บทที่ 4 รูปแบบของรัฐ (Forms of Government)

รูปแบบของรัฐหรือรูปแบบการปกครองเกิดขึ้นพร้อมกับการกำเนิดรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม ดูแล ให้ประชาชนอยู่ภายใต้อำนาจ หรือบางทีเป้าหมายก็เพื่อ ประโยชน์สุขของผู้ปกครองเองและพวกพ้อง บางทีก็เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนที่อยู่ในรัฐ ให้อยู่กันอย่างปกติสุข ทำให้สังคมมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง

รูปแบบการปกครองมีหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้นำและประชาชนว่า มีพื้นฐานทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเป็นอย่างไร ทั้งนี้จะไม่มีรูปแบบการปกครองใดเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด และใช้ได้ตลอดไป แต่เป้าหมายคือ ประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ รูปแบบใดสามารถตอบสนองเป้าหมายได้ในขณะนั้น ก็ถือว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมและมีประโยชน์แก่รัฐนั้นๆ บางทีรูปแบบหนึ่งก็เหมาะกับสังคมหนึ่ง แต่ไม่อาจใช้เป็นรูปแบบการปกครองอีกสังคมหนึ่งได้

นักปราชญ์ในทางรัฐศาสตร์ได้พยายามวางกฎเกณฑ์ค้นหารูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ก็ยังไม่พบรูปแบบดังกล่าว จึงทำให้เกิดรูปแบบการปกครองหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายทฤษฎี แต่ก็ยังไม่มีข้อยุติอยู่ดี

รูปแบบการปกครองดังกล่าวที่ว่านี้ หมายถึงรูปแบบของรัฐบาลที่ใช้อำนาจในการปกครอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในความเป็นรัฐ อันประกอบไปด้วยอาณาเขต ประชากร รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย รัฐบาลดังกล่าวคือผู้ทำหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตย เพื่อคุ้มครองควบคุมดูแลรักษาประเทศให้เกิดความสงบเรียบร้อย และประโยชน์สุขร่วมกันของประชาชน

รูปแบบการปกครองแบบต่างๆในอดีต

- เพลโต ได้ชื่อว่าเป็นบิดาวิชาทฤษฎีการเมือง ได้กำหนดรูปแบบการปกครองไว้ในปี 427 ก่อนคริสตกาล ดังต่อไปนี้

จำนวนผู้ปกครอง

รัฐที่มีกฎหมาย

รัฐที่ไม่มีกฎหมาย

คนเดียว

คนส่วนน้อย

คนส่วนมาก

ราชาธิปไตย (Monarchy)

อภิชนาธิปไตย (Aristocracy)

ประชาธิปไตย (Democracy)

ทุชนาธิปไตย (Tyranny)

คณาธิปไตย (Oligrachy)

ฝูงชน (Mob – Rule)

ในความเห็นของเพลโต การปกครองที่ดีที่สุด คือ การปกครองแบบของราชาธิปไตย หรือราชาปราชญ์ ซึ่งได้กล่าวไว้ในอุดมรัฐ หรือเลิศรัฐ และรูปแบบการปกครองที่ดีรองลงมา ได้แก่ ระบบการปกครองแบบอภิชนาธิปไตย ส่วนการปกครองที่เลวก็คือ ทุชนาธิปไตย หรือทรราชย์ และฝูงชน โดยการปกครองที่ดีนั้น ผู้ปกครองต้องประกอบไปด้วยความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม โดยยึดถือกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปกครองโดยผู้ปกครองคนเดียว ที่เรียกว่า ราชาธิปไตย หากไม่มีคุณธรรม ปกครองเพื่อประโยชน์ของตนเอง เรียกว่า ทุชนาธิปไตย หรือทรราชย์ การปกครองโดยคณะบุคคลที่มุ่งประโยชน์แก่ประชาชน โดยมีคุณธรรมเป็นบรรทัดฐาน ที่เรียกว่า อภิชนาธิปไตย ก็เป็นรูปแบบการปกครองที่ยอมรับได้ แต่ถ้าหากผู้ปกครองเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ปกครองโดยปราศจากคุณธรรม การปกครองนั้นเรียกว่า คณาธิปไตย เป็นรูปแบบที่ไม่พึงประสงค์ในความเห็นของเพลโต ส่วนการปกครองแบบประชาธิปไตย เพลโตเห็นว่าเป็นการปกครองที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการปกครองโดยผู้ปกครองใช้ฝูงชนเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งไม่เหมาะกับสภาพสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ ความรับผิดชอบ และยากจน จึงเป็นการปกครองกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในขณะนั้น

- อริสโตเติล ได้ชื่อว่า เป็นบิดาของวิชารัฐศาสตร์ ได้กำหนดรูปแบบการปกครองทั้งที่ดีและไม่ดี ดังต่อไปนี้

ก. ระบอบราชาธิปไตย (Monarchy)

ข. ระบอบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy)

ค. ระบอบโพลิตี (Polity)

ง. ระบอบทรราชย์ (Tyranny)

จ. ระบอบคณาธิปไตย (Oligarchy)

ฉ. ระบอบประชาธิปไตย (Democracy)

รูปแบบการปกครองที่ผู้ปกครองใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ถือว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดี ได้แก่ ระบอบราชาธิปไตย ระบอบอภิชนาธิปไตยและระบอบโพลิตี

รูปแบบการปกครองที่ผู้ปกครองใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก ถือว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่ดี ได้แก่ ระบอบทรราชย์ ระบอบคณาธิปไตย และระบอบประชาธิปไตย

- โธมัส ฮอบส์ ได้กำหนดรูปแบบการปกครองที่เห็นว่าดีที่สุด คือ การปกครองในรูปแบบของราชาธิปไตย ซึ่งเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 16 เรียกว่า ทฤษฎีสัญญาประชาคม โดยโธมัส ฮอบส์เห็นว่า ประชาชนเมื่อมาอยู่รวมกันเข้าเป็นสังคม ยอมสละสิทธิเสรีภาพบางประการให้แก่บุคคลที่ 3 ใช้อำนาจแทน อำนาจที่กล่าวนั้น คือ อำนาจบริหาร ตุลาการและนิติบัญญัติ ใช้ในการบริหารประเทศ อำนาจนี้เมื่อมอบให้แล้ว มอบให้เลย ไม่สามารถจะนำกลับคืนมาได้ เพราะบุคคลที่ 3 ที่ได้รับมอบอำนาจนั้นไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่จำเป็นที่จะคืนให้ประชาชน ทฤษฎีนี้ได้สนับสนุนให้เกิดรูปแบบการปกครองแบบศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ผู้นำ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความเข้มแข็ง และเด็ดขาดในการบริหารรัฐ

- จอห์น ล็อค เป็นเจ้าของทฤษฎีสัญญาประชาคม ซึ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 16 ต่อจากโธมัส ฮอบส์ แต่มีแนวคิดซึ่งแตกต่างกัน โดยเห็นว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ได้ตกลงกันทำสัญญามอบอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ให้บุคคลที่ 3 ใช้ในการบริหารประเทศแทน หากผู้รับมอบอำนาจนั้นบริหารประเทศไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เจตจำนงของเจ้าของผู้ทำสัญญา ก็สามารถจะเรียกคืนได้ และอำนาจทั้ง 3 ยังเป็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ส่วนผู้รับมอบอำนาจอธิปไตยเป็นเพียงผู้รับใช้และทำหน้าที่แทน โดยรับผลประโยชน์ตอบแทนตามกฎกติกาที่ตกลงกันไว้ และอำนาจทั้ง 3 นั้นสามารถที่จะคานอำนาจซึ่งกันและกันได้ เพื่อไม่ให้เกิดการรวบอำนาจ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของประชาชน ทฤษฎีนี้ได้ชื่อว่าสนับสนุนการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย

- ลัทธิเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนิยม ที่เรียกว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือลัทธิสังคมนิยมแนวคาร์ล มาร์กซ์ ในต้นศตวรรษที่ 19 ลัทธิประชาธิปไตยตามทฤษฎีของจอห์นเจริญสุดขีด ปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ในปี ค.ศ. 1914 1918 เป็นระยะเวลา 4 ปี หลังสงครามสงบลง ได้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ มีปัญหาการว่างงาน และความวุ่นวายทางการเมือง คาร์ล มาร์กซ์ เห็นว่าการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยไม่อาจแก้ปัญหาได้ จึงมีแนวความคิดในรูปแบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีสมมติฐานว่า ถ้าสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคมได้ ก็จะสามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยถือว่า ทุกคนมีความเสมอภาคกัน มีชนชั้นเดียวในสังคม คือ ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น แต่มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของคนในสังคม คือ พรรคคอมมิวนิสต์ ทำหน้าที่ในการบริหารเพื่อขับเคลื่อนและแบ่งปันผลประโยชน์ของคนในสังคมให้เสมอภาคกัน รูปแบบการปกครองดังกล่าวถือว่าเป็นการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม คือ ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพทั้งด้านการเมือง การปกครอง สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และอื่นๆ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลเท่านั้น

- ลัทธิเผด็จการแบบอำนาจนิยม ฟาสซิสม์ โดยมุสโสลินี ซึ่งเกิดในอิตาลีในปี ค.ศ. 1922 และลัทธินาซี โดยฮิตเลอร์ ซึ่งเกิดในเยอรมันใน ค.ศ. 1933 ถือว่าเป็นรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการแบบอำนาจนิยมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนิยม เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธินี้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนาและอื่นๆ เหมือนกับการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย แต่อำนาจทางด้านการเมืองการปกครองขึ้นอยู่กับรัฐบาล หรือที่เรียกว่าผู้นำเท่านั้น การปกครองรูปแบบนี้มีแนวความคิดว่า ประชาชนเกิดมาเพื่อรัฐ รัฐเท่านั้นจะต้องคงอยู่ ทุกคนจะต้องเชื่อฟังรัฐ ฉะนั้น อำนาจรัฐจึงถือว่าเป็นอำนาจที่เด็ดขาด ประชาชนจะต้องเชื่อฟัง

รูปแบบการปกครองในปัจจุบัน

รูปแบบการปกครองในปัจจุบันที่ใช้ในการบริหารประเทศต่างๆ มี 3 รูปแบบ คือ

1. บบประชาธิปไตย (Democracy)

2. แบบเผด็จการ (Dictatorship)

3. แบบสังคมนิยม (Socialism)

รูปแบบการปกครองตามแนวพุทธศาสตร์

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด คือ รูปแบบการปกครองที่อำนวย ประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครองรูปแบบใดก็ตาม ทั้งนี้จะสำเร็จตามเป้าหมายได้นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละรัฐ ในแต่ละยุคแต่ละสมัย รูปแบบการปกครองรูปหนึ่งอาจจะเหมาะกับสังคมในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ไม่สามารถที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารและจัดการผลประโยชน์ หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ในการปกครองสมัยพุทธกาลก็เช่นกัน รูปแบบการปกครองก็เช่นกัน รูปแบบที่เหมาะในขณะนั้นขึ้นอยู่กับสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมในขณะนั้น

การปกครองตามแนวพุทธศาสตร์นั้น พระพุทธองค์มิได้ตรัสเกี่ยวกับการปกครองรัฐว่าควรจะเป็นรูปแบบใด แต่ทรงเน้นถึงรูปแบบการปกครองที่ทั้งที่ผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองได้รับประโยชน์มากที่สุดในการอยู่ร่วมกัน โดยทรงยึดการปกครองโดยธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งรูปแบบการปกครองในอินเดียในสมัยพุทธกาลนั้น เป็นการปกครอง 2 รูปแบบ คือ รูปแบบราชาธิปไตย และรูปแบบอภิชนาธิปไตย หรือที่เรียกว่า สามัคคีธรรม ซึ่งทั้ง 2 แบบ พระองค์ไม่ได้ทรงชี้ลงไปว่า แบบใดดีหรือไม่ดี แต่ทั้ง 2 แบบนั้น ก็เหมาะกับสภาพสิ่งแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจในขณะนั้นเช่นกัน

รูปแบบการปกครองในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาลมีสภาพทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองเป็นรูปแบบเฉพาะของสังคมในขณะนั้น คือ ชนชั้นในสังคมจะประกอบด้วย ๕ ชนชั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และจัณฑาล เป็นการแบ่งชนชั้นตามกำเนิด ซึ่งเป็นชนชั้นแบบถาวร ไม่มีการที่จะเปลี่ยนแปลงได้โดยการเลื่อนชั้นหรือสถานภาพใดๆ ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ดังปรากฏในอัคคัญญสูตร ในรูปแบบเช่นนี้ การปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย ซึ่งในปัจจุบันถือว่าดีที่สุด ย่อมจะเป็นรูปแบบที่เลวที่สุด ถ้านำไปใช้ในสมัยนั้น แต่รูปแบบที่เหมาะที่สุดกับสภาพสังคมเช่นนั้น ก็คือรูปแบบของราชาธิปไตย หรืออภิชนาธิปไตย จะเห็นได้จากสภาพการเมือง การปกครองในขณะนั้น ได้แบ่งเป็นแคว้น หรือรูปแบบของนครรัฐต่างๆ จำนวน 16 แคว้น

นครรัฐที่ปกครองรูปแบบของราชาธิปไตย จำนวน 14 รัฐ ได้แก่

1. อังคะ เมืองหลวงชื่อ จำปา อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมคธ

2. มคธ เมืองหลวง ชื่อ ราชคฤห์ เป็นอาณาจักรอินเดียตอนบน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา

3. กาสี เมืองหลวงชื่อ พาราณสี อยู่ในตอนกลางของประเทศอินเดีย หรือมัชฌิมประเทศ

4. โกศล เมืองหลวงชื่อ สาวัตถี มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มีอำนาจทางการเมืองเหนือกว่ารัฐกาสี และรัฐสักกะของศากยวงศ์

5. เจตี หรือเจติยะ เมืองหลวงชื่อ โสตถวดี อยู่ทางทิศใต้ของแคว้นวังสะ

6. วังสะ เมืองหลวงชื่อ โกสัมพี อยู่ทางทิศตะวันตกของแคว้นกาสีและอวันตี มีอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งรัฐหนึ่ง

7. กุรุ เมืองหลวงชื่อ อินทปัตถ์ อยู่ทางทิศตะวันตกของแคว้นปัญจาละ

8. ปัญจาละ เมืองหลวงชื่อ กัมปิละ อยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นกุรุ

9. มัจฉะ เมืองหลวงชื่อ วิราฏนคร อยู่ทางทิศใต้ของแคว้นสุรเสนะ

10. สุรเสนะ เมืองหลวงชื่อ มถุรา

11. อัสสกะ เมืองหลวงชื่อ โปตนะ

12. อวันตี เมืองหลวงชื่อ อุชเชนี มีอิทธิพลทางการเมือง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแคว้นมคธ

13. คันธาระ เมืองหลวงชื่อ ตักศิลา เป็นศูนย์กลางการศึกษาและวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแคว้นมคธ

14. กัมโพชะ อยู่ทางเหนือรัฐคันธาระ

นครรัฐที่ปกครองรูปแบบของอภิชนาธิปไตย หรือสามัคคีธรรม ได้แก่

1. วัชชี เมืองหลวงชื่อ เวสาลี ผู้ปกครองแคว้นมี 6 ราชวงศ์ วงศ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ ลิจฉวีแห่งเวสาลี และวงศ์วิเทหะแห่งมิถิลา

2. มัลละ เมืองหลวงชื่อ กุสินาราและปาวา อยู่ทางทิศตะวันตกของแคว้นวัชชี

ใน 16 รัฐ 2 รูปแบบการปกครอง รัฐที่ชื่อว่า เป็นมหาอำนาจ มีอยู่ 4 รัฐ คือ มคธ โกศล วังสะ อวันตี

ในการปกครองทั้ง 2 รูปแบบนี้ พระพุทธองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับทั้งผู้ปกครองและประชาชน โดยที่พระองค์ไม่ได้ทรงยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการของรัฐโดยตรง แต่พระองค์จะทรงเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะของพระศาสดา หรือครู ผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นที่พึ่งเคารพสักการะ โดยทรงแนะนำสั่งสอนพระราชาเหล่านั้นให้เป็นพระราชาที่ดี ปกครองโดยทศพิธราชธรรม และประชาชนก็เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในสัมมาปฏิบัติ เป็นพลเมืองที่ดีพร้อม

จะเห็นได้ว่า พระองค์ไม่ได้ทรงยกย่องหรือตำหนิรูปแบบการปกครองใดรูปแบบการปกครองหนึ่งว่าดีหรือเลว แต่ทรงมุ่งถึงประโยชน์สุข ที่ทั้งผู้ปกครองและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

รูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับหลักอธิปไตย 3 อย่างในพระพุทธศาสนา

รูปแบบการปกครองในปัจจุบัน สามารถเปรียบเทียบกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเรียกว่า หลักอธิปไตย 3 อย่าง ได้ดังนี้

1. อัตตาธิปไตย

2. โลกาธิปไตย

3. ธัมมาธิปไตย

อัตตาธิปไตย การปกครองโดยถือตนเป็นใหญ่ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง การปกครองนั้นก็เป็นรูปแบบการปกครองของทุชนาธิปไตย หรือทรราชย์ แต่ถ้าการปกครองนั้นเป็นการปกครองโดยยึดหลักของความชอบธรรม ผู้ปกครองประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน การปกครองนั้นเรียกว่า ราชาธิปไตย

ลกาธิปไตย การปกครองโดยยึดโลกหรือประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าสภาพสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ไม่เอื้ออำนวย ประชาชนส่วนใหญ่นั้นตกเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองที่ชาญฉลาด มีความสามารถในการปลุกระดมมวลชน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง สนับสนุนให้เป็นผู้มีอำนาจในการปกครอง การปกครองในรูปแบบนี้ถือว่าเป็นการปกครองแบบฝูงชนหรือม็อบ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นแบบประชาธิปไตย สอดคล้องกับความเห็นของเพลโตและอริสโตเติล แต่ถ้าการปกครองโดยประชาชนซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่มีสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษาเอื้ออำนวย สามารถตัดสินผิดชอบชั่วดีด้วยตนเองอย่างมีเหตุผล การปกครองนั้นก็ถือว่า เป็นการปกครองที่ดีและมีประโยชน์ สามารถสัมฤทธิ์ผลแก่ประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมได้

ธัมมาธิปไตย การปกครองที่ยึดเหตุผล ความถูกต้องชอบธรรมเป็นใหญ่ในการตัดสินใจ การปกครองในรูปแบบนี้จะเป็นการปกครองที่ดีที่สุด ทำให้การปกครองนั้นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายของการใช้อำนาจในการปกครองได้อย่างดี การปกครองนั้นก็จะเป็นรูปแบบราชาธิปไตย หรือที่เรียกว่า ราชาปราชญ์ อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย ตามลำดับ สอดคล้องกับหลักการในพระพุทธศาสนาที่ว่า ปะชาสุขัง มหุตมัง การปกครองที่มีความสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง และ พหุชน หิตาย สุขาย เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

รูปแบบการปกครองในพระพุทธศาสนา

การปกครองในพระพุทธศาสนา หมายถึง การปกครองพุทธจักรหรือการปกครองพระสงฆ์ ซึ่งเป็นรูปแบบอีกรูปแบบหนึ่ง ต่างจากรูปแบบของรัฐ โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 3 แบบ คือ

1. แบบราชาธิปไตย คือ พระองค์ทรงเป็นธรรมราชา

2. แบบประชาธิปไตย ให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการปกครองหมู่คณะ

3. แบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ให้มีความเสมอภาคกันในด้านปัจจัย 4 ของสงฆ์

แบบราชาธิปไตยหรือแบบธรรมราชา พระองค์ทรงปกครองคณะสงฆ์ด้วยพระองค์เอง ในการบริหารคณะสงฆ์ พระองค์อยู่ในฐานะสังฆบิดา ทรงปกครองเหมือนบิดาปกครองบุตร ในทางนิติบัญญัติ พระองค์ได้ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อเป็นกฎหมายในการปกครองสงฆ์ด้วยพระองค์เอง ในการใช้อำนาจตุลาการ พระองค์ก็ทรงพระวินิจฉัยลงโทษตามสมควรแก่เหตุด้วยพระองค์เองเช่นกัน ในการให้บรรพชาและอุปสมบทในระยะเริ่มแรก พระองค์ก็ทรงประทานการบรรพชาและอุปสมบทด้วยพระองค์

แบบประชาธิปไตย เมื่อมีพระสาวกเป็นจำนวนมากขึ้น พระองค์ทรงมอบอำนาจในการบริหาร การบรรพชาและอุปสมบท การทำกิจของสงฆ์ ที่เรียกว่า สังฆกรรม และการตัดสินระงับอธิกรณ์ ซึ่งเป็นอำนาจตุลาการให้แก่สงฆ์ ทำหน้าที่แทนพระองค์ โดยใช้เสียงส่วนมากเป็นเครื่องตัดสิน

แบบสังคมนิยมประชาธิปไตย เมื่อมีปัจจัย 4 เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ปัจจัยเหล่านั้นจะถือว่าเป็นของส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นเสนาสนะ ปัจจัยลาภอื่นๆ ยกเว้นบริขาร 8 ที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัว สิ่งอื่นที่เป็นปัจจัยลาภเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา จะถือว่าเป็นของสงฆ์ หรือของส่วนรวมทั้งสิ้น พระภิกษุทุกรูปเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ มีสิทธิ์ที่จะใช้สอยร่วมกัน ในบางกรณีเมื่อจะยกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จะต้องขอความเห็นชอบจากสงฆ์ เมื่อสงฆ์ให้ความเห็นชอบ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์แล้ว จึงยกให้ได้

จะเห็นได้ว่า รูปแบบการปกครองของรัฐมีหลายรูปแบบ ทั้งที่ดีและไม่ดี รูปแบบที่ดี ได้แก่ รูปแบบการปกครองแบบราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย ประชาธิปไตย ส่วนรูปแบบที่ไม่ดี ได้แก่ รูปแบบทุชนาธิปไตย หรือทรราชย์ คณาธิปไตย และการปกครองโดยฝูงชน ทั้งนี้ สิ่งที่ตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับรูปแบบใดสามารถอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนได้มากน้อยเพียงใด

ส่วนรูปแบบการปกครองในพระพุทธศาสนาไม่ได้กล่าวถึงรูปแบบของรัฐบาลโดยเฉพาะ แต่ได้กล่าวถึงเรื่องของอธิปไตย ซึ่งสามารถสงเคราะห์ได้ในรูปแบบการปกครองทั้งที่ดีและไม่ดีได้เช่นกัน เช่น อัตตาธิปไตย อาจเป็นการปกครองในรูปแบบที่เป็นราชาธิปไตย หรือเผด็จการแบบทุชนาธิปไตย หรือทรราชย์ โลกาธิปไตย อาจเป็นการปกครองที่เป็นรูปแบบของประชาธิปไตย คือ เป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนเลือกมาทำประโยชน์เพื่อประชาชน และอาจจะเป็นรูปแบบเผด็จการเสียงข้างมาก หรือรูปแบบของฝูงชนที่เรียกว่า ม็อบ ก็ได้ ธรรมาธิปไตย หมายถึง การปกครองทั้งรูปแบบราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย ทั้งนี้หมายเอาการปกครองซึ่งยึดคุณธรรมและเหตุผลเป็นที่ตั้ง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนได้โดยแท้จริง

ส่วนการปกครองในพุทธจักร มีรูปแบบการปกครองอยู่ 3 รูปแบบ คือ

1. แบบราชาธิปไตย หรือที่เรียกว่า ธรรมราชา ที่พระพุทธองค์ทรงปกครองสงฆ์ด้วยพระองค์เอง

2. แบบประชาธิปไตย ที่พระพุทธองค์ทรงมอบอำนาจให้พระสงฆ์ปกครองกันเอง โดยเอาเสียงข้างมากเป็นการตัดสินชี้ขาดในสังฆกรรมต่างๆ

3. แบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรูปแบบในการดำรงชีพในชีวิตประจำวันของพระสงฆ์สาวก มีความเสมอภาคกันในปัจจัย 4 และศาสนสมบัติทั้งหลาย เป็นของส่วนกลาง สามารถใช้สอยร่วมกัน ไม่เป็นสมบัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเสมอภาค

0 comments:

แสดงความคิดเห็น