บทที่ 3 รัฐ (State)

การจัดตั้งองค์กรทางการเมืองสืบเนื่องมาจากการที่มนุษย์รวมตัวกันขึ้นเป็นสังคม จุดเริ่มต้นของการรวมตัวเป็นสังคม คือ การรวมกลุ่มขึ้นเป็นครอบครัว จากกลุ่มครอบครัวขยายเป็นเผ่าชน หรือเป็นรูปแบบเหล่ากอ หรือโคตรตระกูล จากนั้นกลายเป็นนครรัฐ จากนครรัฐแปรสภาพเป็นจักรวรรดิ ซึ่งมีระยะเวลาคาบเกี่ยวกับนครรัฐ จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง มีการจัดองค์กรทางการเมืองเป็นรัฐประชาชาติ หรือ รัฐ” “ชาติหรือ ประเทศซึ่งเป็นการจัดรูปแบบองค์กรทางการเมืองในปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

ศัพท์ทั้ง 3 สามารถใช้แทนกันได้ บางครั้งเรียก รัฐว่า ประเทศหรือ ชาติเช่น ชาติไทย หรือประเทศไทย เป็นต้น ส่วนที่ใช้ความหมายเฉพาะแต่ละศัพท์ ซึ่งมีความโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง อาจมีความแตกต่างกัน คือ

ก. รัฐ เน้นความเป็นเอกราช หรือความเป็นอิสระที่มีอำนาจอธิปไตยทั้งภายในและภายนอก

ข. ประเทศ เน้นสภาวะทางอาณาเขต ดินแดน คือ สภาวะทางภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศนั้นๆ ว่า มีรูปลักษณะเป็นอย่างไร

ค. ชาติ เน้นเชื้อสายเผ่าพันธุ์ ตลอดจนวัฒนธรรมของประชากรในชาตินั้นๆ

ความหมายของคำว่า รัฐหมายถึง ประชากรที่มาอยู่รวมกัน ณ ที่ใดที่หนึ่งทั้งชายและหญิง เป็นระยะเวลาอันยาวนาน รวมตัวกันเข้าเป็นสังคม มีความเป็นปึกแผ่น อยู่ในอาณาเขตที่แน่นอน มีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม กฎระเบียบ ข้อบังคับ เป็นของตัวเอง มีผู้รับผิดชอบ โดยการใช้อำนาจในการปกครอง ควบคุมดูแลผลประโยชน์ของคนในสังคมให้เกิดความสงบสุขภายใน และป้องกันภัยอันตรายจากภายนอก

องค์ประกอบของรัฐ

โดยทั่วไปแล้วรัฐจะมีสภาพเป็นรัฐที่สมบูรณ์ได้ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ คือ

1. ประชากร (พลเมือง)

2. อาณาเขต หรือดินแดน

3. รัฐบาล

4. อธิปไตย

1. ประชากร (พลเมือง)

เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐ ถ้าไม่มีประชากรมีแต่อาณาเขตหรือดินแดน จะเป็นรัฐไม่ได้ ประชากรอาจจะเป็นสมานรูป คือ มีเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรมเป็นอันเดียวกัน เช่น ไทย เขมร เวียดนาม ญี่ปุ่น เป็นต้น หรือจะเป็นประชากรแบบพหุสังคม คือ หลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม รวมอยู่ในรัฐเดียวกันก็ได้ ส่วนจำนวนนั้นจะมากน้อยแตกต่างกันออกไป ไม่แน่นอน ในยุคกรีกโบราณ เพลโต กำหนดจำนวนประชากรที่เหมาะสมที่สามารถบริหารจัดการได้ดี ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยคือ 5,040 คน แต่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) จำนวนประชากรในโลกมีประมาณ 6,900 ล้านคน ประเทศที่มีจำนวนมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ประเทศจีน ประมาณ 1,300 ล้านคน ประเทศอินเดีย 1,100 ล้านคน สหรัฐอเมริกา 275 ล้านคน เป็นต้น

ข. อาณาเขตหรือดินแดน

รัฐจะมีแต่ประชากรอย่างเดียว โดยไม่มีอาณาเขตหรือดินแดนเป็นถิ่นที่อยู่ไม่ได้ เพราะจะทำให้เป็นพวกเร่ร่อน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ก็ไม่อาจเรียกว่าเป็น รัฐหรือ ประเทศได้โดยสมบูรณ์ อาณาเขตของรัฐประกอบไปด้วย

1. แผ่นดิน

2. ทะเล

3. ไหล่ทวีป

4. อากาศ

ค. รัฐบาล

รัฐจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง ดูแล รักษาอาณาเขต ดินแดน รวมทั้งประชากรที่อยู่ภายในรัฐ ให้ได้รับความปลอดภัยจากศัตรูภายใน รักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคมของรัฐนั้นๆ และจากศัตรูภายนอก มิให้มารุกรานได้ ถ้ารัฐปราศจากรัฐบาลแล้ว จะไม่สามารถดำรงความเป็นรัฐหรือชาติไว้ได้

ง. อำนาจอธิปไตย

รัฐจะต้องมีอำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุด หรืออำนาจที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ครอบคลุมทั่วอาณาเขตดินแดน และประชากรของรัฐ เป็นอำนาจที่ถาวร คงอยู่คู่กับรัฐตลอดไป และแบ่งแยกไม่ได้ ทั้งอำนาจอธิปไตยภายในและอำนาจอธิปไตยภายนอก อำนาจอธิปไตยภายใน ได้แก่ อำนาจอธิปไตยทางกฎหมาย ทางการเมือง ตามข้อเท็จจริง ตามนิตินัย ส่วนอำนาจอธิปไตยภายนอก ได้แก่ ความเป็นรัฐเอกราช มีอิสรเสรีภาพ ปราศจากการควบคุมหรือแทรกแซงจากรัฐอื่นๆ

ลักษณะของรัฐ

รัฐมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1. อำนาจอธิปไตย

2. การผูกขาดอำนาจ

3. มิติการเมือง

อำนาจอธิปไตยและการผูกขาดอำนาจเป็นทั้งองค์ประกอบของรัฐ และลักษณะของรัฐ เป็นสิ่งสำคัญ ถือว่าเป็นหัวใจของความเป็นรัฐ เพราะเป็นอำนาจที่ใช้ควบคุมทั้งอาณาเขตและประชากรทั้งหมด ทั้งเป็นการผูกขาดเหนือความกดดันบีบบังคับจากองค์กรใดๆ

จุดประสงค์ของรัฐ

ตามทัศนะของอริสโตเติล จุดประสงค์ของรัฐ ก็คือ มิใช่เพียงเพื่อมีชีวิตอยู่ แต่ต้องเป็นไปเพื่อชีวิตซึ่งมีคุณภาพที่ดีจุดประสงค์ของรัฐตามแนวคิดข้างต้น แยกออกเป็น 3 ประการ คือ

1. ให้ความคุ้มครองประชากรให้อยู่รอดปลอดภัยจากศัตรูภายในและภายนอก

2. ให้การดูแลเอาใจใส่สวัสดิการของประชากร

3. ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของประชากรอย่างมีคุณธรรม

จุดประสงค์ของรัฐตามทัศนะของชาร์ลส์ หลุยส์ มองเตสกิเออ นักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส คือ

1. การคุ้มครองชีวิต

2. การให้มีปัจจัย 4 ที่เหมาะสม

3. การดำรงชีวิตเป็นปกติสุข

จุดประสงค์ของรัฐตามทัศนะของจาคอบเส็นและลิปแมน คือ

1. ให้สังคมมีความสุข

2. ส่งเสริมความผาสุกส่วนบุคคล

3. ส่งเสริมความผาสุกส่วนรวม

4. ส่งเสริมคุณธรรม

หน้าที่ของรัฐ

หน้าที่ของรัฐ คือ รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบในการอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน และประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์จากรัฐ คือ

1. รักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน โดยการออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ

2. การจัดสวัสดิการทางสังคมให้บริการแก่ประชาชน ให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสุขโดยทั่วถึง

3. พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นในสังคม

รัฐตามแนวพุทธศาสนา

รัฐตามทัศนะของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร ถือว่ารัฐเป็นเครื่องมือของประชาชน รัฐทำหน้าที่ในการรับใช้ประชาชน โดยการใช้อำนาจในการควบคุมกิเลสชนิดหยาบ คือ ตัณหา ความต้องการของมนุษย์ที่แสดงออกมาทางกาย วาจา ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชากรที่ร่วมกันในสังคม ให้อยู่ในระดับปกติ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข แต่เนื่องจากมนุษย์มีจิตใจที่ดี เลว หยาบ กระด้างต่างกัน ในการอยู่รวมกันดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีรัฐ และผู้ใช้อำนาจของรัฐ หากมนุษย์ทุกคนในสังคมเป็นคนดี มีศีลธรรม ประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ แล้ว รัฐก็ดี ผู้ใช้อำนาจรัฐก็ดี กฎหมายก็ดี ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย

จุดเริ่มต้นของการรวมตัวเป็นรัฐนั้น เป็นไปแบบวิวัฒนาการตามธรรมชาติ เริ่มต้นจากครอบครัวและสังคมขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ เริ่มจากสถาบันทางครอบครัว ต่อมาเป็นสถาบันการปกครอง และเศรษฐกิจ ส่วนสถาบันการศึกษา ศาสนา และสันทนาการยังไม่ปรากฏ ส่วนองค์กรทางการเมือง เช่น รัฐ” “ประเทศหรือ ชาติยังไม่มีเรียกแยกย่อย มีเพียงรัฐเดียว คือ รัฐโลกมีประเทศเดียว คือ ประเทศโลกและมีชาติเดียว คือ มนุษยชาติ

องค์ประกอบของรัฐ

องค์ประกอบของรัฐในอัคคัญญสูตร มีองค์ประกอบครบถ้วนตามองค์ของประกอบของรัฐในปัจจุบันเช่นกัน คือ

1. ประชากร (พลเมือง)

2. อาณาเขต หรือดินแดน

3. รัฐบาล

4. อำนาจอธิปไตย

1. ประชากร ตามที่ปรากฏในพระสูตรนี้ มีลักษณะของประชากรแบบสมานรูป เป็นประชากรที่มีจากแหล่งเดียวกัน มีชาติกำเนิดเหมือนกัน จำนวนประชากรไม่ได้ระบุชัดว่ามีจำนวนเท่าใด แต่ก็มีมากพอที่จะรวมตัวกันเข้าเป็นครอบครัว และวิวัฒนาการเป็นสถาบันสังคมตามลำดับ นับว่าเป็นประชากรกลุ่มแรกของโลก และเป็นปฐมแห่งบรรพบุรุษของมวลมนุษยชาติ

2. อาณาเขตหรือดินแดน มีแห่งเดียว คือ อาณาเขตโลก หรือดินแดนทั้งโลก ซึ่งกว้างใหญ่กว่าอาณาเขตของรัฐในปัจจุบันซึ่งแยกย่อยออกเป็นรัฐต่างๆ อันประกอบ ด้วย แผ่นดิน น้ำ อากาศ อาณาเขตทั้ง 3 นี้ เท่าที่ปรากฏในพระสูตรนี้ น้ำจะมีปริมาณมาก ในระยะแรกมีน้ำทั่วจักรวาล จากนั้นน้ำจะงวดลง และปรากฏเป็นแผ่นดิน และวิวัฒนาการขยายใหญ่ขึ้น จนเป็นโลกในปัจจุบัน

3. รัฐบาล เกิดขึ้นเนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ปกครอง เพื่อขจัดความสับสนวุ่นวายของสังคม ให้มีผู้ว่ากล่าวตักเตือนและลงโทษผู้ที่กระทำผิด เพื่อปกป้องคุ้มครองคนดี รัฐบาลตามนัยของพระสูตรนี้ เป็นรัฐบาลแบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือแบบราชาธิปไตย หรือแบบพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกและมอบอำนาจจากมหาชน จึงเรียกว่า มหาชนสมมติมีลักษณะคล้ายทฤษฎีสัญญาประชาคมของโธมัส ฮอบส์ และที่ได้ชื่อว่า ราชาเพราะประชาชนยินดีมอบตำแหน่งผู้นำให้ และที่ชื่อว่า กษัตริย์เพราะเป็นผู้ปกครองดูแลพื้นที่การเกษตร หรือผู้เป็นเจ้าแห่งนา หรือผู้เป็นใหญ่แห่งนา หรือผู้คุ้มครองดูแลพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล

4. อำนาจอธิปไตย จะอยู่ที่กษัตริย์ เป็นอำนาจอธิปไตยทางการเมืองการปกครอง จะทรงใช้เองโดยเบื้องต้นมหาชนเป็นผู้มอบให้ มีค่าตอบแทนเป็นข้าวที่ประชาชนจะแบ่งให้ตามความเหมาะสม จะใช้อำนาจการปกครองโดยวิธีการออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับให้มหาชนปฏิบัติตาม หากมีผู้ฝ่าฝืนก็จะพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่กรณี ตามที่ปรากฏในพระสูตรนี้ อำนาจอธิปไตยจะประกอบด้วย

ก. อำนาจอธิปไตยทางการเมืองการปกครอง

ข. อำนาจอธิปไตยทางกฎหมาย

ค. อำนาจอธิปไตยตามนิตินัย

อำนาจอธิปไตยนี้เป็นอำนาจอธิปไตยภายในเพียงอย่างเดียว ไม่มีอำนาจอธิปไตยภายนอก เพราะเป็นรัฐเอกราชรัฐเดียวในโลก ไม่มีรัฐอื่นใดอีก

จุดประสงค์ของรัฐ

ในอัคคัญญสูตรได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของรัฐ พอสรุปได้ดังนี้

1. คุ้มครองคนดี ขจัดคนชั่ว

2. อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี

3. ลงโทษผู้กระทำผิดโดยการตำหนิ หรือเนรเทศออกจากสังคม

4. ทำให้สังคมเกิดความสงบสุขในการอยู่ร่วมกัน โดยหลักธรรมาภิบาล

หน้าที่ของรัฐ

ในพระสูตรนี้ ได้กล่าวถึงหน้าที่ของผู้นำที่มหาชนคัดเลือก ดังนี้คือ

1. รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม

2. ใช้อำนาจทางการบริหารโดยหลักธรรมรัฐ หรือธรรมาภิบาล

3. สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

4. สร้างความสุขใจ และทำความพอใจให้เกิดแก่ประชาชน

รัฐโลก

ตามที่ปรากฏในอัคคัญญสูตรดังกล่าวนี้ รัฐที่เกิดขึ้นมีลักษณะดังนี้

1. มีรัฐเดียว คือ รัฐโลก

2. รัฐบาลเดียวปกครองรัฐโลก

3. รัฐบาลมีอำนาจอธิปไตยในการบังคับใช้ภายในรัฐโลก โดยประชาชนทั้งโลกมอบให้จากการคัดเลือก

4. ทุกคนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันเดียวกัน

5. ประชาชนทั้งหมดมีเผ่าพันธุ์และที่มาแห่งเดียวกัน คือ เป็นอาภัสสรพรหมจากพรหมโลก

การเกิดโลกใหม่หลังจากโลกเก่าพินาศไปแล้ว อาณาเขตของโลกมีแห่งเดียว คือ โลกทั้งโลก ประชากรมีเผ่าพันธุ์กลุ่มเดียวที่จุติมาจากอาภัสสรพรหมจากพรหมโลก รัฐบาล คือ หัวหน้าผู้ทำหน้าที่ปกครองมีรัฐบาลเดียวในโลก จะเรียกว่า รัฐบาลแห่งโลกก็ได้ ใช้หลักในการปกครองเกณฑ์เดียวกันกับทุกคนในสังคมอย่างเสมอภาค

ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) มีรัฐหรือประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 245 ประเทศ แต่มีแนวคิดย้อนยุคไปสู่ปฐมโลก คือ ต้องการให้มีการรวมกันเข้าเป็นรัฐเดียวกัน คือ รัฐโลก” (World State) หรือรัฐบาลเดียว คือ รัฐบาลโลก” (World Government) โดยการสร้างจักรวรรดิโลกในสมัยของพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชแห่งโรมัน เยอรมันร่วมมือกับญี่ปุ่นพยายามขยายดินแดนไปทั่วยุโรปและเอเชีย เพื่อสร้างจักรวรรดิโลก จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นิยมลัทธิมาร์กซ์ ได้ขยายอาณาเขตยึดครองเข้าไปในยุโรปตะวันออก เอเชีย อัฟริกา ละตินอเมริกา และมีความพยายามในการจัดตั้งองค์การต่างๆ ให้เสมือนรัฐโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ แต่ก็ขาดอำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดที่ใช้บังคับได้ทั่วโลก แนวคิดเหล่านี้จึงเป็นเพียงอุดมการณ์ ซึ่งไม่อาจบรรลุผลที่แท้จริง ผู้ที่เป็นเจ้าของอุดมคตินี้จะทราบหรือไม่ก็ตามว่า รัฐโลกได้เคยมีมาแล้วตั้งแต่สมัยโลกอุบัติขึ้นครั้งแรก แนวคิดที่ล้ำสมัยกลับกลายเป็นอุดมคติย้อนยุคไปสู่สมัยปฐมบรรพ์อย่างไม่น่าเชื่อ ดังที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณข้อมูลทางวิชาการที่ดีมากๆ แต่เดิมชาวพุทธไทยเราส่วนมากคิดว่า พระพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องทุกข์ เรื่องพ้นทุกข์ เรื่องกรรม เรื่องเวียนว่ายตายเกิด จากอัคคัญสูตรที่อ้างถึงนี้ เห็นชัดว่า การเกิดรัฐ เกิดการปกครอง พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้เช่นกัน.

    ตอบลบ