงสุด ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล”

ประเภทของเผด็จการ

การปกครองแบบเผด็จการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. เผด็จการอำนาจนิยม (Authoritarianism)

2. เผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม (Totalitarianism)

1. เผด็จการอำนาจนิยม (Authoritarianism) เป็นการปกครองที่ผู้ปกครองมีความมุ่งหมายที่จะเข้าควบคุมกิจกรรมทางการเมือง แต่ยังยินยอมให้ประชาชนมีเสรีภาพทางสังคมและเศรษฐกิจได้ จึงสามารถดำเนินชีวิตส่วนตัวได้โดยอิสระ ประเทศที่ใช้ระบบเผด็จการอำนาจนิยม ไม่ปรารถนาที่จะเข้าควบคุมครอบครัว ศาสนา การศึกษา ชมราและสมาคมต่างๆ ที่มีลักษณะทางสังคมโดยเฉพาะ แต่ต้องไม่ดำเนินการใดๆที่ขัดแย้งนโยบายทางการเมืองของรัฐ[5]

ลักษณะบางประการของเผด็จการอำนาจนิยม

เผด็จการอำนาจนิยมยึดหลักสำคัญ คือ อำนาจทั้งหลายทั้งปวงในรัฐ จะต้องอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อย หรือคนกลุ่มเดียว เผด็จการอำนาจนิยมจึงมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีการรวมอำนาจ

2. อำนาจรวมอยู่มือของคนกลุ่มเดียว ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย

3. กลุ่มที่มีอำนาจจะเป็นรัฐบาล

4. รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใด โดยเฉพาะอย่าง ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน [6]

2. เผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม (Totalitarianism) เป็นการปกครองที่ผู้ปกครองมีความมุ่งหมายที่จะเข้าควบคุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประชาชนมีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐ เน้นความสำคัญของรัฐอยู่เหนือประชาชน โดยมีอำนาจและสิทธิเด็ดขาด ประชาชนมีหน้าที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ เชื่อฟังรัฐเท่านั้น เผด็จการอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จเน้นความสำคัญของผู้นำว่า เป็นผู้มีความสามารถ มีสติปัญญายอดเยี่ยม ซึ่งประชาชนต้องให้ความเคารพเชื่อฟังและกระทำตามที่ผู้นำปรารถนา แม้การใช้อำนาจนั้นจะใช้วิธีการรุนแรง ประชาชนต้องยอมรับว่า เป็นการถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐ ระบอบนี้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การควบคุมการกระจายข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชนโดยรัฐบาล [7]

ลักษณะบางประการของลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม ซึ่งมีดังนี้

1. เป็นการผูกขาดอำนาจทางการเมือง โดยคนกลุ่มเดียวหรือกลุ่มน้อย

2. ผู้นำจะมีอำนาจสูงสุดในกลุ่มนั้น

3. ผู้นำมักจะมีความเห็นเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องฟังประชาชนทั้งสิ้น

4. ผู้นำไม่ได้มาจากประชาชน แต่งตั้งตัวเองขึ้นมาทำการปกครองชาติด้วยกำลัง

5. ผู้นำแต่ละคนมีความนิยมไม่เหมือนกัน

6. ผู้นำแต่ละคนมักจะมีความต้องการที่ขัดต่อความต้องการของปวงชน คือ ผู้นำต้องการอำนาจ แต่ประชาชนต้องการเสรีภาพ

7. ผู้นำจะวางแผนเกี่ยวกับวิถีชีวิตของประชาชนทั้งปวง โดยไม่ให้ประชาชนมีเสรีภาพกำหนดการดำรงชีวิตได้เอง

8. ระบบเผด็จการ เชื่อว่า ฐานะของรัฐอยู่เหนือชีวิตปวงชน[8]

หลักการระบบการเมืองการปกครองแบบเผด็จการ

ระบบการเมืองการปกครองแบบเผด็จการมีหลักการสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้

1. ไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองประเทศ

2. จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น จำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

3. ไม่ยอมรับความเสมอภาคของประชาชน

4. ถือเจตนารมณ์ของผู้ปกครองประเทศเป็นหลัก ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้นำ

5. ถือเอาความต้องการของผู้ปกครองประเทศเป็นสำคัญ ไม่ถือเอาเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชน

6. ยอมรับการนำและการปกครองโดยผู้นำ ผู้นำผู้ปกครองผูกขาดอำนาจตลอดไป เปลี่ยนแปลงโดยการสืบทอดอำนาจ

7. ถือหลักการ นโยบาย และเหตุผลที่มีผู้นำกำหนด เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด ไม่มีเหตุผลอื่นจะมาโต้แย้งหรือคัดค้าน

8. ยึดหลักการใช้กำลัง การบังคับ และความรุนแรงเพื่อรักษาอำนาจ

9. ยึดหลักความมั่นคง ความเข้มแข็ง และความปลอดภัยของชาติ เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ

10. ยกย่องอำนาจและความสำคัญของรัฐเหนือเสรีภาพของประชาชน

11. ใช้หลักการรวมอำนาจ คือ มีการรวมอำนาจไว้ในส่วนกลางของประเทศ คือ ให้อำนาจอยู่ในมือของผู้นำ หรือกลุ่มผู้นำอย่างเต็มที่[9]

หลักการดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นหลักการโดยรวมทั้งเผด็จการอำนาจนิยม และหลักการของเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม ซึ่งมีความเหมือนกันในเรื่องของการที่ผู้นำผู้ปกครองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบังคับใช้อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ เพื่อประสิทธิภาพในการบังคับบัญชา เพื่อความเป็นเอกภาพของรัฐบาล ส่วนเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม จะมีแต่เฉพาะเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมเท่านั้น

วัฒนธรรมหรือแบบวิถีชีวิตของบุคคลในสังคมการเมืองแบบเผด็จการ

ทฤษฎีพละกำลัง เป็นรากฐานแนวคิดของระบอบการปกครองแบบเผด็จการ การมีอำนาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม อำนาจ คือ ธรรม สนับสนุนอำนาจรัฐ และเชื่อว่า มนุษย์ในสังคมขาดความสำนึกในทางการเมือง ไม่เข้าใจประโยชน์ของตัวเองและสังคม จึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นรัฐจึงไม่ปล่อยให้อำนาจไปตกอยู่ในมือของประชาชน รัฐจะต้องดูแลและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยผ่านชนชั้นนำ ซึ่งมีความสามารถเหนือบุคคลธรรมดาทั้งด้านความรู้ สติปัญญา แบการดำเนินชีวิตของบุคคลที่อยู่ในระบบการปกครองนี้ จึงมีบุคลิกภาพ หรือการดำเนินชีวิตที่มีลักษณะยอมรับอะไรง่ายๆ ไม่มีความคิดโต้แย้ง เพราะต้องการความมั่นคง กลัวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. นิยมนับถือตัวบุคคลมากกว่าหลักการและเหตุผล ชอบระบบอาวุโส

2. จะมอบความรับผิดชอบไว้ที่ผู้นำ

3. นิยมในอำนาจเด็ดขาด

4. ไม่ยอมรับความเสมอภาคตามกฎหมาย

5. ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เพราะกลัวผลของการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ไม่มั่นคง

6. ถือว่า กิจกรรมของบ้านเมืองเป็นเรื่องของรัฐบาล ประชาชนไม่ควรเกี่ยวข้อง[10]

จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมหรือแบบวิถีชีวิตของคนในสังคม จะสอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบเผด็จการ จะมีผลให้เกิดการสนับสนุนรัฐบาล ระบบการปกครองให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ระบบเผด็จการจะดำรงอยู่ได้ยาวนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมทางการเมืองของคนในสังคมเอื้ออำนวยหรือไม่ หากทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม ระบบเผด็จการจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

ความแตกต่างระหว่างเผด็จการอำนาจนิยมและเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม เผด็จการทั้ง 2 แบบ มีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้ คือ

1. เผด็จการอำนาจนิยม

1.1 รัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมมีจุดมุ่งหมายเข้าควบคุมกิจการทางการเมืองของบุคคลทั้งหมด

1.2 ประชาชนแต่ละคนยังคงมีสิทธิเสรีภาพในทางศาสนา ครอบครัว เศรษฐกิจ สามารถดำเนินชีวิตส่วนตัวโดยอิสระ

1.3 ไม่ควบคุมสถาบันและองค์กรทางสังคม

1.4 ใช้วิธีการลงโทษอย่างรุนแรงเด็ดขาด แต่อยู่ภายใต้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตามนโยบายของรัฐบาลกำหนดขึ้น เท่าที่รัฐจะพึงให้ได้

2. เผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม

2.1 รัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมมีจุดมุ่งหมายเข้าควบคุมกิจกรรมทางการเมือง และส่วนที่ไม่ใช่การเมืองทั้งหมด ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและอื่นๆ

2.2 ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพใดๆทั้งสิ้น เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทั้งหมด

2.3 รัฐบาลควบคุมสถาบันและองค์กรต่างๆ และต้องปฏิบัติตามอุดมการณ์ที่รัฐกำหนดขึ้น

2.4 รัฐบาลมีอำนาจใช้วิธีการต่างๆ บังคับประชาชนโดยไม่จำกัด กระบวนการยุติธรรมไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ถือความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก สามารถละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ โดยไม่มีข้อจำกัด และมีวิธีการลงโทษที่รุนแรง[11]

จะเห็นได้ว่าระบอบการปกครองใน 2 แบบนี้ ประชาชนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อรัฐในแง่การปกครอง เชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำผู้ปกครอง ประชาชนต้องรับผิดชอบต่อรัฐ มีวิถีชีวิตสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด รัฐมิได้เกิดมาเพื่อประชาชน รัฐไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แต่ประชาชนเกิดมาเพื่อรัฐ และต้องรับผิดชอบต่อรัฐด้วย

ระบอบเผด็จการกับรูปแบบการปกครอง

ระบอบเผด็จการก่อให้เกิดรูปแบบการปกครองในหลายรูปแบบ ซึ่งก่อให้เกิดรัฐบาลเผด็จการทั้งแบบอำนาจนิยมและเบ็ดเสร็จนิยม ดังต่อไปนี้

รูปแบบการปกครองเกิดจากเผด็จการอำนาจนิยม ประกอบไปด้วย

1. ราชาธิปไตย หรือทุชนาธิปไตย และประธานาธิบดี

2. อภิชนาธิปไตย หรือคณาธิปไตย

การปกครองโดยคนๆเดียว มีอำนาจเด็ดขาด ซึ่งเรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิราช คือ แบบราชาธิปไตยนั้น ถือเป็นรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมแบบหนึ่ง ซึ่งนักทฤษฎี เช่น เพลโต เห็นว่าเป็นการปกครองที่ดีที่สุด หากผู้ปกครองประกอบไปด้วยความรู้ ความฉลาด ความสามารถ และประกอบด้วยคุณธรรม ซึ่งผู้นำแบบนี้ เรียกว่า “ราชาปราชญ์” และโธมัส ฮอบส์ นักทฤษฎีการเมืองชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ได้ให้การสนับสนุนพระราชอำนาจของกษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ ถือกำเนิดจากสัญญาประชาคม จึงมีสิทธิและอภิสิทธิ์เหนือกว่าประชาชน ระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชจึงเป็นระบบที่เหมาะสมที่สุด แต่การปกครองรูปแบบนี้หากใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์แก่ตัวเอง ก่อความทุกข์เข็ญแก่ประชาชน เรียกการปกครองแบบนี้ว่า “ทรราชย์” หรือ “ทุชนาธิปไตย” การปกครองรูปแบบนี้ประมุขของรัฐ จะเป็นกษัตริย์ หรือประธานาธิบดี ขึ้นอยู่กับรัฐนั้นว่า เป็นราชอาณาจักร หรือสาธารณรัฐ ถ้าเป็นราชอาณาจักร ประมุขของรัฐ เรียกว่า “กษัตริย์” หรือ “ราชาธิปไตย” หากเป็นสาธารณรัฐ ประมุขก็จะเรียกว่า “ประธานาธิบดี”

การปกครองโดยคณะบุคคลร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ โดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารประเทศ เรียกว่า “อภิชนาธิปไตย” หรือ “คณาธิปไตย” หากใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เรียก “อภิชนาธิปไตย” หากใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง เรียก “คณาธิปไตย” ซึ่งเป็นรูปแบบเผด็จการโดยคณะบุคคล โดยใช้กำลังหทารทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ยึดอำนาจ แล้วตั้งรัฐบาลขึ้นมาปกครองประเทศ เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ปกครองในเยอรมันนี ในปี ค.ศ. 1933 และมุสโสลินี ในอิตาลี ในปี ค.ศ. 1922 เป็นต้น

รูปแบบการปกครองเกิดจากเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม เป็นรูปแบบรัฐบาลแบบคอมมิวนิสต์ ผู้นำรัฐบาลจะเรียกว่า “ประธานประเทศ” “ประธานาธิบดี” ก็ได้ รัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นจากลัทธิ “มาร์กซิสม์” (Marxism) ในศตวรรษที่ 17 เจ้าของลัทธินี้ คือ คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว การปกครองระบอบเผด็จการ ก็คือการปกครองที่ศูนย์อำนาจอยู่ที่คนคนเดียว หรือกลุ่มเดียว เป็นการรวมอำนาจที่ผู้นำ หรือรวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง เป็นการใช้อำนาจแบบเด็ดขาดและรุนแรง โดยพลการ ปราศจากการควบคุมหรือเหนี่ยวรั้งจากอำนาจอื่นใด สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัดและควบคุมโดยผู้นำที่มีอำนาจสูงสุด ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ รูปแบบของการปกครองจะมีรูปแบบเป็นราชาธิปไตยแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ทุชนาธิปไย หรือทรราชย์ ในกรณีที่เป็นราชอาณาจักร จะมีผู้ปกครองเป็นกษัตริย์ ในกรณีที่เป็นสาธารณรัฐ ผู้นำเป็นประธานประเทศ หรือประธานาธิบดี หรือกการปกครองรูปแบบอภิชนาธิปไตย หรือคณาธิปไตย ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลชั้นนำสูงสุด จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ถ้าใช้อำนาจเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม เรียกว่า ราชาธิปไปตย และอภิชนาธิปไตย การเป็นไปเพื่อกอบโกยผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง เรียก ทุกชนาธิปไตย หรือทรราชย์ หรือคณาธิปไตย รูปแบบการปกครองดังกล่าวรวมอยู่ในเผด็จการทั้งอำนาจนิยมและเบ็ดเสร็จนิยม ข้อแตกต่างระหว่างเผด็จการทั้ง 2 แบบในเรื่องของการควบคุม จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็คือเผด็จการอำนาจนิยม เป็นการปกครองที่มีความมุ่งหมายควบคุมกิจการทางการเมือง แต่ยินยอมให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมทุกด้าน ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพใดๆ ประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐ มีชีวิตอยู่เพื่อรัฐ เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐ ประชาชนต้องปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของรัฐอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามการปกครองในระบอบเผด็จการมีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นกัน ข้อดี คือในประเทศที่ประชาชนยังขาดการศึกษา ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีส่วนร่วมในทางการเมือง มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง วัฒนธรรมทางสังคมและสถาบันทางสังคมไม่เอื้อต่อการปกครองตนเอง ประชาชนไม่มีความสนใจในสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ไม่อาจปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเอง ไม่สามารถปกครองกันเองได้ ถ้าหากได้ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถประกอบด้วยคุณธรรม บริหารประเทศเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนที่แท้จริง ที่เพลโตเรียกว่า “ราชาปราชญ์” คือ ผู้นำที่มีคุณธรรมสูง ก็จะเป็นผลดีในการปกครองอย่างมากเช่นกัน แต่ถ้าหากประชาชนมีความรู้ ความฉลาดสามารถในการตัดสินใจปกครองตนเองได้ มีการศึกษาดี มีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในทางการเมือง มีฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม มีวัฒนธรรมทางสังคม และสถาบันทางสังคมสอดคล้องกับการปกครองตนเอง การปกป้องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค มีอยู่ในจิตสำนึกของประชาชนแล้ว การปกครองด้วยระบอบเผด็จการแบบใดก็ไม่มีความจำเป็น และไม่เป็นที่ต้องการของประชาชน

พระพุทธศาสนากับการปกครองระบอบเผด็จการ

การปกครองเผด็จการอำนาจนิยมและเบ็ดเสร็จนิยม สรุปเป็นกรอบตามแนวรัฐศาสตร์ตะวันตกได้ในรูปแบบของผู้ปกครองคนเดียว คือ ราชาธิปไตย ทุชนาธิปไตย ทรราชย์ หรือประธานประเทศ หรือประธานาธิบดี และปกครองโดยผู้ปกครองเป็นคณะบุคคล คือ อภิชนาธิปไตย คณาธิปไตย การปกครองเผด็จการดังกล่าวข้างต้นมีทั้งผลดีและผลเสียแก่ประชาชนผู้ถูกปกครอง ในส่วนที่เป็นผลดีนั้น ผู้ปกครองใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของผู้นำและพวกพ้องของผู้นำ ในส่วนที่เป็นผลภัยเนื่องจากผู้นำลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจกอบโกยผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้องก่อความทุกข์เข็ญแก่ประชาชนผู้ถูกปกครองให้ได้รับความเดือดร้อน

พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับการปกครองเผด็จการทั้งผู้นำ คือ กษัตริย์ สมบูรณาญาธิราช และผู้ตาม หรือผู้ถูกปกครอง คือ ประชาชน เพื่อให้พระราชาปกครองในฐานะราชาปราชญ์ คือ ให้ทรงใช้พระราชอำนาจประกอบด้วยธรรม เพื่อความผาสุขของพระองค์ที่เป็นผู้ปกครอง และอาณาประชาราษฎร์ผู้ถูกปกครองให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั้ง ๒ ฝ่าย พระพุทธศาสนาไม่ได้สนับสนุนหรือคัดค้านการปกครองรูปแบบใดว่าดีหรือเลว แต่ถ้าการปกครองนั้นนำประโยชน์สูงสุด คือ ความสุขกายและสุขใจ มาแก่ทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้าย และเป็นอุดมการณ์ หรือผลลัพธ์อันสูงสุดแล้ว พระพุทธศาสนาถือว่า การปกครองรูปแบบนั้นเป็นรูปแบบที่ดี ซึ่งรูปแบบการปกครองที่พึงประสงค์ของพระพุทธศาสนา ก็คือ “ธรรมราชา” ผู้ปกครองที่มีคุณธรรม และ “ธรรมประชา” คือ ผู้ถูกปกครองที่มีคุณธรรมและประพฤติธรรม

กำเนิดการปกครองเผด็จการอำนาจนิยมแบบราชาธิปไตย

การปกครองระบอบราชาธิปไตย แบบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นรูปแบบการปกครองแบบแรกของโลก ดังปรากฏในอัคคัญญสูตร พระพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าประวัติศาสตร์ของโลกแก่สามเณรวาเสฏฐะและภารทวารชะว่า เมื่อโลกเก่าพินาศไป เพราะความร้อนจากดวงอาทิตย์ เกิดโลกใหม่มาแทนโลกเก่า ประชากรกลุ่มแรกของโลกมาจากพรหมโลกชั้นอาภัสสร เมื่ออยู่รวมกันเป็นครอบครัว มีประชากรมากขึ้น ดำรงชีพอยู่ด้วยอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เมื่ออาหารไม่เพียงพอ ก็ทำการแบ่งเขตแดน ทำการเพาะปลูกข้าวสาลีเลี้ยงชีพ แต่เป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากในสังคม ย่อมมีคนดีและคนเลว คนที่เลวได้ประพฤติล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ด้วยการลักขโมย การทำร้ายเบียดเบียนโดยประการต่างๆ เนื่องจากการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ครั้งแรก เป็นการดำรงชีวิตตามธรรมชาติ และใช้สิทธิเสรีภาพอย่างอิสระ ปราศจากกฎเกณฑ์ ไม่มีขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมาย ไม่มีหัวหน้า หรือผู้ปกครอง จึงเกิดความสับสนวุ่นวายในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการประชุมกัน และปรึกษากันว่า การลักทรัพย์ การติเตียน การพูดปด การประทุษร้ายซึ่งกันและกันเกิดขึ้นแล้ว ควรจะคัดเลือกแต่งตั้งคนขึ้นให้ทำหน้าที่ติเตียนคนที่ควรติเตียน ขับไล่คนที่ควรขับไล่ โดยจะแบ่งส่วนข้าวสาลีให้ จึงเลือกคนที่มีรูปร่างผิวพรรณงดงาม มีสง่าราศี ให้เป็นหัวหน้า เพื่อปกครอง ติเตียน ขับไล่คนที่ทำผิดออกจากกลุ่ม ออกกฎเกณฑ์ ลงโทษผู้ที่ล่วงละเมิด

คำว่า “มหาชนสมมติ” คือ ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง คำว่า “กษัตริย์” คือ ผู้เป็นใหญ่แห่งนา คำว่า “ราชา” คือ ผู้ที่ทำความอิ่มใจ สุขใจแก่ผู้อื่น จึงเกิดขึ้น กษัตริย์ก็เกิดขึ้นจากคนพวกนั้น มิใช่พวกอื่น จากคนเสมอกัน มิใช่คนไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม ธรรมจึงเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต[12]

หัวหน้าดังกล่าว ได้ชื่อว่า เป็นกษัตริย์ หรือเป็นราชาสมบูรณาญาสิทธิราช โดยใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง ๓ คือ อำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติแทนประชาชน ด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นระบบการปกครองระบบแรกของโลก และรัฐที่พระองค์ทรงปกครองเป็นรัฐแรกของโลกมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะของความเป็นรัฐครบถ้วน ซึ่งประกอบด้วย ๑. อาณาเขตหรือดินแดน ๒. ประชากร ๓. กษัตริย์ผู้ปกครอง (รัฐบาล) ๔. อำนาจอธิปไตย

จากข้อความในพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่า การปกครองเผด็จการอำนาจนิยมแบบแบบราชาธิปไตยสมบูรณาญาสิทธิราช มีก่อนรูปแบบการปกครองอื่นใดทั้งหมด เป็นระบบการปกครองที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เหมาะกับสังคมแบบปฐมภูมิ วิถีชีวิตของประชาชนยังไม่มีความสลับซับซ้อน หรือความแตกต่างกันมาก ทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาและวัฒนธรรม แม้ในปัจจุบันนี้การปกครองรูปแบบนี้ก็ยังเหมาะสมกับบางประเทศที่ยังไม่พร้อมที่จะใช้การปกครองแบบประชาธิปไตย
รูปแบบการปกครองในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล มีการปกครองแบบกษัตริย์ รูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือราชาธิปไตย และการปกครองแบบกษัตริย์ รูปแบบอภิชนาธิปไตย หรือระบบสามัคคีธรรม ซึ่งมีจำนวน 16 แคว้น 1 อาณาจักร ปกครอง 2 ระบบ ดังนี้

1. แคว้นที่ปกครองด้วยระบบราชาธิปไตย จำนวน 14 แคว้น คือ

1.1 อังคะ ตั้งอยู่ปลายแม่น้ำคงคา เทียบรวมมณฑลเบงคอล นครหลวงชื่อจำปา บัดนี้เรียกว่า ภคัสปุร อยู่เหนือฝั่งแม่น้ำคงคาข้างขวา

1.2 มคธ ตั้งอยู่ใต้แม่น้ำคงคาตอนกลาง เทียบรวมมณฑลพิหาร มีแม่น้ำคงคาอยู่ทิศเหนือ และมีภูเขาวินธยะอยู่ทิศตะวันตก นครเก่าชื่อ คิริพพชะ ตั้งอยู่บนเนินเขา ห่างจากปัตนะทางทิศไต้เฉียงอาคเนย์ ๖๕ กิโลเมตร ภายหลังพระเจ้าพิมพิสารทรงสร้างนครใหม่ชื่อ ราชคฤห์ ตั้งอยู่ที่เชิงเขา ต่อมาพระเจ้าอุทายี ราชนัดดาของพระเจ้าอชาตศัตรูได้ย้ายไปตั้งที่นครปาฏลิบุตร บัดนี้เรียกว่า ปัตนะ เหนือแม่น้ำโสน ระหว่างแม่น้ำนี้กับอังคะ

1.3 กาสี ตั้งอยู่ตรงที่บรรจบแม่น้ำคงคาและยมุนา นครหลวงชื่อ พาราณสี บัดนี้เรียกว่า เพนาเรส

1.4 โกสละ ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาหิมาลัยกับแม่น้ำคงคาตอนกลาง เทียบรวมมณฑลอยุธยา คือ โอธ บัดนี้ทิศเหนือจดภูเขาเนปาล ทิศตะวันตกและทิศใต้จนดแม่น้ำคงคา ทิศตะวันออกจดแคว้นกาสีต่อกับมคธ นครหลวงชื่อ สาวัตถี บัดนี้เรียกว่า สะเหต – มะเหต ตั้งอยู่ ณ ฝั่งลำน้ำรับดี ริมเชิงเขาห่างจากเขตโอธรวม 80 กิโลเมตร ทางทิศใต้ห่างจากแดนเนปาลราว ๕๐ กิโลเมตร

1.5 เจตี ตั้งอยู่ต่อแคว้นอวันตี (มาลวะ) ออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ นครหลวงชื่อ โสตถิวดี

1.6 วังสะ ตั้งอยู่ใต้ลำน้ำยมุนา ทางทิศใต้แคว้นโกสละ และทางทิศตะวันตกแคว้นกาสี นครหลวงชื่อ โกสัมพี ตั้งอยู่เหนือฝั่งใต้ลำน้ำยมุนา ที่เรียกว่า ลำน้ำโกสัม อยู่ทางทิศหรดีในตำบลอัลลาฮาบัด

1.7 กุรุ ตั้งอยู่ตรงลุ่มน้ำยมุนาตอนบน เทียบราวมณฑลปัญจาปและเมืองเดลฮี นครหลวงของอินเดียบัดนี้ นครหลวงชื่อ อินทปัตถะ

1.8 ปัญจาละ ตั้งอยู่ตรงลุ่มน้ำคงคาตอนบน มีแคว้นโกศลอยู่ทิศตะวันออก แคว้นกุรุอยู่ทิศตะวันตก ภูเขาหิมาลัยอยู่ทิศเหนือ และแม่น้ำคงคาอยู่ทิศใต้ เทียบราวมณฑลอกราบัดนี้ นครหลวงเดิมชื่อ หัสตินาปุระหรือหัสดิน ต่อมาจึงแยกไปตั้งนครหลวงใหม่ ๒ แห่ง คือ กัมปิลละ ตั้งอยู่ฝั่งเหนือแม่น้ำคงคา ถัดลงมาถึงสังกัสสนคร แล้วจึงถึงกันยากุพช์ ซึ่งบัดนี้เรียกว่า กะเนาซ์

1.9 มัจฉะ ตั้งอยู่รหว่างลำน้ำสินธูกับยมุนาตอนบน มีแคว้นโกศลอยุ่ทิศตะวันออก มีแคว้นสุรเสนะอยู่ทิศเหนือ มีแคว้นกุรุอยู่ทิศใต้ มีมณฑลปัญจาปอยู่ทิศพายัพ นครหลวงชื่อ สาคละ ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำอสิคนีหรือจันทรภาค

1.10 สุรเสนะ ตั้งอยู่ระหว่างลำน้ำสินธูกับยมุนาตอนล่าง ราวมณฑลราชปุตต์ฐาน บัดนี้ นครหลวงเก่าซึ่งเป็นราชธานีของพระกฤษณะ ชื่อ มลุรา ราวเมืองมัตตรา ปัจจุบัน

1.11 อัสสกะ ตั้งอยู่ตรงลำน้ำโคธาวารี ทิศเหนือแห่งอวันตี นครหลวงชื่อ โปตนะ หรือ โปตลี

1.12 อวันตี หรือ มาลวะ ตั้งอยู่ทิศเหนือภูเขาวินธยะ ทิศอิสานแห่งอัสสกะ นครหลวงชื่อ อุชเชนี ณ เมืองอุชเชน ปัจจุบัน

1.13 คันธาระ ตั้งอยู่ตรงลำน้ำสินธูตอนบน เทียบกับมณฑลพรมแดนพายัพของอินเดียปัจจุบัน นครหลวงชื่อ ตักกสิลา

1.14 กัมโพชะ ตั้งอยู่ใต้แคว้นคันธาระ นครหลวงชื่อ ทวารกะ เป็นราชธานีซึ่งพระกฤษณะสร้างขึ้นริมมหาสมุทรในแคว้นวลภีหรือคุรชะ ซึ่งบัดนี้เรียกว่า คุชรัฐ ตั้งอยู่เหนือมณฑลบอมเบย์ ทุกวันนี้

2. แคว้นที่ปกครองด้วยระบบอภิชนาธิปไตยหรือสามัคคีธรรม จำนวน 2 แคว้น และ 1 อาณาจักร คือ

2.1 วัชชี ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกแห่งลำน้ำคันธกะ ติดต่อกับมัลละ นครหลวงชื่อ เวสาลี บัดนี้เรียกว่า แขวงเพสารห์ ห่างจากปัตนะราว ๔๔ กิโลเมตร

2.2 มัลละ ตั้งอยู่ถัดโกสละมาทางทิศตะวันออก อยู่ทิศเหนือแคว้นวัชชี และทิศตะวันออกแห่งสักกะ นครหลวงชื่อ กุสินคร หรือกุสินารา ตั้งอยู่ที่ประชุมลำน้ำรับติกับลำน้ำคันธกะ อยู่เหนือเนปาล บัดนี้เรียกแขวงกาเซีย ส่วนนครปาวาอยู่ระหว่างนครกุสินารากับนครเวสาลี บัดนี้เรียกแขวงปัทระโอนะ[13]

2.3 อาณาจักร 1 อาณาจักร ประกอบด้วย 5 นครรัฐ คือ

1. สักกะ เมืองหลวงชื่อ กบิลพัสดุ์

2. โกลิยะ เมืองหลวงชื่อ เทวทหะ หรือรามคาม

3. ภัคคะ เมืองหลวงชื่อ สุงสุมารคีระ

4. วิเทหะ เมืองหลวงชื่อ มิถิลา

5. อังคุตตราปะ เมืองหลวงชื่อ อาปณะนิคม[14]

จะเห็นได้ว่า ในสมัยพุทธกาลมีปัญญาแบบเผด็จการอำนาจนิยมในรูปแบบราชาธิปไตย และอภิชนาธิปไตย ซึ่งยังไม่มีการปกครองรูปแบบประโยชน์แบบเบ็ดเสร็จนิยม หรือรูปแบบอื่น เช่น ประชาธิปไตย พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมโดยตรง แต่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในการจัดรูปแบบการเมืองการปกครองในแต่ละรัฐแต่อย่างใด พระพุทธเจ้าทรงเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นศาสดาหรือครูของกษัตริย์และประชาชนทั้งหลาย ทรงสั่งสอนชี้แนวประโยชน์ทั้งในโลกนี้ โลกหน้า และสูงสุด คือ ความสิ้นทุกข์ทั้งมวล[15] จึงได้รับการต้อนรับในฐานะสูงสุดยิ่งจากบรรดากษัตริย์ ผู้ครองนครทั้งราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย หรือสามัคคีธรรม ทั้งพราหมณ์ แพศย์ ศูทร และจัณฑาล ไม่ปรากฏว่ากษัตริย์เผด็จการอำนาจนิยมพระองค์ใดใน 16 แคว้น 1 อาณาจักร เป็นศัตรูกับพระองค์เลย ตรงกันข้ามพากันเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย ปฏิญาณตนถึงพระพุธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งสรณะตลอดชีวิต ต่างซาบซึ้งถึงพระคุณพระรัตนตรัยที่ขจรขจายไปทุกสารทิศตามที่ปรากฏดังนี้

พระพุทธคุณ 9 ประการ

อิติปิ โส ภควา แม้เพราะอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ประกอบด้วยพุทธคุณ คือ

1. อรหัง เป็นพระอรหันต์

2. สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง

3. วิชชาจรณสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ

4. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว

5. โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก

6. อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ เป็นสารถีแห่งบุรุษพึงฝึกได้ ไม่มีบุรุษอื่นยิ่งไปกว่า

7. สัตถา เทวมนุสสานัง เป็นศาสดาของเทวดาและไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งหลาย

8. พุทโธ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว

9. ภควา เป็นผู้มีโชค[16]

พระเกียรติศัพท์อันงามนี้ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล ผู้ที่ยังไม่เคยเข้าเฝ้าก็ประสงค์จะเข้าเฝ้า ผู้เคยเข้าเฝ้าแล้วก็ประสงค์จะเข้าเฝ้าอีก เพราะพระตถาคตพระองค์นั้นทรงทำให้โลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงสอนเป็นอัศจรรย์ทำให้ผู้ฟังพ้นจากทุกข์ตามสมควรแก่การปฏิบัติ พระเกียรติคุณอันนี้ หมอชีวก โกมารภัจจ์ ได้กราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ยังไม่เคยเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าว่า “ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้เถิด เมื่อพระองค์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระหฤทัยพึงเลื่อมใส”

พระธรรมคุณ 6 ประการ

1. สวากขาโต ภควา ธัมโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

2. สันทิฏฐิโก อันผู้ดับรรลุจะพึงเห็นเอง

3. อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล

4. เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู

5. โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

6. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน

พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดในเฉพาะตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เพราะได้รับผล คือ ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งใดที่ฟังแล้วไม่แจ่มแจ้งก็เข้าใจแจ่มแจ้งในสิ่งนั้น บรรเทาความสงสัยเสียได้ ทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความจริง จิตย่อมผ่องใส[17]

พระสังฆคุณ 9 ประการ

ภควโต สาวกสังโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ประกอบด้วยพระคุณ 9 ประการ คือ

1. สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

2. อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว

3. ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม

4. สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร

ยทิทัง นี้คือใคร จัตตาริ ปุริสยุคานิ คู่แห่งบุรุษ 4 เอส ภควโต สาวกสังโฆ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

5. อาหุเนยโย เป็นผู้ควรของคำนับ

6. ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ

7. ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรของทำบุญ

8. อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรทำอัญชลี (ประนมมือไหว้)

9. อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า [18]

คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม ตระหนักว่า ชีวิตฆราวาสคับแคบ เป็นที่มาแห่งธุลีคือกิเลส การออกบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้โดยง่าย จึงละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วสำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์ สำรวมอินทรีย์ มีอาชีพบริสุทธิ์ พิจารณาปัจจัย ๔ ไม่บริโภคด้วยความมัวเมาประมาท[19] ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ชื่อว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระพุทธศาสนาจึงอยู่ในฐานะเป็นที่พึง เป็นสรณะ เป็นที่เคารพสักการะเหนือชีวิตจิตใจของพระราชาและประชาชนทั้งปวง เป็นประทีปส่องทางในการบริหารราชกิจและเป็นธรรมวิถีในการดำเนินชีวิตก่อให้เกิดประโยชน์และความสุขแก่ประชาชน

สำหรับคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับระบบการปกครองอำนาจนิยมแบบราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย หรือสามัคคีธรรม ที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎกนั้นมีดังต่อไปนี้

ปฏิปทาของกษัตริย์ ผู้ปกครองแบบราชาธิปไตย

ในการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมนั้น เป็นที่ยอมรับในหลักการว่า ศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ผู้นำ ผู้นำเป็นผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ทั้งอำนาจบริหาร ตุลากา นิติบัญญัติ ถ้าผู้ปกครองใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม ระบอบการปกครองนั้นเรียกว่า “ราชาธิปไตย” และ “อภิชนาธิปไตย” แต่ถ้าผู้นำใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ระบอบการปกครองนั้นเรียก “ทรราชย์” หรือ “ทุชนาธิปไตย” และคณาธิปไตย ทั้งนี้จะเป็นระบบใดขึ้นอยู่กับปฏิปทาของผู้นำว่ามีคุณธรรม ปกครองโดยธรรมหรือไม่ พระพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญกับคุณธรรมของผู้ปกครองว่า มีความสำคัญต่อการปกครองประชาชน ให้ได้รับความสุขสงบ และประสบผลสัมฤทธ์ในการบริหารรัฐมากน้อยเพียงใด สำเร็จหรือล้มเหลว ก็ขึ้นอยู่กับปฏิปทาของผู้นำว่า ประกอบด้วยคุณธรรมมากน้อยเพียงใด ดังปรากฏในพระสุตตันตปิฎก ดังต่อไปนี้

...ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงไปคด เมื่อมีโคผู้นำฝูงไปคด โคทั้งหมดนี้ก็ย่อมไปคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม จะป่วยกล่าวไปไยถึงประชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นทุกข์ ถ้าพระราชาไม่ทรงดำรงอยู่ในธรรม ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงไปตรง เมื่อมีโคผู้นำฝูงไปตรง โคทั้งหมดนั้นก็ไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าแม้ผู้นั้นประพฤติเป็นธรรม ไม่จำต้องกล่าวถึงประชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นสุข ถ้าพระราชาทรงดำรงอยู่ในธรรม เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บผลดิบมา ผู้นั้นย่อมไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์ แห่งต้นไม้นั้นก็ย่อมพินาศ รัฐ เปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม พระราชานั้นย่อมไม่รู้จักรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชานั้นก็ย่อมพินาศ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บเอาผลสุกๆ มา ผู้นั้นย่อมรู้รสแห่งผลไม้นั้น และพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็ไม่พินาศ รัฐเปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาใดปกครองโดยธรรม พระราชานั้นย่อมทรงทราบรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชานั้นก็ไม่พินาศ อนึ่ง ขัตติยราชพระองค์ใด ทรงปกครองชนบทโดยไม่เป็นธรรม ขัตติยราชพระองค์นั้นย่อมคลาดจากโอชะทั้งปวง อนึ่ง พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียน

ชาวนิคมผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะและพลีกรรม พระราชาพระองค์นั้นย่อมคลาดจากส่วนพระราชทรัพย์ พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียนนายพรานผู้รู้เขตแห่งการประหารอย่างดี และเบียดเบียนทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม เบียดเบียนอำมาตย์ผู้รุ่งเรือง พระราชาพระองค์นั้นย่อมคลาดจากพลนิกาย อนึ่ง กษัตริย์ผู้ไม่ประพฤติธรรม เบียดเบียนบรรพชิตผู้แสวงหาคุณ ผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ กษัตริย์พระองค์นั้นย่อมคลาดจากสวรรค์ อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ดำรงอยู่ในธรรม ฆ่าพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย ย่อมได้ประสบเหตุแห่งทุกข์ อย่างหนัก และย่อมผิดพลาดด้วยพระราชบุตรทั้งหลาย พระราชาพึงประพฤติธรรมในชาวชนบท ชาวนิคม พลนิกาย ไม่พึงเบียดเบียนบรรพชิต พึงประพฤติสม่ำเสมอในพระโอรสและพระชายา พระราชาผู้เป็นภูมิบดีเช่นนั้น เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ไม่ทรงพิโรธ ย่อมทรงทำให้ผู้อยู่ใกล้เคียงหวั่นไหว เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเจ้าแห่งอสูร ฉะนั้น.[20]

ปฏิปทาที่ปรากฏในราโชวาทชาดก

ในราโชวาทชาดกได้กล่าวถึงปฏิปทาของผู้นำในเชิงเปรียบเทียบ คล้ายกับข้อความในปฏิปทาในมหาโพธิชาดกว่า

...ถ้าเมื่อโคทั้งหลาย ว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายคด เมื่อโคผู้นำฝูงว่ายคดอย่างนี้ โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายคดไปตามกัน.

ในมนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใด ได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้น ประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ประพฤติไม่เป็นธรรมโดยแท้ ถ้าพระราชาผู้เป็นใหญ่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่ไม่เป็นสุขทั่วกัน.

ถ้าเมื่อโคทั้งหลาย ว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายข้ามตรง เมื่อมีโคผู้นำฝูงว่ายข้ามตรงอย่างนั้น โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายข้ามตรงไปตามกัน.

ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใด ได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติเป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ย่อมประพฤติเป็นธรรมไปตามโดยแท้ ถ้าพระราชา ผู้เป็นใหญ่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่เป็นสุขทั่วกัน...[21]

ปฏิปทาที่มีเนื้อความปรากฏในมหาสุทัสสนสูตร

พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฏิปทาของพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า มหาสุทัสสนะ ผู้ทรงปกครองเมืองกุสาวดี คือ เมืองกุสินารา ซึ่งเป็นสถานที่พระองค์จะทรงดับขันธปรินิพพาน แม้ท่านพระอานนท์จะทูลคัดค้านว่าเป็นเมืองเล็ก แต่พระองค์ทรงเล่าประวัติศาสตร์ความมั่นคั่งสมบูรณ์ของเมืองกุสินารา และรัตนะ 7 ประการที่เกิดขึ้นแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ด้วยปฏิปทา คือ บุญบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้แล้ว จึงเกิดผลเป็นรัตนะ 7 ประการ คือ ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว และบุญลักษณะของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ 4 ประการ คือ ความเป็นผู้มีรูปงาม มีอายุยืน มีโรคน้อย เป็นที่รักของประชาชน เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติกุศลกรรม ประกอบด้วย

1. ทาน การให้

2. ทมะ การฝึกจิต

3. สัญญมะ การสำรวมจิต

4. การบำเพ็ญฌาน 4

5. พรหมวิหาร 4

เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ทรงครองประเทศราชน้อยใหญ่ ที่มีในทิศทั้ง 4 อันมีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขตได้แล้ว พระองค์ทรงตรัสสั่งสอนพระราชาทั้งหลาย ตลอดจนพสกนิกรให้ดำรงมั่นอยู่ในศีล 5 ด้วยพระดำรัสว่า “พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงกล่าวเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา”[22]

ในพระสูตรนี้แสดงให้เห็นถึงปฏิปทาของกษัตริย์ผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ประกอบด้วยคุณธรรม มีธรรมเป็นเครื่องนำทางในการบริหารปกครองมหาอาณาจักรและประชากรทั้งมวล ให้อยู่ในพระราชอำนาจของพระองค์โดยธรรม

ปฏิปทาที่ปรากฏในเตสกุณชาดก

ในเตสกุณชาดกได้กล่าวถึงปฏิปทาที่พระราชาควรประพฤติว่า

... ข้าแต่บรมกษัตริย์ ธรรมดาพระราชาควรทรงห้ามมุสาวาท ความโกรธและความร่าเริงก่อนทีเดียว แต่นั้นพึงรับสั่งให้กระทำกิจทั้งหลาย คำที่ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวมานั้นนักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นวัตรของพระราชา.

ข้าแต่พระบิดา เมื่อก่อนพระองค์ทรงรักใคร่และเกลียดชังแล้ว พึงทรงทำกรรมใดกรรมนั้นที่พระองค์ทำแล้ว พึงยังพระองค์ให้เดือดร้อนโดยไม่ต้องสงสัย แต่นั้นพระองค์ไม่ควรทรงกระทำกรรมนั้นอีก. ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงรัฐ เมื่อกษัตริย์ประมาทแล้ว โภคสมบัติทุกอย่างในแว่นแคว้นย่อมพินาศ ข้อนั้นนักปราชญ์กล่าวว่าเป็นความทุกข์ของพระราชา...

...ข้าแต่พระมหาราชา พระองค์จงทรงเป็นผู้มีพระทัยดีต่อคนทั้งปวง จงทรงพิทักษ์รักษาคนทั้งปวง จงทรงบรรเทาเสียซึ่งคนไม่มีราศรี จงเป็นผู้มีคนที่มีราศรีเป็นที่พึ่งเถิด. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชนชาวกาสี บุรุษผู้มีราศรีสมบูรณ์ด้วยความเพียร มีอัธยาศัยใหญ่ ย่อมตัดโคน และยอดของศัตรูทั้งหลายได้. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ของประชาชน จริงอยู่ ถึงท้าวสักกะก็ไม่ทรงประมาทในความหมั่นเพียร ท้าวเธอทรงทำความเพียรในกัลยาณธรรม ทำพระทัยในความหมั่นเพียร. คนธรรพ์ พรหม เทวดาเป็นผู้เป็นอยู่ อาศัยพระราชาเช่นนั้น เมื่อพระราชาทรงอุตสาหะ ไม่ทรงประมาท เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครองป้องกัน. ข้าแต่พระบิดาพระองค์จงทรงเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ทรงพระพิโรธแล้ว รับสั่งให้ทำกิจทั้งหลาย จงทรงพยายามในกิจทั้งหลาย เพราะคนเกียจคร้าน ย่อมไม่พบความสุข. ข้อความที่ข้าพระองค์กล่าวแก้แล้วในปัญหาของพระองค์นั้น ข้อนี้เป็นอนุศาสนี สามารถยังผู้เป็นมิตรให้ถึงความสุข และยังคนผู้นั้นเป็นศัตรูให้ถึงความทุกข์ได้...

...ข้าแต่พระบิดา ประโยชน์ทั้งปวงตั้งมั่นอยู่ในเหตุ ๒ ประการเท่านั้น คือ ความได้ลาภที่ยังไม่ได้ ๑ การตามรักษาลาภที่ได้แล้ว ๑. พระองค์จงทรงทราบอำมาตย์ทั้งหลายผู้เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในประโยชน์ ไม่แพร่งพรายความลับ ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่ทำให้เสื่อมเสีย. อำมาตย์ผู้ใดพึงรักษาพระราชทรัพย์ของพระองค์ให้มีคงที่อยู่ได้ ดุจนายสารถียึดรถไว้ พระองค์ควรทรงใช้อำมาตย์ผู้นั้น ให้กระทำกิจทั้งหลายของพระองค์ พระราชาพึงเป็นผู้มีอันโตชนอันสงเคราะห์ดีแล้ว พึงตรวจตราพระราชทรัพย์ด้วยพระองค์เอง ไม่ควรจัดการทรัพย์และการกู้หนี้ โดยทรงไว้วางพระทัยในคนอื่น. ควรทรงทราบรายได้รายจ่ายด้วยพระองค์เอง ควรทรงทราบกิจที่ทำแล้วและยังไม่ทำด้วยพระองค์เอง ควรข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง. ข้าแต่พระองค์ผู้จอมพลรถ พระองค์จงทรงพร่ำสอนเหตุผล แก่ชาวชนบทเอง เจ้าหน้าที่ผู้เก็บภาษีอากร ผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม อย่ายังพระราชทรัพย์และรัฐสีมาของพระองค์ให้พินาศ. อนึ่ง พระองค์อย่าทรงทำเอง หรืออย่าทรงใช้คนอื่นให้ทำกิจทั้งหลายโดยฉับพลัน เพราะว่าการงานที่ทำลงไปโดยฉับพลัน ไม่ดีเลย คนเขลาย่อมเดือดร้อนในภายหลัง. พระองค์อย่าทรงล่วงเลยกุศล อย่าทรงปล่อยพระทัยให้เกรี้ยวกราดนัก เพราะว่าสกุลที่มั่นคงเป็นอันมากได้ถึงความไม่เป็นสกุลเพราะความโกรธ. พระองค์อย่าทรงนึกว่าเราเป็นใหญ่ แล้วยังมหาชนให้หยั่งลงเพื่อความฉิบหาย กำไรคือความทุกข์อย่าได้มีแก่หญิงและชายของพระองค์เลย. โภคสมบัติทั้งปวงของพระราชาผู้ปราศจากความหวาดเสียว แส่หากามารมณ์ ย่อมพินาศหมด ข้อนั้นนักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นความทุกข์ของพระราชา. ข้อความที่หม่อมฉันกราบทูลในปัญหาของพระองค์นั้น เป็นวัตตบท นี่แหละเป็นอนุศาสนี ข้าแต่พระมหาราชา บัดนี้ พระองค์ยังทรงขยันบำเพ็ญกุศล ไม่ทรงเป็นนักเลง ไม่ทรงทำให้ราชทรัพย์ให้พินาศ จงทรงศีล เพราะว่าคนทุศีลย่อมตกนรก...

...กำลังในบุรุษผู้มีอัธยาศัยใหญ่ในโลกนี้มี ๕ ประการ ในกำลัง ๕ ประการนั้น กำลังแขน บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังต่ำทราม ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเจริญพระชนม์ กำลังโภคทรัพย์ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังที่ ๒. กำลังอำมาตย์ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังที่ ๓ กำลังคือมีชาติยิ่งใหญ่เป็นกำลังที่ ๔ โดยแท้ บัณฑิตย่อมยึดเอากำลังทั้งหมดนี้ไว้ได้. กำลังปัญญาบัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังประเสริฐ ยอดเยี่ยมกว่ากำลังทั้งหลาย เพราะว่าบัณฑิตอันกำลังปัญญาสนับสนุนแล้ว ย่อมได้ความเจริญ. ถ้าบุคคลมีปัญญาทราม แม้ได้แผ่นดินอันสมบูรณ์ เมื่อเขาไม่ปรารถนา คนอื่นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ก็ข่มขี่แย่งเอาแผ่นดินนั้นเสีย. ข้าแต่พระจอมแห่งชนชาวกาสี ถ้าบุคคลแม้เป็นผู้มีชาติสูง ได้ราชสมบัติแล้วเป็นกษัตริย์ แต่มีปัญญาทราม หาเป็นอยู่ด้วยราชสมบัติทุกอย่างได้ไม่. ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยข้อความที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณและชื่อเสียง คนในโลกนี้ประกอบด้วยปัญญาแล้ว แม้เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ย่อมได้รับสุข. ก็คนบางคนไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่อาศัยผู้เป็นพหูสูต ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ไม่พิจารณาเหตุผล ย่อมไม่ได้บรรลุปัญญาแล อนึ่ง ผู้ใดรู้จักจำแนกธรรม ลุกขึ้นในเวลาเช้า ไม่เกียจคร้าน ย่อมบากบั่นตามกาลผลการงานของผู้นั้นย่อมสำเร็จประโยชน์แห่งการงานของบุคคลผู้มีศีล มิใช่บ่อเกิด ผู้คบหาบุคคลที่มิใช่บ่อเกิด (ลาภยศสุข) ผู้มีปกติเบื่อหน่ายทำการงาน ย่อมไม่เผล็ดผลโดยชอบ. ส่วนประโยชน์แห่งการงานของบุคคลผู้ประกอบธรรมอันเป็นภายใน คบหาบุคคลที่เป็นบ่อเกิดอย่างนั้นไม่มีปกติเบื่อหน่ายทำการงาน ย่อมเผล็ดผลโดยชอบ. ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ทรงเสวนะปัญญา อันเป็นส่วนแห่งการประกอบความเพียร เป็นเครื่องตามรักษาทรัพย์ที่รวบรวมไว้ และเหตุ ๒ ประการข้างต้นที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลแล้วนั้นเถิด อย่าได้ทรงทำลายทรัพย์เสียด้วยการงานอันไม่สมควร เพราะคนมีปัญญาทราม ย่อมล่มจมด้วยการงานอันไม่สมควร ดังเรือนไม้อ้อฉะนั้น...

...ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรม ในพระราชมารดา พระราชบิดา ในพระราชโอรสและพระอัครมเหสี ในมิตรและอำมาตย์ ในพาหนะและพลนิกาย ในชาวบ้านและชาวนิคม ในสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ในเนื้อและนก ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเพราะธรรมที่บุคคลประพฤติแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ ครั้นพระองค์ ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์. ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม เพราะว่าพระอินทร์ ทวยเทพพร้อมทั้งพราหมณ์ ถึงทิพยสถานได้ด้วยธรรมอันตนประพฤติดีแล้ว ข้าแต่บรมกษัตริย์ ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรมเลย. ข้อความที่ข้าพระองค์กล่าวแล้วในปัญหาของพระองค์นั้นเป็นวัตตบท ข้อนี้แลเป็นอนุศาสนี ขอพระองค์จงทรงคบหาสมาคมกับผู้มีปัญญา จงมีคุณอันงามทรงทราบข้อนั้นด้วยพระองค์แล้ว จงทรงปฏิบัติให้ครบถ้วนเถิด...[23]

ในเตสกุณชาดกนี้ เป็นปฏิปทาโดยละเอียดของพระราชาผู้เสวยราชสมบัติ ควรประพฤติปฏิบัติ เพราะเป็นกิจอันประเสริฐ เป็นกำลังอันอุดมกว่ากำลังทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติแล้ว จะทำให้พระราชาเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม นำประโยชน์มาสู่ประชาราษฎร์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ปฏิปทาของพระราชาที่ปรากฏในมหาหังสชาดก

ในมหาหังสชาดกได้กล่าวถึงปฏิปทาของผู้นำที่ดำรงตนอยู่ในคุณธรรม คือ “ทศพิธราชธรรม” อันเป็นหลักธรรมที่ควรยึดถือปฏิบัติของผู้ปกครองทั้งหลาย ประกอบด้วยธรรม 10 ประการ คือ

1. ทาน คือ การให้ หรือการแบ่งปันของของตนให้ผู้อื่น เป็นความเอื้อเฟื้อทั้งแก่ผู้ใกล้ชิดและบุคคลทั่วไป รวมทั้งการช่วยเหลือสงเคราะห์ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ

2. ศีล มีการประพฤติที่ถูกต้องดีงาม ทั้งทางกาย เช่น ไม่ฆ่าหรือเบียดเบียนบุคคลอื่น สัตว์อื่น ไม่ลักขโมย หรือทำทุจริต ไม่ประพฤติผิดในของรักของหวงแหนของคนอื่น ทางวาจา เช่น ไม่พูดโกหกหลอกลวง ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ เพ้อเจ้อ

3. ปริจาคะ การเสียสละเพื่อคนอื่น ทั้งสละสิ่งของ สละเวลา สละความสะดวกสบายส่วนตัว ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการกระทำ หรือการรับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

4. อาชชวะ ความซื่อตรง คือ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เป็นธรรม เที่ยงตรง ไม่ลุอำนาจโลภะ โทสะ โมหะ และปราศจากอคติ

5. มัททวะ ความนุ่มนวล อ่อนโยน มีอัธยาศัยที่ดีงาม ปฏิบัติต่อผู้อื่นฉันญาติมิตร

6. ตปะ ความยับยั้งชั่งใจ สามารถข่มใจไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ที่ทำให้กระทำทุจริตต่อหน้าที่

7. อักโกธะ การไม่ล่วงอำนาจความโกรธ สามารถระงับความไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจ ในผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในฐานะที่สูงกว่า เสมอกัน หรือต่ำกว่า ด้วยขันติและเมตตา

8. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน กดขี่ข่มเหงบุคคลอื่น ด้วยกาย วาจา ที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจ หรือความทุกข์ความเดือดร้อน

9. ขันติ ความอดทน คือ อดทนต่อความยากลำบากในการทำงาน ความร้อนหนาว หิวกระหาย ต่อความทุกข์ยากลำบากใจ จากการกดดันจากภายนอก คือ พฤติกรรมที่เกิดจากกิเลสของคนอื่น และจากภายใน คือ ความต้องการเกิดจากกิเลสของตนเอง

10. อวิโรธนะ มีความประพฤติเที่ยงธรรม จะทำการสิ่งใดก็ยึดธรรม คือ ความถูกต้องเป็นหลัก จะพูด จะคิดสิ่งใด ก็เป็นไปด้วยความไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ดำรงมั่นอยู่ในความยุติธรรม[24]

หลักทศพิธราชธรรม 10 ประการนี้ ถ้าผู้ทำหน้าที่ปกครองรัฐ นำมาเป็นข้อปฏิบัติก็จะนำความสงบสุขมาสู่ประชาชน พระราชาผู้ปกครอง ก็จะดำรงฐานะเป็น “กษัตริย์ธรรมราชา”

นอกจากนี้ผู้นำที่อยู่ในฐานะธรรมราชา ยังต้องประกอบไปด้วยหลักปฏิบัติที่เรียกว่า “ราชสังคหวัตถุ” 5 ประการ ในการบริหารประเทศ ประกอบไปด้วย

1. สัสเมธะ ส่งเสริมด้านเกษตร ได้แก่ผลผลิตทางการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์ ให้ทำประชาชนมีฐานะทางเศรษฐกิจดี

2. ปุริสสเมธะ ส่งเสริมข้าราชการ ทั้งในขั้นตอนการคัดสรรคนที่ดี เหมาะสม ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งต่างๆในราชการ และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ข้าราชการด้วยการปูนบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ที่ปฏิบัติดี และลงโทษผู้มีความผิดอย่างยุติธรรม

3. สัมมาปาสะ เอาใจใส่ในการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด ส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชน สนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

4. วาจาเปยยะ รู้จักใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม ประกอบด้วยประโยชน์ สมานสามัคคี พูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา มีวาจาสุภาพอ่อนหวานน่าฟัง

5. นิรัคคฬะ หรือสัพเมธะ เอาใจใส่ในการขจัดความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนที่ไม่ดี เช่น ปราบปรามโจรผู้ร้ายให้หมดไปจากสังคม[25]

เมื่อกษัตริย์ผู้ธรรมราชาทรงมีปฏิปทาเช่นนี้ ย่อมเป็นที่รักของปวงชน เป็นที่ปรารถนาของปวงชน และอยู่ในจิตในของประชาชนตลอดไป

ปฏิปทาของพระราชาที่ปรากฏในกูฏทันตสูตร

พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปยังแคว้นมคธ เสด็จพัก ณ สวนมะม่วงหนุ่ม ในหมู่บ้านขานุมตะ ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับการบูชายัญแก่กูฏทันตพราหมณ์ ผู้ทูลถามเรื่องการบูชายัญ โดยพระองค์ทรงยกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการบูชายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช ผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติของมนุษย์อันไพบูลย์ ได้รับชัยชนะปฐมมณฑลอันยิ่งใหญ่ ใคร่จะบูชามหายัญ เพื่อประโยชน์และความสุข จึงได้เชิญพราหมณ์ปุโรหิตซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ให้สอนวิธีบูชายัญ

พราหมณ์ปุโรหิตถวายคำแนะนำในการบูชายัญโดยให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่มิใช่ด้วยวิธีฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจากการถูกฆ่าจะเบียดเบียนประชาชนอีกในภายหลัง แต่ควรใช้วิธีถอนรากถอนโคนโจรผู้ร้ายด้วยวิธีจัดการเศรษฐกิจให้ดี ซึ่งประกอบไปด้วย

1. แจกพันธุ์พืชแก่เกษตรกรในชนบทที่มีความขยัน อุตสาหะในการประกอบอาชีพ

2. ให้เงินทุนเพื่อประกอบอาชีพแก่พ่อค้นที่ไม่มีเงินทุน แต่มีความขยันหมั่นเพียรในการค้าขาย

3. ให้อาหารและค่าจ้างแก่ข้าราชการ ให้ทุกคนมีอาชีพและรายได้สามารถเลี้ยงตนเองได้

ด้วยการกระทำดังกล่าว พระราชทรัพย์ก็จะเพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม ประชาชนทั้งหลายก็จะรื่นเริง มีความสงบสุข ไม่มีโจรผู้ร้าย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ต้องสะดุ้งกลัวภัยจากโจรผู้ร้าย

เมื่อพระเจ้าวิชิตราชทรงสั่งให้ปฏิบัติตามนโยบายนี้ แว่นแคว้นของพระองค์ก็สงบร่มเย็น จากนั้นจึงทรงสั่งให้กษัตริย์ที่เป็นประเทศราช พร้อมทั้งอำมาตย์ พราหมณ์มหาศาล และคฤหบดีที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ปฏิบัติตามนโยบายนี้ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเช่นกัน เพราะเมื่อได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ ทุกคนก็ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ทำให้มั่นคั่งสมบูรณ์ มีความสุขทั่วหน้า[26]

วิธีการปฏิบัตินี้ถือเป็นนโยบายในการปกครองรัฐ สามารถแก้ปัญหาทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะเมื่อประชาชนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น จากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจดังกล่าว ปัญหาสังคมที่เกิดจากความยากจน ปัญหาโจรผู้ร้าย การว่างงาน ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นก็หมดไป ทำให้ง่ายต่อการปกครอง และสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขโดยทั่วถึง

ปฏิปทาที่ปรากฏในวิธูรชาดก

ในวิธูรชาดก แสดงปฏิปทาของพระราชาและราชเสวก เมื่อประพฤติแล้วทำความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า นำความผาสุกสวัสดีมาให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งประกอบด้วยฆราวาสปัญหา และราชวัสดี ซึ่งปรากฏข้อความในฆราวาสปัญหาที่พระราชาได้ตรัสถามวิธูรบัณฑิตว่า

ท่านวิธูรบัณฑิต คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างไร จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างไร จะพึงมีความไม่เบียดเบียนได้อย่างไร และอย่างไรมาณพจึงจะชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้ไปยังโลกหน้า แล้วจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร

วิธูรบัณฑิตได้กราบทูลพระราชาในโรงธรรมสภานั้นว่า ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก ไม่ให้สวรรค์นิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้นไม่ทำให้ปัญญาเจริญ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้สงบเสงี่ยม กล่าวถ้อยคำจับใจ อ่อนโยน ผู้ครองเรือน พึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถามพึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างนี้ จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างนี้ จะพึงมีความไม่เบียดเบียนกันได้อย่างนี้ และมาณพพึงปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้แล้วไปยังโลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้ด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าข้า. (นี้) ชื่อฆราวาสปัญหา

ราชวัสดี คือ ธรรมอันเป็นเหตุให้บุคคลผู้เข้าไปสู่ราชสกุลได้ยศ มีข้อความดังต่อไปนี้

ผู้เข้าไปสู่ราชสกุล พระราชายังไม่ทรงทราบความสามารถย่อมไม่ได้ยศ ราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ เมื่อใดพระราชาทรงทราบความประพฤติปกติ ปัญญา และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น เมื่อนั้น ย่อมทรงวางพระทัยและไม่ทรงรักษาความลับ.

ราชเสวกอันพระราชาไม่ตรัสใช้ ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจฉันทาคติ เป็นต้น ดังตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรง ฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงตั้งใจกระทำราชกิจทุกอย่างให้เสมอต้นเสมอปลาย เหมือนตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรงดี ฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

ราชเสวกต้องเป็นคนฉลาดในราชกิจ อันพระราชาตรัสใช้กลางวันหรือกลางคืนก็ตาม ไม่พึงหวาดหวั่นในการกระทำราชกิจนั้นๆ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ทางใดที่เขาตกแต่งไว้เรียบร้อยดี สำหรับเสด็จพระดำเนินถึงพระราชาทรงอนุญาต ราชเสวกก็ไม่ควรเดินโดยทางนั้นราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

ราชเสวกไม่พึงบริโภคสมบัติที่น่าใคร่ ทัดเทียมกับพระราชาในกาลไหนๆ ควรเดินหลังในทุกสิ่งทุกอย่าง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกไม่ควรใช้สอยประดับประดาเสื้อผ้า มาลา เครื่องลูบไล้ ทัดเทียมกับพระราชา ไม่พึงประพฤติอากัปกิริยา หรือพูดจาทัดเทียมกับพระราชา ควรทำอากัปกิริยาเป็นอย่างหนึ่ง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับหมู่อำมาตย์ อันพระสนมกำนัลในเฝ้าแหนอยู่ เสวกามาตย์เป็นคนฉลาด ไม่พึงกระทำการทอดสนิทในพระสนมกำนัลใน ราชเสวกไม่ควรเป็นคนฟุ้งซ่าน ไม่คะนองกายวาจา มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ สมบูรณ์ด้วยการตั้งใจไว้ดี ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

ราชเสวกไม่ควรเล่นหัว เจรจาปราศรัยในที่ลับกับพระสนมกำนัลใน ไม่ควรถือเอาทรัพย์จากพระคลังหลวง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกไม่พึงเห็นแก่การหลับนอนมากนัก ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกไม่พึงขึ้นร่วมพระตั่ง ราชบัลลังก์ พระราชอาสน์ เรือและรถพระที่นั่ง ด้วยอาการทนงตนว่าเป็นคนโปรดปราน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกต้องเป็นผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา

ไม่ควรเฝ้าให้ไกลนักใกล้นัก ควรยืนเฝ้าพอให้ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นถนัด ในสถานที่ที่พอจะได้ยินพระราชดำรัสเบื้องพระพักตร์ของพระราชา ราชเสวกไม่ควรทำความวางใจว่า พระราชาเป็นเพื่อนของเรา พระราชาเป็นคู่กันกับเรา พระราชาทั้งหลายย่อมทรงพระพิโรธได้เร็วไวเหมือนนัยน์ตาอันผงกระทบ ราชเสวกไม่ควรถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต พระราชาทรงบูชา ไม่ควรเพ็ดทูลถ้อยคำหยาบคายกะพระราชาซึ่งประทับอยู่ในราชบริษัท

ราชเสวกผู้ได้รับพระราชทานพระทวารเป็นพิเศษ ก็ไม่ควรวางใจในพระราชาทั้งหลาย พึงเป็นผู้สำรวมดำรงตนไว้เพียงดังไฟ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงยกย่องพระราชโอรส หรือพระราชวงศ์ด้วยบ้าน นิคม แว่นแคว้น หรือชนบท ราชเสวกควรนิ่งดูก่อน ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษ

พระราชาจะทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่กรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรมเดินเท้า ตามความชอบในราชการของเขา ราชเสวกไม่ควรทัดทานเขา ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกผู้เป็นนักปราชญ์ พึงโอนไปเหมือนคันธนู และพึงไหวไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ มีปัญญาเครื่องรักษาตน แกล้วกล้า ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงนัก ซึ่งเป็นเหตุให้สิ้นเดช ผู้สิ้นเดชย่อมได้ ประสบโรคไอมองคร่อ ความกระวนกระวาย ความอ่อนกำลัง ราชเสวก ไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งทุกเมื่อ เมื่อถึงเวลาพึงเปล่งวาจาพอประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระเทียบ เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่ควรพูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาบิดา พึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในสกุล มีวาจาอ่อนหวาน กล่าววาจากลมเกลี้ยง ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้ได้รับแนะนำดีแล้ว มีศิลปะ ฝึกฝนแล้ว เป็นผู้ทำประโยชน์ เป็นผู้คงที่ อ่อนโยน ไม่ประมาท สะอาดหมดจด เป็นคนขยัน ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้มีความประพฤติอ่อนน้อม มีความเคารพยำเกรงในท่านผู้เจริญ เป็นผู้สงบเสงี่ยม มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเว้นให้ห่างไกลซึ่งทูตที่ส่งมาเกี่ยวด้วยความลับ พึงดูแลแต่เจ้านายของตน ไม่ควรพูด (เรื่องลับ) ในสำนักของพระราชาอื่น

ราชเสวกพึงเข้าหาสมาคมกะสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกเมื่อได้เข้าหาสมาคมกะสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีลเป็นพหูสูตแล้ว พึงสมาทานรักษาอุโบสถศีล โดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงบำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูต ด้วยข้าวและน้ำ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกผู้หวังความเจริญ แก่ตน พึงเข้าไปสมาคมคบหากะสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูต มีปัญญา

ราชเสวกไม่พึงทำทาน ที่เคยพระราชทานในสมณพราหมณ์ให้เสื่อมไป

อนึ่ง เห็นพวกวณิพกซึ่งมาในเวลาพระราชทาน ไม่ควรห้ามอะไรเลย ราชเสวกพึงเป็นผู้มีปัญญา สมบูรณ์ด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดราชกิจ รู้จักกาล รู้จักสมัย ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท มีปัญญาสอดส่องพิจารณาในการงานที่ตนพึงทำ จัดการงานให้สำเร็จด้วยดี ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้

อนึ่ง ราชเสวกพึงไปตรวจตราดูลานข้าวสาลีปศุสัตว์และนาเสมอๆ พึงตวงข้าวเปลือกให้รู้ประมาณแล้ว ให้เก็บไว้ในฉาง พึงนับบริวารชนในเรือนแล้ว ให้หุงต้มพอประมาณ ไม่ควรตั้งบุตรธิดา พี่น้อง หรือวงศ์ญาติ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลให้เป็นใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง คนเหล่านั้น เป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว แต่เมื่อเขาเหล่านั้นมาหาถึงสำนัก ก็ควรให้ผ้านุ่งผ้าห่มและอาหาร ควรตั้งพวกทาสหรือกรรมกร ผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล เป็นคนขยันหมั่นเพียร ให้เป็นใหญ่.

ราชเสวกพึงเป็นผู้มีศีล ไม่โลภมาก พึงประพฤติตามเจ้านาย ประพฤติประโยชน์แก่เจ้านาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้รู้จักพระราชอัธยาศัย และพึงปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ไม่ควรประพฤติขัดต่อพระราชประสงค์ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงก้มศีรษะลงชำระพระบาท ในเวลาผลัดพระภูษาทรง และในเวลาสรงสนาน แม้จะถูกกริ้วก็ไม่ควรโกรธตอบ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้

บุรุษผู้หวังความเจริญแก่ตน พึงกระทำอัญชลีในหม้อน้ำ และพึงกระทำประทักษิณนกแอ่นลม อย่างไรเขาจักไม่พึงนอบน้อม พระราชาผู้เป็นนักปราชญ์สูงสุด พระราชทานสมบัติอันน่าใคร่ทุกอย่างเล่า เพราะพระราชาทรงพระราชทานที่นอน ผ้านุ่งผ้าห่ม ยวดยาน ที่อยู่อาศัยบ้านเรือน ยังโภคสมบัติให้ตกทั่วถึง เหมือนมหาเมฆยังน้ำฝนให้ตก เป็นประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั่วไป ฉะนั้น

ดูกรเจ้าทั้งหลาย นี้ชื่อว่าราชวัสดี เป็นอนุศาสน์สำหรับราชเสวก นรชนประพฤติตาม ย่อมยังพระราชาให้โปรดปราน และย่อมได้การบูชาในเจ้านายทั้งหลาย (นี้) ชื่อราชวัสดี[27]

ข้อความในวิธูรชาดกนี้ เป็นปฏิปทาของราชาปราชญ์ที่แท้จริง ซึ่งเป็นผู้ปกครองรัฐในอุดมคติ เมื่อทั้งพระราชา ผู้ปกครอง ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชประพฤติธรรม ราษฎรย่อมอยู่เป็นสุข อีกทั้งเป็นข้อปฏิบัติของข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด ซึ่งเป็นผู้ใช้พระราชอำนาจตามที่พระราชาทรงมอบหมาย ต้องมีคุณธรรม ประพฤติธรรม การใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองรัฐย่อมเป็นไปโดยธรรม เพราะผู้ใช้อำนาจมีคุณธรรม ย่อมใช้อำนาจโดยธรรม ความยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ประชาชนทั้งปวง

ปฏิปทาของพระราชาที่ปรากฏในจักกวัตติสูตร

พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงประทับ ณ พระนครมาตุลา แคว้นมคธ ได้ตรัสเล่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปฏิปทาของพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า ทัฬหเนมิ ผู้ทรงบริบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ ซึ่งเป็นสิ่งที่มอบเป็นมรดกแก่กันไม่ได้ เกิดขึ้นเพราะวัตรปฏิบัติ หรือปฏิปทาอันประเสริฐ ที่เรียกว่า จักกวัติวัตร ในจักกวัตติสูตรได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งประกอบด้วยหลัก 12 ประการ คือ

1. ยึดหลักธรรมในการปกครอง ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนและหมู่สัตว์ทั้งหลาย ไม่ยอมให้ข้าราชบริพารปฏิบัติเป็นธรรมแก่ประชาชน

2. ปกครองฝ่ายในโดยธรรม ได้แก่ ให้ความเป็นธรรมแก่พระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา

3. ให้ความเป็นธรรมแก่กำลังพลหรือกองทหาร

4. ให้ความคุ้มครองโดยธรรมแก่ราชวงศ์และกษัตริย์ในประเทศราชทั้งหลาย

5. ให้ความคุ้มครองโดยธรรมแก่ข้าราชบริพารผู้ติดตามใกล้ชิด

6. ให้ความคุ้มครองรักษาโดยธรรมแก่ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณความรู้ และคฤหบดีทั้งหลาย

7. ให้ความคุ้มครองโดยธรรมแก่ประชาชนโดยทั่วถึง ทั้งในเมืองและชนบทโดยเสมอภาค

8. ให้ความคุ้มครองโดยธรรมแก่สมณะพราหมณ์

9. ให้ความคุ้มครองแก่สัตว์สงวน เช่น เนื้อและนก

10. ป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้าย หรือผู้กระทำทุจริตประพฤติมิชอบ ที่ก่อให้ความเดือดร้อนแก่ประชาชน

11. กระจายรายได้ให้ประชาชนและให้ความสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ อย่างทั่วถึง

12. มีที่ปรึกษาที่ดี มีความรู้ ความสามารถ ประกอบด้วยคุณธรรม สามารถให้คำปรึกษาแนะนำที่ถูกต้องดีงาม สิ่งที่เป็นคุณ เป็นโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติตาม

การจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้นั้น จะต้องให้ความสำคัญในการบริหารประเทศให้ครบทุกด้าน ถ้าให้น้ำหนักเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจอื่นๆ ก็จะตามมาเช่นกัน เมื่อทรงเน้นเฉพาะการปกครอง คุ้มครองรักษาประชาชนโดยธรรม แต่ไม่ทรงดูแลด้านเศรษฐกิจ ไม่พระราชทานทรัพย์ ไม่สงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ความยากจนก็จะเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เมื่อประชาชนยากจนเดือดร้อนจนทนไม่ไหว ก็จะเกิดโจรผู้ร้ายปล้นจี้ไปทั่ว ต้องทำการปราบปรามอย่างรุนแรง ยิ่งปราบปรามรุนแรง โจรผู้ร้ายก็ยิ่งมากขึ้นทวีคูณ และมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้น นี้เป็นผลจากการไม่ดูแลจัดการทางด้านเศรษฐกิจ จากการไม่สงเคราะห์ผู้ยากไร้ จากการไม่กระจายรายได้ไปสู่ประชาชน สังคมจึงมากไปด้วยคนยากจน มากไปด้วยโจรผู้ร้าย และใช้ศัตราวุธที่รุนแรงฆ่ากัน เต็มไปด้วยการโกหกหลอกลวงเพื่อการเลี้ยงชีพ ไม่มีใครเชื่อถือไว้วางใจใคร กลียุคก็เกิดขึ้น นำความหายนะมาสู่ราชอาณาจักรและประชาชน[28]

จะเห็นได้ว่า หลักคำสอนในจักกวัตติสูตร เป็นนโยบายที่ทันสมัยในการบริหารประเทศ ทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม โดยธรรมเป็นหลักการสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จ นโยบายในแต่ละด้านนั้น จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองไปทุกด้านพร้อมๆกัน จะให้น้ำหนักนโยบายด้านใดด้านหนึ่ง โดยไม่ให้ความสำคัญด้านอื่นๆ ไม่ได้ และที่สำคัญที่สุด ผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองจะต้องมีคุณธรรม ประพฤติธรรม ในรูปแบบธรรมาภิบาล จึงจะทำให้บรรลุเป้าหมาย คือ ประโยชน์สุขในการอยู่ร่วมกันในสังคม

ปฏิปทาของพระราชาที่ปรากฏในธัมมิกสูตร

พระพุทธองค์ทรงแสดงปฏิปทาของพระราชา ของข้าราชการ พราหมณ์และคฤหบดี ชาวเมืองและชาวชนบทผู้ไม่ประพฤติธรรมและประพฤติธรรม จะมีผลต่างกันในธัมมิกสูตร ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พวกข้าราชการ ก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบท ก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอเมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไม่สม่ำเสมอ เมื่อลมพัดไม่สม่ำเสมอ ลมก็เดินผิดทางไม่สม่ำเสมอ ย่อมพัดเวียนไป เมื่อลมเดินผิดทางไม่สม่ำเสมอพัดเวียนไป เทวดาย่อมกำเริบ เมื่อเทวดากำเริบฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาลเมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลายมนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกไม่เสมอกัน ย่อมเป็นผู้มีอายุน้อย มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีอาพาธมาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ข้าราชการก็ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อข้าราชการตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบท ก็ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนสม่ำเสมอกัน หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรหมุนเวียนสม่ำเสมอ คืนและวันก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอกัน เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนสม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไปสม่ำเสมอกัน ลมย่อมพัดสม่ำเสมอ เมื่อลมพัดสม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไปถูกทาง เมื่อลมพัดไปถูกทาง เทวดาย่อมไม่กำเริบ เมื่อเทวดาไม่กำเริบ ฝนย่อมตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าก็สุกเสมอกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวกล้าที่สุกเสมอกัน ย่อมมีอายุยืน มีผิวพรรณดี มีกำลัง และมีอาพาธน้อย ฯ

เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปคด โคเหล่านั้นย่อมไปคดทั้งหมด ในเมื่อโคผู้นำไปคด ในมนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม ประชาชนนอกนี้ก็จะประพฤติอธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้นทั้งหมดจะได้ประสบความทุกข์ ถ้าพระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปตรง โคเหล่านั้นย่อมไปตรงทั้งหมด ในเมื่อโคผู้นำไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม ประชาชนนอกนี้ย่อมประพฤติธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้นทั้งหมดย่อมได้ประสบความสุข ถ้าพระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม[29]

จากข้อความในพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่า ความประพฤติของผู้นำและผู้ตามเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปกครอง ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันส่งผลกระทบต่อความสงบสุขโดยรวม มีผลเกี่ยวเนื่องกันเป็นวัฏจักร ไม่ขาดสาย

ปฏิปทาของพระราชาในรูปแบบการปกครองอภิชนาธิปไตย หรือสามัคคีธรรม

ปฏิปทาของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมในรูปแบบอภิชนาธิปไตยหรือสามัคคีธรรม นอกจากจะดำเนินตามปฏิปทาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แก่กษัตริย์ลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี ขณะที่พระองค์ทรงประทับอยู่ที่สารันททเจดีย์ ใกล้กรุงเวสาลี คือ หลักการปกครอง “อปริหานิยธรรม” ธรรมเป็นเหตุไม่ให้เสื่อม มีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว ซึ่งมีเนื้อความดังนี้

1. ประชุมกันเนืองนิตย์

2. เมื่อประชุมกันก็พร้อมกันประชุม เมื่อเลิกก็พร้อมกันเลิก และกระทำกิจที่ควรทำ

3. จักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติ จักไม่ตัดรอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ยอมรับศึกษาในธรรมของชาววัชชีตามที่บัญญัติไว้แล้ว

4. จักเคารพนับถือชาววัชชีที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า

5. จักไม่ข่มเหงสตรีที่มีสามีแล้วและสตรีสาว

6. จักสักการะเคารพสิ่งที่ควรบูชาเคารพสักการะของชาววัชชี

7. จักจัดแจงให้การอารักขาคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ และปรารภให้พระอรหันต์ที่ยังไม่ได้มาได้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข[30]

ข้อปฏิบัติ 7 ประการนี้ มิใช่เหมาะสำหรับผู้ปกครองแบบอภิชนาธิปไตยหรือสามัคคีธรรมเท่านั้น ยังเหมาะกับการปกครองในรูปแบบอื่นๆ ที่ถือเป็นหลักการสำคัญของผู้บริหารทั้งปวงควรใส่ใจ นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ย่อมจะนำความเจริญก้าวหน้า ประสบผลสำเร็จ ก่อให้เกิดประโยชน์ตามที่มุ่งหวังได้

นอกจากข้อปฏิบัติในอปริหานิยธรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงวิหารธรรมแก่พระเจ้ามหานามศากยะ และพระเจ้านันทิยศากยะ แห่งอาณาจักรสักกะ ผู้ทูลถามถึงปฏิปทาข้อปฏิบัติที่จะทำให้อยู่เป็นสุข ซึ่งประกอบไปด้วย วิหารธรรม 5 ประการ ดังนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีสมาธิ และเป็นผู้มีปัญญา

และเจริญธรรมที่ยิ่งขึ้นอีก 6 ประการ คือ ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ เป็นผู้มีศีล มีจาคะ และระลึกถึงคุณธรรมของเทวดา คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา[31]

ปฏิปทาของผู้ปกครองแบบอภิชนาธิไตยหรือสามัคคีธรรมดังกล่าวข้างต้น เป็นปฏิปทาที่เหมาะกับการปกครองทุกรูปแบบ นอกจากการปกครองบริหารจัดการรัฐแล้ว ยังสามารถใช้ได้ในองค์กรรูปแบบอื่นๆอีก เพราะสามารถประชุมแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องอย่างได้ทันท่วงที ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เคารพและให้เกียรติ์แก่ผู้อาวุโส ยึดมั่นในหลักการที่ดีงามที่เคยดำเนินมาแล้ว และยึดมั่นในคุณธรรมในการอยู่ร่วมกัน

จากข้อความที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆ จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมทั้งราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย หรือสามัคคีธรรม ในฐานะที่อยู่เหนือผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง คือ เกี่ยวข้องในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ เป็นศาสดา ผู้เป็นที่พึ่งสรณะ ให้การเกื้อหนุนการปกครอง “ราชาปราชญ์” และ “ธรรมราชา” สำหรับกษัตริย์ผู้ปกครอง เป็น “ธรรมราษฎร์” สำหรับผู้ถูกปกครอง และทรงทำรัฐให้เป็น “ธรรมรัฐ” โดยปกครองบริหารแบบ “ธรรมาภิบาล” เพื่อให้ทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการอยู่ร่วมกันในรัฐ คือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสงบสุขทั้งกายและใจ ทั้งนี้ทรงแนะนำให้ดำเนินนโยบายทางการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ให้ประกอบด้วยธรรม ทรงสั่งสอนจริยธรรมทางการเมืองที่ควรประพฤติปฏิบัติแก่ผู้ปกครอง และทรงสั่งสอนศีลธรรม จริยธรรม แก่ผู้ถูกปกครอง ให้มีธรรมเป็นกรอบปฏิบัติในการดำเนินชีวิต รูปแบบการปกครอง ผู้ปกครอง ผู้ถูกปกครอง ไม่ว่าแบบใด ถ้าประพฤติธรรม มีธรรมเป็นประทีปส่องมรรคาวิถีแล้ว ผู้ปกครอง ผู้ถูกปกครอง การปกครองแบบนั้น ย่อมเป็นแบบที่ดีที่สุด เพราะจะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด บรรลุเป้าหมายในการอยู่ร่วมกัน ถ้าตรงกันข้าม ก็จะเป็นผู้ปกครอง รูปแบบการปกครอง ที่เลวที่สุด ซึ่งนำความทุกข์เข็ญมาสู่อาณาประชาราษฎร์มากที่สุด การปกครองรูปแบบที่มีธรรมเป็นแนวทางในการปฏิบัติ จะก่อให้เกิดระบบการปกครองแบบราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย หรือสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของประชาชน รูปแบบใดที่ปฏิเสธธรรม การปกครองรูปแบบนั้น ก็จะเป็นการปกครองแบบทรราช หรือทุชนาธิปไตย หรือคณาธิปไตย ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของใครๆ ดังนั้นรูปแบบการปกครองที่พึงประสงค์ในทัศนะของพระพุทธศาสนาก็คือ “ธรรมาธิปไตย” ผู้ปกครองที่ประพฤติธรรม ทรงธรรม ปกครองโดยธรรม คือ “ราชาปราชญ์” หรือ “ธรรมราชา” นั่นเอง



[1] จรูญ สุภาพ, ศ., “หลักรัฐศาสตร์” ฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ ครั้งที่ 2., (กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด : 2522) หน้า 398.

[2] ทินพันธ์ นาคะตะ, ดร., “รัฐศาสตร์ ทฤษฎีความคิด ปัญหาสำคัญ และแนวทางศึกษาวิเคราะห์ทางการเมือง”, (กรุงเทพฯ พิมพ์โดยสมาคมรัฐประศาสนศาตร์ นิด้า ครั้งที่ 4 : 2541) หน้า 198.

[3] ประสาร ทองภักดี, พ.ท., “หลักการปกครอง” (หลักรัฐศาสตร์)” (กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต : 2525) หน้า 104.

[4] วรรณา เจียมศรีพจน์, ผศ., “การเมืองเบื้องต้น” (กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ : 2531) หน้า 227.

[5] วรรณา เจียมศรีพงษ์, ผศ., อ้างแล้วเชิงอรรถที่4., หน้า 211.

[6] จรูญ สุภาพ, ศ., อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 1., หน้า 398.

[7] วรรณา เจียมศรีพงษ์, ผศ., อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 4, หน้า 227 – 229.

[8] จรูญ สุภาพ, ศ., อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1. หน้า 402.

[9] จรูญ สุภาพ, ศ., “พัฒนาการเมืองการปกครอง” (เอกสารทางวิชาการประกอบคำบรรยาย โครงการพัฒนาการเมืองการปกครอง, ภาควิชาการปกครอง, คณะรัฐศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : 2525) หน้า 11 - 12.

[10] ทองทิพย์ วิริยะพันธ์, ชินเลขา กว้างสุขสถิตย์, และพัชรินทร์ แข็งแรง, “หลักรัฐศาสตร์” (กรุงเทพฯ, มิตรนราการพิมพ์ : 2531) หน้า 194 – 195.

[11] จรูญ สุภาพ, ศ., อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 9, หน้า 16 – 18.

[12] พระสุตตันตปิฎก, ทีฆนิกาย, ปาฏิกวรรค, เล่มที่ 11, หน้าที่ 11.

[13] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, ติกนิบาต, อุโปสถสูตร, เล่มที่ 20, หน้า 273.

[14] พระสุตตันตปิฎก, ทีฆนิกาย, ปาฏิกวรรค, เล่มที่ 11, หน้า 128.

[15] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, อัฏฐกนิบาต, เล่มที่ 23, หน้า 294 - 297.

[16] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, ติกนิบาต, เล่มที่ 20, หน้า 265.

[17] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, ปัญจกนิบาต, เล่มที่ 22, หน้า 276.

[18] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, ติกกนิบาต, เล่มที่ 20, หน้า 267.

[19] วิสุทธิมรรค, สีลนิทเทส, ปฐมภาค, หน้า 19.

[20] พระสุตตันตปิฎก, ขุททกนิกาย, ชาดก, เล่มที่ 20, หน้าที่ 13.

[21] พระสุตตันตปิฎก, ขุททกนิกาย, ชาดก, เล่มที่ 19, หน้าที่ 149.

[22] พระสุตตันตปิฎก, ทีฆนิกาย, มหาวรรค, เล่มที่ 2, หน้าที่ 160 - 182.

[23] พระสุตตันตปิฎก, ขุททกนิกาย, ชาดก ภาค 1, เล่มที่ 19, หน้าที่ 438 – 442.

[24] พระสุตตันตปิฎก, ขุททกนิกาย ชาดก, เล่มที่ 28, หน้า 240.

[25] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, จตุกกนิบาต, เล่มที่ 21, หน้า 41 – 42.

[26] พระสุตตันตปิฎก, ทีฆนิกาย, สีลขันธวรรค, เล่มที่ 9, หน้า 145 – 183.

[27] พระสุตตันตปิฎก, ขุททกนิกาย ชาดก, เล่มที่ 28, หน้า 215 – 248.

[28] พระสุตตันตปิฎก, ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, เล่มที่ 11, หน้า 35.

[29] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต, เล่มที่ 13, หน้า 86 -88.

[30] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต, เล่มที่ 23, หน้า 21.

[31] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย สัตตก – อัฏฐก – นวกนิบาต, เล่มที่ 15, หน้า 195 - 197.