รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ (Political Science in Buddhist Approach)

รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์เป็นการศึกษารัฐศาสตร์ที่มีปรากฏอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่โดยที่ศาสนาพุทธเป็นศาสนา ไม่ใช่ศาสตร์แห่งการเมืองการปกครองโดยตรง จึงไม่มีหลักทฤษฎีทางรัฐศาสตร์โดยเฉพาะ แต่เป็นคำสอนที่เกี่ยวเนื่องกับศีลธรรมและจริยธรรม ที่ทั้งผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองจะต้องประพฤติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการอยู่ร่วมกันทั้งในระดับบุคคล กลุ่ม องค์กร สังคม ประเทศชาติ นานาชาติ และมนุษยชาติทั้งมวล การศึกษาวิชา รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ จึงศึกษาโดยกำหนดกรอบแนวคิด โดยอาศัยหลักคำสอนที่มีปรากฏอยู่ในพระพุทธศาสนาที่สอดคล้องกับหลักการทางรัฐศาสตร์

รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ (Political Science in Buddhist Approach) หมายถึงความรู้เกี่ยวกับรัฐ การเมือง การปกครอง ซึ่งปรากฏอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก

ความหมายของคำว่า รัฐศาสตร์ การเมือง และ การปกครอง ในพระพุทธศาสนา

รัฐศาสตร์ (Political Science) ตามรูปศัพท์เป็นภาษาสันสกฤต ภาษาบาลี ใช้คำว่า รัฐปสาสนะ คำว่า รัฐ ในภาษาบาลีหมายถึง ราชธานี หรือ พระนคร ทั้งนี้รวมถึงทั้งด้านภูมิศาสตร์และด้านประชากรที่อยู่รวมกันภายในรัฐด้วย

คำว่า ศาสตร์ หรือ สาสนะ หมายถึง คำสอน หรือวิทยาการความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อรวมสองศัพท์เข้าด้วยกัน จึงเป็น รัฐศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์หรือคำสอนเกี่ยวกับแคว้น ประเทศ เมือง หรือนคร ซึ่งรวมถึงองค์ประกอบของรัฐ ได้แก่ พลเมือง ผู้ปกครอง อาณาเขต และอำนาจอธิปไตยด้วย

การเมือง (Politics) ในภาษาบาลี คือ รัฐกิจ หมายถึงการจัดกิจการบ้านเมือง โดยอาศัยอำนาจหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอยู่ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย คือ ผลประโยชน์ของประชาชน

การปกครอง (Government) ตรงกับคำว่า ปริหาระ หรือ บริหาร หรือจะใช้คำว่า ปสาสะ หรือ อภิปาละ หมายถึงการปกครอง การคุ้มครอง ควบคุมดูแล โดยการใช้กฎระเบียบควบคุม ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า พระธรรมวินัย เป็นเครื่องมือในการปกครอง ให้คนเป็นคนดี ถึงพร้อมด้วยความรู้ ความประพฤติ คือ พร้อมทั้งวิชาและจรณะ

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า การเมือง ซึ่งหมายถึง การแสวงหาอำนาจ การได้มาซึ่งอำนาจ ในกรอบแนวคิดทางตะวันตกนั้น การเมือง ก็คือ อำนาจ นั่นเอง โดยคำนี้ในทางพระพุทธศาสนามีศัพท์เกี่ยวข้องกับอำนาจหลายคำ เช่น วสะ อิทธิ สักกะ อานุภาวะ อินทรียะ พละ ใช้ในความหมายทั้งในรูปแบบแสดงถึงตัวอำนาจ อานุภาพของอำนาจ คุณธรรมที่ทำให้เกิดอำนาจในลักษณะต่างๆกัน เช่น

1. วสะ อำนาจที่มีความยิ่งใหญ่ เช่น วโส อิสริยัง โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก

2. อิทธิ อำนาจที่สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จ เช่น อิทธิบาท 4 ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

- ฉันทะ ความพอใจทำ

- วิริยะ พากเพียรพยายามทำ

- จิตตะ ความใส่ใจทำ

- วิมังสา ไตร่ตรองทำ

3. อานุภาวะ อำนาจ คือ ความยิ่งใหญ่ เช่น พุทธานุภาเวน ธัมมานุภาเวน สังฆานุภาเวน

4. อินทรียะ ความเป็นใหญ่ ที่เรียกว่า อินทรียะ 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นใหญ่ในหน้าที่เฉพาะของตน

5. พละ กำลังหรืออำนาจ ที่เป็นคุณธรรม เช่น

พละ 4 คือ คุณธรรมที่ทำให้เกิดอำนาจ 4 ประการ ได้แก่

- ปัญญาพละ กำลังของความรู้ทั่ว

- วิริยพละ กำลังของความเพียร

- อนวัชชพละ กำลังของความสุจริต

- สังคหพละ กำลังของการสงเคราะห์ (ทาน ปิยะวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา)

พละ 5 ได้แก่

- สัทธาพละ กำลังหรืออำนาจ คือ ศรัทธา

- วิริยพละ กำลังหรืออำนาจ คือ ความเพียร

- สติพละ กำลังหรืออำนาจ คือ สติ

- สมาธิพละ กำลังหรืออำนาจ คือ สมาธิ

- ปัญญาพละ กำลังหรืออำนาจ คือ ปัญญา

พละที่เป็นกำลังหรืออำนาจของบุคคล เช่น กษัตริย์ คือ

1. พาหาพลัง หรือกายพลังอำนาจ หรือกำลังกาย

2. โภคพลัง อำนาจหรือกำลังของ (สมบัติ) ราชสมบัติ

3. อมัจจาพลัง อำนาจหรือกำลังของข้าราชบริพาร

4. อภิสัจจพลัง อำนาจหรือกำลังของชาติตระกูล

5. ปัญญาพลัง อำนาจหรือกำลังของสติปัญญา

ส่วนพระพุทธดำรัสที่แสดงถึงอำนาจการปกครอง คือ อหัง ภิกขุสังฆัง ปริหริสสามิ เราจะปกครองสงฆ์ (หมู่คณะหรือสังคมภิกษุทั้งหมด)

และ ภิกษุทั้งหลาย ในกาลล่วงไปแห่งเรา (พระพุทธเจ้า) พระธรรมวินัยจักเป็นศาสดาของเธอ แสดงถึงกฎระเบียบและหลักการในการปกครองสงฆ์ของพระองค์

การปกครองในทางพระพุทธศาสนาจะมุ่งในการปกครอง 3 ระดับ คือ

1. ระดับต้น หมายถึงระดับตนเอง คือ ควบคุมรักษาตนเอง

2. ระดับกลาง หมายถึงระดับคนอื่น คือ สมาคม องค์กร ในการปฏิสัมพันธ์

3. ระดับสูง หมายถึงระดับสังคม ประเทศชาติ นานาชาติ และระดับโลก คือ มนุษยชาติทั้งมวล ให้ได้รับประโยชน์และความสงบสุขในการอยู่ร่วมกัน

1. ระดับตนเอง คือระดับเบื้องต้น ในการรักษาควบคุมพฤติกรรมทั้งทางกาย วาจา และใจของตนเองให้เป็นคนดี มีคุณธรรม สะอาดบริสุทธิ์จากความไม่ดีทั้งหลาย โดยการประพฤติ ภายใต้ระเบียบข้อบังคับที่จะต้องละเว้น ไม่ล่วงละเมิด และฝึกหัดขัดเกลาปฏิบัติตามหลักการเพื่อบรรลุเป้าหมาย คือ ประโยชน์สุขส่วนตนตามลำดับ ตามพระพุทธพจน์ที่ว่า บุคคลพึงยังตนให้มีคุณความดีก่อน จึงควรสอนผู้อื่นภายหลัง ยิ่งปกครองควบคุมตนเองให้เป็นคนดีมากเท่าไร ก็ยิ่งจะทำให้ตนเองมีความสุขมากยิ่งขึ้นตามลำดับขั้นของความดีเท่านั้น ทางพระพุทธศาสนาถือว่าทำให้ตนเองเกิดบารมี เป็นผู้มีบุญ คือ ผู้มีความดีในตัวเอง สะอาดทั้งทางกาย วาจา ใจ ผ่องใสจากความเศร้าหมอง คือ ความชั่ว ผลที่ได้รับ คือ ความสุขทั้งกายและใจ บารมีและบุญก่อให้เกิดอำนาจ ที่เรียกว่า อิทธิ เมื่อมีอำนาจแห่งความดี คือ หิริและโอตตัปปะแล้ว ก็สามารถปกครองควบคุมรักษาตนเองและคุณอื่นได้ทั้งโลก ตามพุทธภาษิตที่ว่า วโส อสริยัง โลเก มีอำนาจ (พลังแห่งคุณธรรม) ก็เป็นใหญ่ในโลกได้ โดยมีพระวินัยหรือศีล เป็นเครื่องป้องกันคุ้มครองกาย วาจา มีพระธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาใจ โดยฝากกาย วาจาไว้ที่พระวินัย ฝากใจไว้ที่พระธรรม

ระเบียบและวิธีปฏิบัติในการปกครองตนเอง 3 วิธี คือ

1. ศีล ควบคุมกายวาจาให้เป็นปกติ ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

2. สมาธิ รักษาคุ้มครองจิตให้ตั้งมั่นในความดีงาม

3. ปัญญา ขัดเกลาจิตใจให้เข้าถึงความดีในขั้นที่ละเอียด เพื่อสร้างพลังความคิด ฉลาด รอบรู้

ศีล เป็นกฎระเบียบที่ควบคุมปกครองรักษาพฤติกรรมทางกายและวาจาที่จะแสดงออกให้เป็นการกระทำและคำพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ถูกต้อง ดีงาม ควบคุมตนเองให้มีบุคลิกภาพหรือภาพลักษณ์ที่ดีงาม น่าเคารพนับถือ ทั้งแก่ตัวเองและคนอื่น ไม่ทำลายตัวเองโดยกิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสม ไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนคนอื่นด้วยคำพูดหรือการกระทำกักขฬะหยาบคาย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขในการอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดีในสังคม

สมาธิ เป็นการปกครอง ควบคุม รักษาจิตใจของตนเอง ให้ปราศจากความชั่ว เป็นจิตที่ดีงาม มีคุณธรรม สะอาด ผ่องใสจากสิ่งที่ไม่ดี ที่เรียกว่า กิเลส คือ ความเศร้าหมองที่มีอยู่ภายในอันเป็นเหตุให้แสดงพฤติกรรมทางกาย ทางวาจาไม่ถูกต้องดีงาม การปกครอง ควบคุม รักษาตัวเองด้วยศีล ตามที่กล่าวข้างต้น ก็เป็นวิธีการควบคุมที่ดี แต่จะดีไม่ตลอดได้ หากจิตใจยังไม่ดี ยังไม่มีการรักษาควบคุมให้มีความดีมาก ความชั่วน้อย ฉะนั้น เมื่อรักษากายวาจาแล้ว จึงต้องรักษาจิตด้วย

ปัญญา ความรู้รอบถึงสิ่งที่มีอิทธิพลอันเป็นต้นตอที่ทำให้แสดงพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจในทางที่ไม่พึงประสงค์ คือ กิเลส หรืออกุศลมูล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ แล้วพยายามขจัดขัดเกลาจิตใจทีละน้อยๆจนหมดไปในที่สุด แต่ละขณะจิตเกิดปัญญารู้เท่าทันกิเลส สามารถลดละได้ทีละน้อยๆนั้น เป็นการปกป้อง คุ้มครอง รักษาตัวเราเองให้เข้าถึงความดีที่สูงขึ้นตามลำดับ จนถึงขั้นเป็นบุคคลชั้นสูงสุด วิเศษสุดในความเป็นมนุษย์ คือ พระอริยบุคคล เป็นคนที่เป็นยอดมนุษย์ มีแต่สิ่งที่ดีงามทั้งทางกาย วาจา ใจ ไม่มีพฤติกรรมใดที่จะเป็นสิ่งชั่วร้าย แม้แต่จะคิด ซึ่งในพระพุทธศาสนา ได้จัดพระอริยบุคคลไว้เป็น 4 ระดับ คือ

1. พระโสดาบันบุคคล

2. พระสกทาคามีบุคคล

3. พระอนาคามีบุคคล

4. พระอรหันต์

2. ระดับคนอื่น คือ ระดับปฏิสัมพันธ์ในการคบหาสมาคมซึ่งกันและกันในระดับองค์การ หน่วยงาน และสถาบันทางสังคม เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการปกครอง การศึกษา ศาสนา และสันทนาการ เป็นต้น

การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น จะก่อให้เกิดอำนาจการต่อรองในผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นเสมอ ฝ่ายที่มีพลังหรืออำนาจเหนืออกว่าก็จะควบคุม หรือบังคับครอบงำให้คนอื่นยอมตาม และได้รับประโยชน์มากกว่า ในกรณีเช่นนี้ ฝ่ายที่เสียเปรียบจะได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน อันเกิดจากการถูกปกครองโดยไม่เป็นธรรม ฝ่ายที่ได้เปรียบก็จะดีใจ เหลิงในอำนาจ และจะหาทางเอาเปรียบบุคคลอื่นที่อยู่ใต้อำนาจมากขึ้น จนกลายเป็นความเคยชินในการใช้อำนาจในทางที่ผิดได้

แต่ถ้าหากบุคคลนั้นได้รับการฝึกหัดขัดเกลาตามหลักการปกครอง ควบคุม รักษาตนเองตามแนวทางพระพุทธศาสนา ผลของการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้นจะก่อให้เกิดความพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ที่ยอมให้ก็ย่อมด้วยความพอใจ ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็พอใจ คือ ประสานประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย ผลประโยชน์ลงตัว เป็นที่ยอมรับได้ ถือว่าถูกต้องชอบธรรม บรรลุเป้าหมาย คือ ประโยชน์สุขร่วมกัน

3. ระดับสังคม ซึ่งเป็นระดับสูง ได้แก่ระดับสังคมโดยกว้าง เช่น ระดับประเทศชาติ นานาชาติ ระดับโลก หรือมนุษยชาติทั้งมวล ให้ได้รับประโยชน์และความสงบสุขในการอยู่ร่วมกัน จะเห็นได้จากการที่พระพุทธองค์เมื่อทรงบำเพ็ญพระบารมีในส่วนของพระองค์เต็มเปี่ยมแล้ว ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ อันได้ชื่อว่า พระองค์ปกป้องคุ้มครองพระองค์เอง ทรงหลุดพ้นจากความไม่ดีงามทั้งหลาย คือ อาสวะกิเลสทั้งปวง เข้าถึงความดีอันสูงสุดส่วนพระองค์เองแล้ว ก็ทรงเสด็จไปบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ให้บุคคลเหล่านั้นหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวล เข้าถึงบรมสุขอันสมบูรณ์ คือ บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคล เป็นยอดของมนุษย์ โดยเริ่มแรกได้ทรงแสดงธรรมให้บุคคล 60 ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์และทรงให้อุปสมบทเป็นภิกษุ คือ พระปัญจวัคคีย์ 5 รูป พระยสะและสหาย 55 รูป รวมเป็นพระอรหันต์ 60 รูป

พระองค์ทรงส่งท่านเหล่านั้นไปเผยแพร่ความดี คือ ทำประโยชน์ให้มวลมนุษยชาติ ให้สามารถคุ้มครองรักษาตนเองให้ได้รับประโยชน์และความสุข โดยทรงประทานหลักการและอุดมการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายหลักของพระพุทธศาสนาว่า จรถ ภิกขเว จาริกัง จรมานา พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกาอนุกัมปาย ซึ่งแปล่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์แก่มวลมนุษยชาติ อันนี้ถือว่าเป็นหลักการสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา และตรัสว่า แม้เราตถาคตเองก็จะเสด็จไปอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อโปรดชฏิล 3 พี่น้อง พร้อมบริวาร 1,000 คนเหมือนกัน จะเห็นได้ว่า พระองค์และพระสาวกผู้เข้าถึงความดีอันสูงสุดแล้ว คุ้มครองรักษาตนเองในเบื้องต้น ในส่วนของพระองค์ได้แล้ว ก็บำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกโดยไม่หวังผลประโยชน์ หรือความสุขส่วนตัวตอบแทนเลย จะเห็นได้จากพระดำรัสว่า ตถาคตเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมหาชน ของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ และ เมื่อเห็นประโยชน์ตนก็ทำประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เมื่อเห็นประโยชน์ผู้อื่น ก็ทำประโยชน์ของผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เมื่อเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งประโยชน์ตนและผู้อื่น ก็พึงทำประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

จะเห็นได้ว่า การแสวงหาอำนาจ การมีและการได้มาซึ่งอำนาจ หรือบุญบารมีนั้น เกิดขึ้นจากการปกครอง ควบคุม ดูแล รักษาตนเองเป็นเบื้องต้นก่อน จากนั้นก็ใช้อำนาจบุญบารมีที่มีอยู่ในตนนั้นปกป้องคุ้มครองให้บุคคลอื่นในสังคมได้ปฏิบัติตาม **ควบคุมปกครองรักษาความสุขให้อยู่กับตัวเองได้นานเท่านั้น และช่วยเหลือบุคคลอื่นๆ ให้ได้รับประโยชน์สุข เป็นเครือข่ายแพร่วงกว้างออกไปจากตนสู่คนอื่น จากบุคคลอื่นสู่สังคม จากสังคมสู่ประเทศ สู่นานาชาติ สู่มวลมนุษยชาติ เป็นลำดับต่อเนื่องตลอดไป

ส่วนหลักการของรัฐศาสตร์ตะวันตกถือว่า อำนาจเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม มีการกระทำทางสังคม อำนาจเกิดขึ้น อำนาจมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาทุกขณะ อำนาจตามที่ว่านี้ เกิดจากภายนอก ได้มาจากการติดต่อกับบุคคลอื่น ยิ่งติดต่อมาก ก็ยิ่งเกิดพลวัตรแห่งอำนาจมากขึ้น และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อำนาจมาจากคนอื่น ให้คนอื่นยอมรับ ถ้าคนอื่นไม่ให้หรือไม่ยอมรับ อำนาจก็ไม่เกิด หรือเกิดขึ้นก็ไม่ถาวร เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายได้ทุกขณะ ตลอดเวลา เป็นลักษณะของอำนาจชั่วครั้งชั่วคราว มีการเปลี่ยนจากบุคคลหนึ่งสู่บุคคลอื่น และอื่นๆตลอดไป ซึ่งต่างจากรัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ที่ถือว่า การมีอำนาจ การได้มาซึ่งอำนาจ เกิดจากการแสวงหาอำนาจภายในตัวเอง หรือปกครองรักษาคุ้มครอง ควบคุมความดีให้เกิดขึ้นในตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อน จากนั้นก็ใช้อำนาจความดีนั้นทำประโยชน์ให้แก่บุคคล สังคม ประเทศชาติ ตลอดจนมนุษย์ทั้งมวล เป็นอำนาจที่คงที่ แน่นอน ถาวรตลอดไป

จากคำจำกัดความข้างต้น รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธ หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง การคุ้มครอง ควบคุม ดูแลตนเองและบุคคลอื่น ทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ทำให้ได้นักปกครองที่ดี (Good government) และประชากรที่ดี (Good citizen) โดยอาศัยอำนาจความดีที่เกิดจากการประพฤติตนให้มีคุณธรรม ใช้อำนาจนั้นในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในรูปแบบของการบริหารจัดการบ้านเมือง ให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก โดยปราศจากผลร้ายใดๆ เป็นที่ยอมรับและพอใจของทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งจะอำนวยประโยชน์สุขให้ทั้งตนเองและบุคคลอื่น ในการอยู่ร่วมกันในสังคมและแห่งมวลมนุษยชาติ

ความเป็นมาและความหมายของรัฐศาสตร์ตามแนวตะวันตก

รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เริ่มต้นในโลกตะวันตกในสมัยกรีกโบราณ ประมาณ 300 – 500 ปี หรือปลายศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช หรือประมาณ 2500 ปีมาแล้ว ในระยะเริ่มแรกเป็นเพียงแนวความคิดเชิงรัฐศาสตร์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง ทำให้เกิดความเป็นธรรม มีการดำรงชีวิตที่ดี สามารถบรรลุประโยชน์สุขร่วมกันของมนุษย์ในสังคม โดยหาวิธีในการจัดสรรอำนาจ และแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีและเหมาะสมที่สุดแก่ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในการบริหารและการจัดการสังคมการเมือง

แนวความคิดเชิงรัฐศาสตร์นี้ได้เริ่มเป็นรูปแบบที่มีเนื้อหาสาระเชิงวิชาการทางการเมืองอย่างมีระบบในปลายศตวรรษที่ 18 ต้นศตวรรษที่ 19 นี้เอง เป็นผลมาจากอิทธิพลของการเขียนทางประวัติศาสตร์ และอิทธิพลจากแนวความคิดเชิงปรัชญา ซึ่งเป็นรากฐานของวิชารัฐศาสตร์ในปัจจุบัน โดยมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิชาสังคมศาสตร์

ความหมายของรัฐศาสตร์

รัฐศาสตร์ตามรูปศัพท์ในทางภาษาอังกฤษใช้คำว่า Political Science มีคำที่ใช้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน และมีความหมายใกล้เคียงกันคือ Politics และ Government ซึ่งแปลว่า การเมือง และ การปกครอง

ศัพท์ทั้ง 3 มีรากศัพท์และที่มาแตกต่างกันดังนี้

จิรโชค (บรรพต) วีระสัย และคณะได้กล่าวถึงรากศัพท์เหล่านี้ว่า

คำว่า รัฐศาสตร์ที่ใช้ในภาษาอังกฤษว่า Political Science มาจากภาษาเยอรมัน คือ สตาตสวิสเซนชาฟต์ (STAATSWISENCHAFT) แปลตามตัวอักษรว่า ศาสตร์แห่งรัฐ โดยคำว่า “STAAT” แปลว่า รัฐ และ “SWISSENCHAFT” แปลว่า วิทยาการ ซึ่งเพิ่งมีขึ้นในศตวรรษที่ 18 และ 19 คือประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา

คำว่า “POLITICS” ซึ่งแปลว่า การเมืองมาจากรากศัพท์คือ “POLIS” ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า นครรัฐ เป็นการรวมตัวทางการเมืองแบบหนึ่ง ซึ่งใหญ่กว่าระดับครอบครัวหรือเผ่าพันธ์

ส่วนคำว่า “GOVERNMENT” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “KYBERNATES” แปลว่า ผู้ถือหางเสือเรือ โดยการเปรียบการเมืองการปกครองหรือรัฐบาลเป็นเสมือนเรือหรือ รัฐนาวา” (SHIP OF STATE)

ส่วนความหมายของ รัฐศาสตร์ นั้นมีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย เช่น

บรรพต วีระสัยและคณะ ได้ให้ความหมายไว้หลายนัย โดยให้คำจำกัดความดังต่อไปนี้

การเมืองหรือรัฐศาสตร์ หมายถึงการดำรงชีวิตที่ดีของสังคมหรือชุมชน โดยยกคำจำกัดความของอริสโตเติลผู้เป็นบิดาแห่งรัฐศาสตร์ว่า การเมืองได้แก่ การพยายามที่จะให้ได้มาซึ่งการดำรงชีวิตที่ดี (Good Life) ของสังคมหรือชุมชน

การศึกษาเรื่องการเมืองหรือรัฐศาสตร์ ได้แก่ การเรียนรู้เกี่ยวกับอิทธิพลและผู้มีอิทธิพล

รัฐศาสตร์ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง คือในเรื่องการสถาปนารัฐและการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา

การเมืองศึกษาความสัมพันธ์ของมนุษย์ในเรื่องการบังคับบัญชา และถูกบังคับบัญชา การควบคุมและการถูกควบคุม การเป็นผู้ปกครองและถูกปกครอง

การเมืองหรือรัฐศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นที่มีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับผลประโยชน์ของคนหมู่มาก ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการที่เกิดขึ้น และการขจัดข้อขัดแย้งให้หมดไป

ศาสตราจารย์โวลิน (S.S. Wolin, 1960: 10 – 11) ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับการเมืองหรือรัฐศาสตร์ไว้ดังนี้

การเมืองเป็นกิจกรรมที่มีจุดสนใจอยู่ที่การแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการแข่งขันในระดับบุคคล กลุ่มคนต่อกลุ่มคน และสังคมต่อสังคม

การเมืองเป็นกิจกรรมซึ่งเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นในสภาพที่ค่อนข้างขาดแคลน

การเมืองเป็นกิจกรรมซึ่งเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์ อันมีผลสะท้อนต่อคนหมู่มาก

ตามคำนิยามของศาสตราจารย์โวลินนี้ บรรพต วีระสัยและคณะเห็นว่า เป็นคำจำกัดความของการเมืองหรือรัฐศาสตร์ที่น่าจะสมบูรณ์ที่สุด เพราะสามารถครอบคลุมได้ใน 3 ระดับ ได้แก่

1. ระดับกลุ่ม ได้แก่ สมาคม หน่วยงาน สหพันธ์ สันนิบาต องค์การ ชมรม ชุมชน ฯลฯ

2. ระดับชาติ เกี่ยวกับสังคมทั้งสังคม เช่น ในเรื่องการเลือกตั้ง การแต่งตั้งรัฐมนตรี

3. ระดับนานาชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมหนึ่งต่ออีกสังคมหนึ่ง คือ ระดับ การเมืองระหว่างประเทศ หรือการเมืองระดับโลก (World Politics) ได้แก่ การทูต การเจรจาสันติภาพ การมีองค์การระหว่างประเทศ การสงคราม

ทินพันธุ์ นาคะตะ ได้สรุปความหมายของวิชารัฐศาสตร์หรือศาสตร์ทางการเมืองไว้ว่า เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งต่างๆหลายอย่าง ซึ่งได้แก่ รัฐ สถาบันการปกครอง อำนาจ การตัดสินตกลงใจ หรือนโยบายสาธารณะ ระบบการเมือง และการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าเพื่อสังคม

ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ ได้สรุปความหมายไว้ว่า

การเมืองหมายถึงผลประโยชน์ (Interest) ทั้งนี้ก็เพราะอำนาจ (Power) หรืออิทธิพล (Influence) ก็คือผลประโยชน์ของมนุษย์นั่นเองโดยธรรมชาติจึงเป็นสัตว์แห่งผลประโยชน์ (Animal of Interest) และผลประโยชน์ย่อมครอบคลุมไปถึงผลประโยชน์ทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมก็ตาม

การเมืองก็คือ อำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ คำจำกัดความที่ว่า รัฐศาสตร์คือการศึกษาว่าด้วยการเมือง” (Political Science is the Science of Politics) จึงเท่ากับเป็นการศึกษาว่าด้วยอำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ ด้วยนั่นเอง โดยที่การเมืองเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของมนุษย์ (Human Nature) ผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติก็คือการรวมตัวกันเป็นรัฐ (State) รัฐจึงประกอบด้วยกลุ่มของมนุษย์ (A Group of Human Beings) หรือประชากร (Population) อาณาเขตที่กำหนดไว้แน่นอน (A Fixed Territory) รัฐบาล (Government) และอำนาจอธิปไตย (Sovereignty)

ด้วยเหตุนี้ รัฐศาสตร์จึงอาจหมายถึง ศาสตร์แห่งรัฐ” (Science of States) และ ศาสตร์แห่งรัฐบาลหรือการปกครอง” (Science of Government) อีกด้วย เพราะทั้ง รัฐ และ รัฐบาลล้วนเป็นผลประโยชน์ของมนุษย์ที่มารวมกันเป็นรัฐนั่นเอง

สุขุม นวลสกุลและคณะ ได้ให้ความหมายไว้ว่า

คำว่าการเมือง” (Politics) และการปกครอง (Government) นั้นมีความหมายทางรัฐศาสตร์แตกต่างกัน การเมืองหมายถึงเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันเพื่อหรือการแสวงหาอำนาจซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งสังคมหรือส่วนใหญ่ของสังคม ส่วนการปกครองมีความหมายเกี่ยวกับบริหารวางระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับสังคมเพื่อให้สังคมมีความสงบสุข อย่างไรก็ตาม การเมืองและการปกครองก็มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เพราะการปกครองหรือการบริหารวางระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดการบำบัดทุกข์บำรุงสุขนั้น จำเป็นต้องอาศัยอำนาจคือการเมืองจึงจะดำเนินการได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องการเมืองการปกครองจึงหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับองค์กรที่ใช้อำนาจและระเบียบกฎเกณฑ์การบริหาร

จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่า การเมืองหรือรัฐศาสตร์นั้น หมายถึง การแสวงหาอำนาจและการได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อจัดการผลประโยชน์ของคนหมู่มากให้บรรลุเป้าหมายแห่งการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมทุกระดับเพื่อให้เกิดผลดีมากที่สุด และเกิดผลเสียหายน้อยที่สุด โดยใช้อำนาจนั้นในรูปแบบของการปกครอง การบริหาร การจัดการ ทั้งในระดับกลุ่ม ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

ความแตกต่างระหว่างรัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์กับรัฐศาสตร์ตามแนวคิดตะวันตก

หลักการทางรัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์และรัฐศาสตร์ตามแนวคิดตะวันตกตามความหมายดังกล่าวข้างต้นนั้น จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การทำให้ประชาชนที่อยู่ร่วมกันภายในรัฐได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยการใช้อำนาจในการบริหารจัดการผลประโยชน์ของสมาชิกที่อยู่ร่วมกันในสังคมให้ลงตัว สมประโยชน์ เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย โดยการจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ก่อให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด หรือไม่ให้เกิดผลเสียเลย อย่างไรก็ตาม ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างมากในการแสวงหาอำนาจ การได้มาซึ่งอำนาจ การใช้อำนาจ และผลของการใช้อำนาจในการปกครอง บริหารจัดการผลประโยชน์ทางสังคมระหว่างรัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์และรัฐศาสตร์ตามแนวคิดตะวันตก

รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์

1. การแสวงหาอำนาจ การได้มาซึ่งอำนาจ แสวงหาจากตัวเอง ได้มาเพราะพฤติกรรมที่ตัวเองกระทำ เกิดขึ้นจากการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อำนาจเกิดจากการที่ตัวเองประพฤติคุณธรรม ตั้งอยู่ในคุณธรรม ได้แก่ การปกครองหรือฝึกฝนตนเองตามหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า บุคคลพึงยังตนให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมอันสมควรเสียก่อน แล้วพร่ำสอนบุคคลอื่นในภายหลัง บัณฑิตประพฤติตนอย่างนี้ จึงไม่เศร้าหมอง และ ถ้าสอนผู้อื่น ฉันใด พึงทำตน ฉันนั้น ผู้ฝึกตนดีแล้ว จึงควรฝึกผู้อื่น ฝึกตนได้ยากกว่าฝึกผู้อื่น และ บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง การแสวงหาอำนาจ (ความดี) และการได้มาซึ่งอำนาจ (ความดี) จึงเกิดประโยชน์สุขให้แก่ตัวเองเป็นเบื้องต้น มีความสุข ไม่เดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและสังคม

2. การใช้อำนาจตามแนวพุทธศาสตร์โดยวิธีการบำเพ็ญประโยชน์แก่บุคคลอื่น เกื้อกูลแก่มหาชน ในการปฏิสัมพันธ์กับมวลชน อำนาจของคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวผู้ใช้บวกกับอำนาจที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น คือ ความต้องการผลประโยชน์เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทั้งสอง จะลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบ ได้รับการตอบสนองเป็นที่พอใจแบบสมประโยชน์อย่างเต็มที่ นั่นก็คือฝ่ายผู้ใช้อำนาจก็มีเป้าหมายเพื่ออำนวยให้เกิดประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่นอยู่แล้ว อีกฝ่ายก็ต้องการผลประโยชน์และความสุขตามความต้องการของตัวเอง เป้าหมายจึงบรรลุผลได้ด้วยดี ฝ่ายผู้ให้ก็พอใจ ฝ่ายผู้รับก็ดีใจ จึงเป็นการใช้อำนาจโดยปราศจากผลร้ายใดๆ

3. ผลของการใช้อำนาจ เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสังคม แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยสันติวิธี โดยความสมัครใจและเต็มใจ เป็นการเปลี่ยนแบบถาวร และการเปลี่ยนแปลงเป็นที่ยอมรับของสังคมว่า จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ใครๆ

4. วัตถุประสงค์ของการใช้อำนาจ เกิดจากการประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งและคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์และความสุขในชีวิตทั้งปัจจุบันที่เป็นอยู่ในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้าหลังจากตายไปแล้ว และประโยชน์สูงสุด คือ ดับทุกข์ทั้งสิ้นให้หมดไป คงเหลืออยู่แต่ความสงบสุขอย่างสมบูรณ์แบบ เป้าหมายนี้มิใช่มีเพียงแต่ในหมู่มนุษย์ที่ดำรงอยู่ในโลกนี้เท่านั้น ยังรวมถึงเหล่าเทวดาในเทวโลกและพรหมโลกอีกด้วย

รัฐศาสตร์ตามแนวคิดตะวันตก

1. การแสวงหาอำนาจและการได้มาซึ่งอำนาจ เป็นการแสวงหาจากคนอื่น ให้คนอื่นยอมรับ อำนาจเกิดจากการต่อรองผลประโยชน์ จากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในเชิงบังคับให้จำยอม เช่น ในรูปแบบประชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราช อำนาจเกิดจากการบังคับคนอื่นให้ยอมรับโดยการสถาปนาตนเองให้ทุกคนยอมรับว่า อำนาจทั้งบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติอยู่ที่ผู้นำเพียงคนเดียว ถ้าไม่ยอมรับหรือเป็นปฏิปักษ์ ก็จะได้รับการลงโทษโดยเด็ดขาด อาจจะอ้างอำนาจจากพระเจ้าประทานอำนาจให้ ตามทฤษฎีเทวสิทธิ์ หรือสัญญาประชาคมว่า ประชาชนพร้อมใจกันมอบให้ ตามทฤษฎีของโธมัส ฮอบส์ ที่มอบให้แล้วให้เลย เอาคืนไม่ได้ เพื่อใช้อำนาจนั้นแบบถาวร มีความเข้มแข็งในการบังคับใช้ หรือเป็นแบบประชาธิปไตยตามทฤษฎีของจอห์น ล็อค ที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจมอบให้เป็นครั้งคราว เรียกคืนได้ตลอดเวลา ถ้าหากผู้ใช้อำนาจขัดกับความประสงค์ของเจ้าของอำนาจ รวมทั้งอำนาจเผด็จการอำนาจนิยมแบบฟาสซิสต์ หรือแบบนาซี หรืออำนาจเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ แบบคอมมิวนิสต์ การแสวงหาอำนาจจากบุคคลอื่น และได้อำนาจมาโดยใช้ความรุนแรงบีบบังคับให้ประชาชนยอมจำนนทั้งสิ้น

2. การใช้อำนาจ เป็นการใช้โดยการบังคับให้ยอมทำตาม จะด้วยความยินยอมหรือไม่ก็ตาม หากฝ่าฝืนจะต้องได้รับผลร้ายตอบแทน ต้องปฏิบัติตามด้วยความกลัว และไม่เต็มใจ เพราะแม้อำนาจนั้นจะบังคับใช้โดยถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของอำนาจนิติบัญญัติ ที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้ แต่ผู้ปฏิบัติตามก็ต้องเสียสิทธิส่วนบุคคลอยู่ดี

3. ผลของการใช้อำนาจ อาจจะเป็นผลประโยชน์ต่อผู้ปกครองฝ่ายเดียว หรือเป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมก็ได้ จากผลของการใช้อำนาจนี้ จึงเกิดการปกครองในระบบการเมืองหลายระบบ เช่น เพื่อประโยชน์ของผู้ปกครองเองก็เกิดระบบทุชนาธิปไตย ทรราชย์ คณาธิปไตย และประชาธิปไตยแบบฝูงชน ส่วนการปกครองเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ก็เกิดระบบการปกครองแบบราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย

4. วัตถุประสงค์ของการใช้อำนาจ เพียงเพื่อประโยชน์สุขในการอยู่ร่วมกันของประชากรในรัฐ ขจัดปัญหาและอุปสรรคที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขภายใจ และป้องกันภัยที่เกิดจากภายนอก

0 comments:

แสดงความคิดเห็น