บทที่ 5 ประชาธิปไตยตามแนวตะวันตก

ประชาธิปไตยมีความหมายหลากหลาย ขึ้นอยู่กับมุมมองของนักคิด หรือผู้ศึกษาค้นคว้าและนำไปใช้ประโยชน์ อาจหมายถึงรูปแบบกการปกครองรูปแบบหนึ่งที่รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชนคัดเลือกมา เพื่อทำประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งเกิดจากประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง มอบอำนาจบริหารตุลากร นิติบัญญัติ ให้ผู้แทนไปใช้ทำทำหน้าที่แทนเฉพาะกิจ เฉพาะกาล จะเรียกคืนไม่ได้ก็ได้ และอาจจะหมายถึงแนวคิด ทฤษฎี อุดมการณ์ วิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัฐมีความเสมอภาค มีสิทธิและเสรีภาพ การปกครองโดยกฎหมาย ได้รับการปฏฺบัติเท่าเทียมกันเสมอหน้า แม้ประเทศที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการ ทั้งแบบอำนาจนิยม และเบ็ดเสร็จนิยม ก็ยังเรียกว่า ระบบการปกครองของเขาเป็นประชาธิปไตย เช่น มุสโสลินี เรียกระบบฟาสซิสต์ว่า “ประชาธิปไตยอำนาจนิยม” (Authoritarian Democracy) ฮิตเลอร์เรียกระบบเผด็จการนาซีว่า “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” (Real Democracy) ส่วนเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนิยม เช่น เลนิน เรียกระบบการปกครองคอมมิวนิสต์ว่า “ประชาธิปไตยชนชั้นกรรมาชีพ” เรียกการปกครองเสรีประชาธิปไตยว่า “ประชาธิปไตยแบบนายทุน” หรือ “แบบกฎุมพี” หรือ “ประชาธิปไตยแบบต่ำทราม” ส่วนประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ทั้งในยุโรปตะวันตกและจีนเรียกระบบการปกครองของตนว่า “ประชาธิปไตยของประชาชน” หรือ “มหาประชาธิปไตย”

ความหมายของประชาธิปไตย

คำว่า “ประชาธิปไตย” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Democracy” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำภาษากรีก 2 คำ คือ “Demos” แปลว่า “ประชาชน” และ “Kratos” และว่า อำนาจ เมื่อรวมกันเข้าก็มีความหมายว่า “อำนาจของประชาชน” หรือ “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ” เพราะฉะนั้นหลักการขั้นมูลฐานของประชาธิปไตยก็คือ “การยอมรับนับถือความสำคัญและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของบุคคล ความเสมอภาค และเสรีภาพในการดำเนินชีวิต”[1]

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อับราฮิม ลินคอล์น (1809 – 1865) ได้ให้คำยามประชาธิปไตยในการกล่าวสุนทรพจน์ ณ เมืองเกตต์สเบอร์ก หรือ “เกตต์สปุระ” ในมลรัฐเพนซิลวาเนีย ในวันที่ 19 พฤศจิกายน คศ. 1863 ว่า “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะไม่มีวันสูญสลายไปจากพื้นพิภพนี้”[2]

สุขุม นวลสกุลและวิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ ได้ให้ความหมายของประชาธิปไตยไว้ว่า “การปกครองที่เป็นประชาธิปไตย คือ รูปแบบการปกครองที่ยึดอำนาจอธิปไตยของปวงชน ไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี (Presidential Democracy) หรือรูปแบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) ถ้าอำนาจสูงสุดในการกำหนดการปกครองอยู่ที่ประชาชนแล้ว ก็เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งสิ้น”[3]

จรูญ สุภาพ ได้ให้ความหมายของประชาธิปไตยไว้ว่า “ประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองโดยหมู่ชนหรือประชาชน ประชาธิปไตยอาจแยกออกเป็น 2 คำ คือ “ประชา” หมายถึง “ประชาชน” อำนาจอธิปไตย หมายถึง “อำนาจสูงสุดของแผ่นดิน” เมื่อรวมกันจึงหมายถึง “การปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนหรือมาจากประชาชน” ประชาธิปไตยจึงมีความหมายทั้งในรูปแบบและหลักในการปกครองตลอดถึงการดำรงชีวิตร่วมกันของมนุษย์ ในแง่ของการปกครอง มุ่งถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายอันเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ในแง่ของการดำรงชีวิต หมายถึงการยอมรับเสรีภาพ ความสำคัญ และประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยมีเหตุผลเป็นเครื่องนำทาง เพื่อความผาสุกร่วมกัน และประชาธิปไตยมีทั้งความหมายอย่างแคบและอย่างกว้าง อย่างแคบ หมายถึง “ประชาชนมีอำนาจปกครองตนเอง” อย่างกว้าง หมายถึง “วิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งซึ่งมีแบบแผนแห่งพฤติกรรมในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม”[4]

จากคำนิยามความหมายดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่า “ประชาธิปไตยหมายถึงประชาธิปไตยมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ใช้อำนาจทั้งโดยผ่านผู้แทนของตน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ทั้งในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม”

ความหมายของประชาธิปไตยในทัศนะต่างๆ

ประชาธิปไตยมีความหมายหลายสถานะ ขึ้นอยู่กับมุมมองของนักทฤษฎี กาลเวลา สถานที่ ผู้ที่นำไปใช้ และการตีความให้สอดคล้องกลมกลืนกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของพวกตน ความหมายดังกล่าวประกอบไปด้วย

1. ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง

ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ประชาชนเป็นทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ซึ่งเป็นการปกครองตนเอง โดยประชาชนมีอำนาจอธิปไตยในการปกครองรัฐทั้งแบบโดยตรง และโดยอ้อม ด้วยการมอบให้ผู้แทนไปใช้อำนาจดังกล่าวแทน โดยวิธีการเลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก ซึ่งรูปแบบการปกครองแบบนี้ไม่มีในการปกครองแบบอื่น เช่น ราชาธิปไตย ทุชนาธิปไตย อภิชนาธิปไตย คณาธิปไตย และเผด็จการทั้งอำนาจนิยมและเบ็ดเสร็จนิยม

2. ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นทฤษฎีทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง

ประชาธิปไตยในแง่ของทฤษฎี ซึ่งมีหลักการประกอบไปด้วย การปกครองที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียวกัน ควบคุมรัฐบาลโดยประชาชน หลักแห่งเสียงข้างมาก

3. ประชาธิปไตยในฐานะเป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่ง

ประชาธิปไตยในแง่อุดมการณ์ เป็นการปกครองโดยรัฐบาล เป็นของประชาชน โดยประชาชนมอบอำนาจอธิปไตยทางการบริหารให้ทำงานเพื่อประชาชน ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ทาง คือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ อำนาจทั้ง 3 ที่ประชาชนมอบให้ จะทำหน้าที่ถ่วงซึ่งกันและกัน ทำให้ประชาชนเจ้าของอำนาจได้รับประโยชน์เต็มที่ บรรลุความสงบสุขร่วมกัน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

4. ประชาธิปไตยในทัศนะของเผด็จการอำนาจนิยม

เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้ระบบเผด็จการก็เรียกตัวเองว่า ประชาธิปไตย เช่น มุสโสลินี เรียกระบบฟาสซิสม์ของเขาว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม” และฮิตเลอร์เรียกระบบนาซีว่าเป็น “ประชาธิปไตยแท้จริง” หมายถึงพรรคฟาสซิสม์และพรรคนาซี ทำหน้าที่เพียงเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ ทำหน้าที่ในการบริหารแทนประชาชนเท่านั้น ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคในส่วนของชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา การนับถือศาสนา สันทนาการอื่นๆได้อย่างเท่าเท่ยมกัน

5. ประชาธิปไตยในทัศนะของคอมมิวนิสต์

แม้ประเทศที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ ก็ถือว่าการปกครองของตนเป็นประชาธิปไตย เช่น รัสเซีย เรียกระบบการปกครองของตนว่า “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ทั้งในยุโรปและเอเซีย เช่น ประเทศจีน เรียกระบบการปกครองของตนว่า “ประชาธิปไตยของประชาชน” หรือ “มหาประชาธิปไตย” ทั้งนี้เพราะประชาชนทุกคนในรัฐมีความเท่าเทียม เสมอภาคกันทางเศรษฐกิจ ไม่มีคนจน คนรวย มีฐานะชนชั้นทางสังคมเสมอกัน คือ ชนชั้นเดียวกัน ได้แก่ ชนชั้นกรรมาชีพ ส่วนรัฐบาลซึ่งมาจากพรรคการเมืองเดียว ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่แทนประชาชนทั้งหมด คือ พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะทำหน้าที่แทนในเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อระบบคอมมิวนิสต์พัฒนาถึงระดับสูงสุด บรรลุเป้าหมายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แล้ว ประชาชนมั่งคั่ง สมบูรณ์พูนสุขเท่าเทียมกันแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลก็จะสลายตัวไป ไม่มีรัฐบาล ไม่มีกฎหมาย ทุกคนสามารถมีชีวิอยู่อย่างสุขสบาย มีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ปราศจากการควบคุมใดๆจากรัฐบาลและกฎหมาย

หลักการของประชาธิปไตย

หลักการของประชาธิปไตยตามทัศนะของ เฮนรี เมโย (Henry Mayo) 4 ประการ คือ

1. การควบคุมผู้วางนโยบายโดยประชาชน

2. ความเสมอภาคทางการเมือง

3. เสรีภาพทางการเมืองหรือประสิทธิผลในการควบคุมโดยประชาชน

4. หลักแห่งเสียงข้างมาก[5]

ซิกมันด์ นอยมันน์ (Sigmund Neumann) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยไว้ 10 ประการ คือ

1. อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน เป็นของปวงชน

2. ขั้นตอนเลือกผู้นำเป็นไปโดยเสรี

3. ผู้นำมีความรับผิดชอบ

4. ระบอบความเสมอภาค

5. สนับสนุนพรรคการเมืองมีมากกว่า 1 พรรค

6. เน้นความหลากหลายในชีวิตประจำวัน

7. ไม่กีดกันกลุ่มต่างๆ จากการมีส่วนร่วมในการบริหารการปกครอง

8. สำนึกในความเป็นพลเมืองดี

9. ส่งเสริมครรลองทัศนคติแบบประชาธิปไตย

10. เน้นความเชื่อมั่นในความดีของมนุษย์[6]

หลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เจริญอยู่ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา มีหลักการสำคัญ ดังนี้

1. การยึดถือเหตุผล

2. การเน้นความสำคัญของปัจเจกบุคคล

3. การถือรัฐเป็นเครื่องมือของประชาชน

4. การอาศัยความสมัครใจเป็นใหญ่

5. การยึดถือกฎเหนือกฎ

6. การเน้นความสำคัญของวิธีการ

7. การถือความเห็นพ้องต้องกันเป็นหลักมนุษยสัมพันธ์

8. การถือสมภาพ หรือความเท่าเทียมกันขั้นมูลฐานของมนุษย์[7]

1. การยึดถือเหตุผล

ประชาธิปไตยถือหลักการที่ว่า ประชาชนทุกคนในรัฐเป็นเจ้าของรัฐเท่าเทียมกัน ย่อมมีสิทธิที่แสดงความคิดเห็น วิพากวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมได้เท่ากัน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ความคิดเห็นของพวกเขาก็เป็นสิ่งที่ควรรับฟัง การกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการขัดแย้งหรือขัดขวาง แต่ถือว่าเป็นการแสวงหาเหตุผลข้อเท็จจริง สรุปเป็นหลักการที่นำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งควรส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นได้โดยเสรี

2. การเน้นความสำคัญของปัจเจกบุคคล

ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุด ปัจเจกบุคคลเป็นผู้สร้างสังคม สร้างสถาบันทางสังคม รวมกันเข้าเป็นรัฐ เป็นประเทศ ปัจเจกบุคคลจึงควรได้รับการส่งเสริมให้มีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคทั้งทางสังคม การเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ มีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี เพราะถ้ารัฐใดประชาชนแต่ละคนเป็นคนมีคุณภาพ ก็จะทำให้รัฐหรือประเทศนั้นเจริญก้าวหน้าได้

3. การถือรัฐเป็นเครื่องมือของประชาชน

รัฐบาลเป็นเครื่องมือของประชาชนในการทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการอยู่ร่วมกันของ ประชาชน คอยอำนวยความสะดวก ประสานผลประโยชน์ แก้ไขข้ออุปสรรคต่างๆ ให้กับสังคม เป็นผู้รับใช้ประชาชน รัฐเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดำเนินต่อไปเพื่อประชาชน ไม่ใช่ประชาชนเป็นอยู่เพื่อรัฐ เพราะรัฐเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นผู้สร้างรัฐ รัฐจึงเป็นผลผลิตของประชาชน หน้าที่ของรัฐเพียงรักษากฎหมาย ให้ความยุติธรรม รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันรักษาอำนาจอธิปไตยทั้งภายใจและภายนอก

4. การอาศัยความสมัครใจเป็นใหญ่

ประชาธิปไตยสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สามารถเลือกดำรงชีวิตตามความสมัครใจ รัฐจะบีบบังคับให้ประชาชนกระทำหรือห้ามไม่ให้กระทำนอกเหนือหลักแห่งนิติธรรมไม่ได้

5. การยึดถือกฎเหนือกฎ

หลักการที่ว่านี้ ถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ใช้อำนาจเหล่านี้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ของประชาชน หากผู้รับมอบอำนาจไปทำหน้าที่แทนทั้งฝ่ายรัฐบาล สภานิติบังคับบัญชา หรือตุลาการ ปฏิบัติผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของประชาชน ประชาชนก็มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ โดยการใช้อำนาจอธิปไตย ผ่านการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ สภานิติบัญญัติให้ หรือยกเลิกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้

6. เน้นความสำคัญของวิธีการ

ประชาธิปไตยให้ความสำคัญของวิธีการในการได้มาซึ่งอำนาจ การแสวงหาอำนาจ การใช้อำนาจ การเปลี่ยนแปลงอำนาจา โดยวิธีการตัดสินด้วยเสียงข้างมาก เป็นวิธีการบรรลุเป้าหมายโดยสันติวิธี เป็นความต้องการของเจ้าของอำนาจอธิปไตย คือ ประชาชน ซึ่งวิธีนี้ไม่มีการในการปกครองแบบอื่น

7. การถือความเห็นพ้องต้องกันเป็นหลักในมนุษยสัมพันธ์

ประชาธิปไตยมีหลักการว่า ทุกคนในรัฐเป็นเจ้าของรัฐร่วมกัน ไม่มีใครมีสิทธิผูกขาดในความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยคนเดียว ดังนั้นทุกคนต้องยอมรับในสัญญาประชาคมที่ใช้เพื่ออยู่ร่วมกัน คือ หลักนิติรัฐ กฎเกณฑ์ที่ตกลงในการอยู่ร่วมกันนี้ เป็นหลักของมนุษยสัมพันธ์ของประชาชนทุกคน ถือเป็นหลักปฏิบัติในวิถีชีวิต ในความมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคกัน ซึ่งเป็นการยอมรับของทุกคน เพื่อความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน

8. การถือสมภาพ หรือความเท่าเทียมกันขั้นมูลฐานของมนุษย์

ประชาธิปไตยถือว่า ทุกคนภายในรัฐมีสิทธิในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และความเป็นเจ้าของรัฐเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการปกป้องชีวิตร่างกาย ทรัพย์สินเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคในการใช้อำนาจอธิปไตยเท่าเทียมกัน คือ 1 คน เท่ากับ 1 เสียง ไม่มีใครจะมีสิทธิเหนือกว่าใคร ไม่ว่าจะร่ำรวย หรือยากจน มีการศึกษาสูง ต่ำ หรือสถานภาพทางสังคมเป็นอย่างไร

อุดมการณ์ประชาธิปไตย

อุดมการณ์ประชาธิปไตยเน้นหลักการความเสมอภาคและเสรีภาพเป็นสำคัญ พื้นฐานที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันของผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง การมีสิทธิเสรีภาพถือว่าเป็นหลักประกันศักดิ์ศรีของประชาชนในสังคม

ศรัทธาและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยนั้นจำแนกได้เป็นข้อๆ ดังนี้

1. เสรีภาพในการพูด การพิมพ์ และการโฆษณา

2. เสรีภาพในการนับถือศาสนา

3. เสรีภาพในการสมาคมหรือรวมกลุ่ม

4. สิทธิในทรัพย์สิน

5. สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

6. สิทธิส่วนบุคคล

ความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย อาจจำแนกออกเป็น 5 ประการ คือ

1. ความเสมอภาคทางการเมือง

2. ความเสมอภาคต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย

3. ความเสมอภาคในโอกาส

4. ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ

5. ความเสมอภาคทางสังคม[8]

สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคไม่มีในอุดมการณ์ การปกครองในรูปแบบอื่นใดนอกจากการปกครองแบบประชาธิปไตย

การปกครองในรูปแบบอื่นแม้จะอ้างว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อนำอุดมการณ์ประชาธิปไตยดังกล่าวเข้าไปเป็นกรอบในการปฏิบัติแล้ว จะทราบได้แน่ชัดว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย 2 รูปแบบ[9]

ประชาธิปไตยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบโดยตรงและแบบมีตัวแทนหรือโดยอ้อม

1. ประชาธิปไตยแบบโดยตรง ได้แก่ รูปแบบการปกครองที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น การออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย การตัดสินใจ หรือการตัดสินปัญหาโดยประชาชนร่วมกันตัดสินโดยการลงมติเสียงข้างมาก

2. ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนหรือโดยอ้อม ได้แก่ รูปแบบการปกครองที่ประชาชนมอบอำนาจอธิปไตยทั้งอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติให้แก่ผู้แทนไปทำหน้าที่ใช้อำนาจดังกล่าวแทน

ประชาธิปไตยแบบโดยตรงเหมาะกับประชนชนจำนวนไม่มาก ฐานะความเป็นอยู่ของประชากรไม่เหลื่อมล้ำกันมาก สังคมมีลักษณะสมานรูป ไม่มีความแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติและวัฒนธรรม รูปแบบนี้เคยมีใช้ปกครองนครรัฐเอเธนส์

ประชาธิปไตยแบบโดยมีผู้แทนหรือโดยอ้อม เป็นรูปแบบที่ใช้กันอยู่แพร่หลายในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะประชากรมีเป็นจำนวนมากที่จะต้องใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองซับซ้อน ถ้าผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมโดยไม่ใช่แบบผู้แทน จะก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคเรื่องเวลา สถานที่ การตัดสินปัญหาต่างๆ ล่าช้า ไม่ทันการ

จะเห็นได้ว่า รูปแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ต้องยอมรับในหลักการที่ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชนเป็นผู้เลือกมาทำหน้าที่เพื่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของรัฐ ความรับผิดชอบของรัฐบาลต้องมีต่อประชาชน ไม่ใช่ประชาชนต้องรับผิดชอบรัฐบาล โดยหลักการของประชาธิปไตยนั้น เน้นการมีส่วนร่วมในทางการปกครองของประชาชน ในการควบคุมรัฐบาล รัฐบาลไม่สามารถผูกขาดการบริหารเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ไม่อาจกีดกันประชาชนในการมีส่วนร่วมบริหารการปกครอง ประชาชนต้องมีความสำนึกในความเป็นพลเมืองดีของสังคม โดยต่างก็เชื่อมั่นในความดีของมนุษย์ทุกคนที่อยู่ร่วมกันในรัฐว่า สามารถปกครองตนเองและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ ยอมรับสมภาพ หรือความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เน้นวิถีชีวิตของประชาชนที่หลากหลาย แตกต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ มีสิทธิเสรีภาพทั้งสิทธิในชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน ได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกันทางกฎหมาย สิทธิส่วนบุคคล และเสรีภาพในการพูด การแสดงออกด้วยการพิมพ์ โฆษณา การนับถือศาสนา การสมาคมรวมกลุ่ม หลักแห่งความเสมอภาคในโอกาส การปฏิบัติตามกฎหมาย ความเสมอภาคทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การเห็นพ้องต้องกันเป็นหลักในมนุษยสัมพันธ์ และหลักแห่งเสียงข้างมาก ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้ จะมีอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น การปกครองรูปแบบอื่นแม้จะอ้างว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าปราศจากหลักการ อุดมการณ์ดังกล่าวแล้ว หาใช่ปัญญาในระบอบประชาธิปไตยไม่

ประชาธิปไตยตามแนวพุทธ

ประชาธิปไตยตามแนวพุทธ หมายถึงหลักการและวิธีการแบบประชาธิปไตยที่มีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือที่เราเรียกกันว่า พระพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในรูปแบบของคำสั่งสอน คือ พระธรรมและวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ มิใช่ทฤษฎีทางการเมืองโดยตรงแบบตะวันตก ซึ่งเป็นระบอบการเมืองระบอบหนึ่งที่ใช้ในการปกครองประเทศ อย่างไรก็ตามจะให้หลักคำสอนในทาง พระพุทธศาสนาตรงกับรายละเอียดปลีกย่อยทั้งหมดเลยก็เป็นไปไม่ได้ จะนำเสนอเฉพาะในหลักการสำคัญที่มีความสอดคล้องกัน ดังต่อไป

1. หลักแห่งการมีส่วนร่วมในการปกครอง

2. หลักการอยู่ร่วมกันสังคมของกลุ่มหลากหลายอย่างสันติ

3. หลักแห่งความเสมอภาค

4. หลักแห่งเสียงข้างมาก

1. หลักแห่งการมีส่วนร่วมในการการปกครอง

ในปฐมโพธิกาลเมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ แล้วทรงประกาศพระศาสนา มีผู้เลื่อมใสขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ยังมีจำนวนพระภิกษุไม่มาก พระองค์ทรงปกครองพระสงฆ์ ทรงบริหารกิจการพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เอง ต่อมาเมื่อมีจำนวนพระสาวกมากขึ้น ทรงมอบการบริหารพระศาสนาให้เป็นหน้าที่ของสงฆ์ เป็นลักษณะของการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการปกครองคณะสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ไม่ได้รวมศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่พระองค์เอง พระภิกษุทุกรูปที่เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้กรอบแห่งพระวินัยบัญญัติที่กำหนดจำนวน และขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ โดยทรงกำหนดจำนวนสงฆ์ 5 ประเภท ดังนี้ คือ

1. ภิกษุสงฆ์ 4 รูป เรียก จตุวรรค

2. ภิกษุสงฆ์ 5 รูป เรียก ปัญจวรรค

3. ภิกษุสงฆ์ 10 รูป เรียก ทสวรรค

4. ภิกษุสงฆ์ 20 รูป เรียก วีสติวรรค

5. ภิกษุสงฆ์เกินกว่า 21 รูป เรียก อติเรกวีสติวรรค[10]

อำนาจหน้าที่ของภิกษุสงฆ์แต่ละประเภท

1. ภิกษุสงฆ์ 4 รูป (จตุวรรค) มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

1.1 สวดพระปาติโมกข์ คือ สวดทบทวนศีลของพระภิกษุสงฆ์จำนวน 227 ข้อ ทุก 15 วัน ที่เรียกว่า “ทำอุโบสถ” ซึ่งภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปทำได้ ถ้าจำนวนน้อยกว่าทำไม่ได้ ทำได้เพียงแสดงความบริสุทธิ์แห่งศีลของตนต่อคณะหรือบุคคล

1.2 สวดประกาศรับผ้ากฐิน ที่เรียกว่า สวดกฐิน คือ ประกาศมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยขอความเห็นชอบจากสงฆ์ ในพระวินัยปิฎกได้กำหนดไว้อย่างนี้ ส่วนในอรรถกถา พระอรรถกถาจารย์เห็นว่า เพื่อความสมบูรณ์ ควรเป็นอำนาจของภิกษุสงฆ์ 5 รูป ทั้งนี้เพราะภิกษุ 1 รูปสวดประกาศต่อหน้าภิกษุสงฆ์ 4 รูป หากมีภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูป 1 รูปสวดประกาศ แล้วดูคล้ายจะประกาศต่อคณะบุคคล ท่านจึงเห็นควรสวดประกาศต่อสงฆ์ 4 รูป ซึ่งดูเหมือนไม่ได้ขัดแย้งกัน

1.3 สวดสมมติ หรือแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ เช่น เป็นผู้แจกที่อยู่อาศัย (เสนาสนะ) แจกจีวร และแจกอาหาร (ภัตตุเทศ)

2. ภิกษุสงฆ์ 8 รูป (ปัญจวรรค) มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

2.1 ทำการอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ที่เรียกว่า “ปวารณา”

2.2 ทำการอุปสมบท คือ บวชพระในที่ที่หาพระยาก ที่เรียกว่า “ปัจจันตชนบท”

2.3 ทำกิจของสงฆ์อื่นๆ ทุกชนิดที่พระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูป ทำได้

3. ภิกษุสงฆ์ 10 รูป (ทสวรรค) มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

3.1 ทำการอุปสมบท คือ บวชพระในที่ที่หาพระง่าย ที่เรียกว่า “มัชฌิมชนบท”

3.2 ทำกิจของสงฆ์ (สังฆกรรม) อื่นที่ภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูป และ 5 รูป ทำได้ทุกชนิด

4. ภิกษุสงฆ์ 20 รูป (วีสติวรรค) มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

4.1 สวดถอนอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักขนาดกลาง) แก่ภิกษุผู้ทำผิดอาบัติ คือ ล่วงอาบัติสังฆาทิเสสได้

4.2 ทำการแทนสงฆ์ คือ สังฆกรรมทุกชนิดที่พระภิกษุสงฆ์จำนวนที่ต่ำกว่าทำได

5. ภิกษุสงฆ์เกินกว่า 20 รูป (อติเรกวีสติวรรค) ทำสังฆกรรม คือ กิจของสงฆ์ได้ทุกชนิด

จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงไว้วางพระหฤทัยใหนพระภิกษุสงฆ์ มอบอำนาจในการบริหารการปกครองพระพุทธศาสนาแก่พระสงฆ์ อำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวน เพื่อความรอบคอบในการตัดสินใจรับผิดชอบร่วมกัน พระภิกษุสงฆ์จะพำนักอยู่ ณ สถานที่ใด ใกล้หรือไกลก็มีสิทธิขาด มีอำนาจหน้าที่ในการร่วมบริหารจัดการปกครองหมู่คณะด้วยกันทั้งนั้น หากภิกษุรูปใดไม่เข้าร่วมในสังฆกรรมที่เป็นกิจของสงฆ์ในที่ที่ตนพำนักในที่นั้นๆ แล้วต้องอาบัติทุกกฎ ชื่อว่า ล่วงละเมิดพระวินัย ไม่เอื้อเฟื้อในกิจการของสงฆ์ การบริหารไม่ผูกขาดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผู้บริหารรับผิดชอบประชากรและองค์กร ประชากรก็รับผิดชอบต่อผู้บริหารและองค์กร อำนาจการปกครองเป็นของภิกษุสงฆ์ โดยภิกษุสงฆ์ดำเนินการ เพื่อประโยชน์ของภิกษุสงฆ์ ไม่กีดกันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในการมีส่วนร่วมในการปกครอง เชื่อมั่นในความดีของพระภิกษุสงฆ์ว่า สามารถปกครองกันเองและหมู่คณะได้ ตามหลักการของสาราณียธรรม 6 ประการ และหลักอปริหานิยธรรม 7 ประการ ดังต่อไปนี้

หลักสารานิยธรรม 6 ประการ คือ

1. เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อด้วยกาย ด้วยจิตเมตตา

2. เข้าไปตั้งวจีกรรมในเพื่อภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายในกิจทั้งปวงด้วยวาจา เช่นว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนอบรมด้วยจิตเมตตา

3. เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อภิกษุและสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ คิดแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อกัน

4. แบ่งปันลาภที่ตนได้มาโดยธรรม ให้เพื่อภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคผู้เดียว

5. รักษาศีล คือ ความประพฤติทางกาย วาจาให้บริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น

6. มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่วิวาทกับใครๆ เพราะมีความเห็นผิดกัน[11]

หลักอปริหานิยธรรม 7 ประการ คือ

1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

2. เมื่อประชุมก็พร้อมกันประชุม เมื่อเลิกก็พร้อมใจกันเลิก พร้อมใจกันทำกิจของสงฆ์ที่ต้องทำ

3. ไม่บัญญัติสิ่งที่นอกเหนือกฎเกณฑ์พระธรรมวินัย และไม่ยกเลิกกฎเกณฑ์ตามพระธรรมวินัย ประพฤติปฏิบัติตามกรอบแห่งพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้

4. ภิกษุเหล่าใดเป็นใหญ่ เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน

5. ไม่ลุอำนาจความอยากที่เกิดขึ้น

6. ยินดีในเสนาสนะป่า

7. ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อภิกษุสามเณรซึ่งมีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่เป็นสุข[12]

หลัก 7 ประการ หรือธรรม 7 ประการนี้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกำลังปรากฏตนเอง และปกครองสังฆมณฑลให้เจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย

2. หลักแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของกลุ่มที่หลากหลายในสังคม

พระพุทธศาสนามีหลักการแห่งการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข ของกลุ่มที่หลากหลายเป็นชนชั้น กลุ่มผู้นำชั้นปกครอง และประชาชนผู้ถูกปกครอง ลัทธิความเชื่อที่แตกต่างกัน ชนชั้นวรรณะที่แตกต่าง ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. การอยู่ร่วมกันของผู้นำชั้นปกครองและประชาชนผู้ถูกปกครอง

2. การอยู่ร่วมกันของกลุ่มที่มีลัทธิความเชื่อที่แตกต่างกัน

3. การอยู่ร่วมกันของกลุ่มชนชั้นที่แตกต่างกัน

1. การอยู่ร่วมกันของผู้นำชั้นปกครองและประชาชนผู้ถูกปกครอง

การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมนั้น ย่อมมีหลากหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละคนนั้นย่อมปรารถนาความสุขสงบในการอยู่ร่วมกัน แต่เนื่องจากความหลากหลายแห่งวิถีการดำรงชีวิต ความต้องการที่บรรลุเป้าหมายของแต่ละคนย่อมมีวิธีที่แตกต่างกัน ในวิธีที่แตกต่างในคนที่แตกต่าง ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข เกิดความแตกแยก แก่งแย่ง และต่อต้าน ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ที่ต้องการได้ พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและประชาชนผู้ถูกปกครอง ระหว่างประชาชนเอง ผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในสถาบันสังคม ดังนี้

1.1 หลักแห่งการพรหมวิหาร ประกอบไปด้วยข้อปฏิบัติ 4 ประการ คือ

1. เมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข

2. กรุณา ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

3. มุทิตา ยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดี

4. อุเบกขา ความเป็นผู้มีใจเป็นกลาง หรือยุติธรรม[13]

พรหมวิหารเป็นข้อปฏิบัติประจำใจของคนชั้นสูง คือ คนที่มีจิตใจสูง เป็นหลักปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันของชนทุกหมู่เหล่า ทั้งผู้ปกครองและประชาชน

1.2 หลักแห่งอคติ 4 ประการ ประกอบด้วย

1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก

2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบ

3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะไม่รู้จริง (เขลา)

4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัวอำนาจบารมี[14]

อคติ 4 ประการ เป็นสิ่งที่ควรละเว้น เป็นข้อปฏิบัติที่ผู้อยู่ร่วมกันในสังคม ควรตระหนักไม่ว่าจะเป็นประชากรกลุ่มไหน อยู่ในสถานภาพอย่างไร ความยุติธรรมอันเป็นหัวใจสำคัญในการอยู่ร่วมกันฉันมิตรจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากจิตใจของประชาชนเต็มไปด้วยอคติต่อกัน

1.3 หลักสังคหวัตถุ 4 ประการ ประกอบด้วย

1. ทาน ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น

2. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน

3. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

4. สมานัตตตา มีตนเสมอไม่ถือตัว[15]

สังคหวัตถุ 4 ประการเป็นหลักแห่งมนุษยสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม เป็นเครื่องผูกในให้เกิดความรู้สึกมีความรักผูกพันฉันญาติมิตร เป็นประดุจห้วงน้ำเย็นท่ำให้โลกร่มรื่นน่าอยู่

1.4 หลักแห่งทิศ 6 ประกอบด้วย

1. ทิศเบื้องหน้า มารดาบิดาและบุตร

2. ทิศเบื้องขวา อาจารย์และศิษย์

3. ทิศเบื้องหลัง ภรรยาและสามี

4. ทิศเบื้องซ้าย มิตรต่อมิตร

5. ทิศเบื้องต่ำ ลูกน้องบริวานและผู้บังคับบัญชา

6. ทิศเบื้องบน สมณะและอุบาสกอุบาสิกา[16]

ทิศ 6 เป็นหลักแห่งความสัมพันธ์แบบรอบทิศทาง เป็นข้อปฏิบัติที่ดีงามของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกัน จะพึงปฏิบัติต่อกัน หากปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวแล้ว การอยู่ร่วมกันในฐานะต่างๆ จะเป็นอย่างราบรื่น ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งใดๆ จะทำให้มวลมนุษย์อยู่กันอย่างสันติสุข

2. การอยู่ร่วมกันของกลุ่มที่มีลัทธิความเชื่อที่แตกต่างกัน

ในสังคมอินเดียนั้นล้วนหลากหลายลัทธิ ความเชื่อ มีทั้งความเชื่อในศาสนาดั้งเดิม คือ ศาสนาพราหมณ์ และเจ้าลัทธิทั้งหลาย เช่น ครูทั้ง 6 ประกอบด้วย

1. ปูรณกัสปะ เจ้าลัทธิ “อกิริยวาท” คือ เชื่อว่า การกระทำว่าไม่เป็นอันทำ

2. มักขลิโคศาล เจ้าลัทธิ “อเหตุกวาท” คือ เชื่อว่า ความบริสุทธิ์และเศร้าหมองของสัตว์ ไม่มีเหตุปัจจัย

3. อหิตเกสกัมพล เจ้าลัทธิ “นัตถิกวาท” คือ เชื่อว่า ไม่มีสัตว์บุคคล ไม่มีบุญและบาป ไม่มีชาติหน้า มีเฉพาะชาตินี้

4. ปกุธกัจทยะ เจ้าลัทธิ “อุจเฉทวาท” คือ เชื่อว่า ตายแล้วสูญสิ้น ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่ ทุกสิ่งสิ้นสุดลงหลังการตาย

5. สญชัยเวลัฏฐบุตร เจ้าลัทธิ “อมราวิกเขปกะ” คือ ไม่มีหลักการที่ไม่แน่นอนในสิ่งใด ขึ้นอยู่กับความพอใจที่จะพูดอย่างไร

6. นิครนถนาฏบุตร เจ้าลัทธิที่มีความเชื่อในการบำเพ็ญตบะ ทรมานตน หรือลัทธิเปลือยกาย ไม่นุ่งห่มสิ่งใด[17]

พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นท่ามกลางศาสนาพราหมณ์ และเจ้าลัทธิเหล่านี้ แต่ปรากฏ สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ แม้พระพุทธศาสนาจะถูกเบียดเบียนในบางครั้ง จากผู้ที่ไม่หวังดีบ้าง แต่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ตลอดจนพุทธบริษัททั้ง 4 ก็ไม่เคยทะเลาะวิวาท หรือมีปัญหากับผู้ที่มีความเห็นแตกต่างเลย ทั้งนี้เพราะยึดหลักธรรมนูญของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักการในการเผยแพร่พระศาสนา และในการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งมีหลักการดังนี้

1. ขันติ คือ ความอดทน เป็นตบะอย่างยอดเยี่ยม ท่านผู้รู้กล่าวนิพพานว่าเป็นยอด บรรพชิตผู้ฆ่าเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่า สมณะ

2. ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตของตนให้ผ่องใส

3. ไม่พูดค่อนขอดกัน ไม่ประหัตประหารกัน สำรวมในปาฏิโมกข์ (ศีล 227 ข้อ) รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด ประกอบความเพียรทางจิตอย่างสูง[18]

ในการยึดถือหลักการในโอวาทปาฏิโมกข์ดังกล่าวเป็นหลักแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นหลักแห่งความดีขั้นสูงสุดของมนุษยชาติโดยแท้

ส่วนหลักการในการเผยแพระธรรมในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงวางหลักเกณฑ์ในการแสดงธรรมไว้ 5 ประการ ซึ่งเรียกว่า จรรยาบรรณของนักเทศน์ หรือองค์แห่งภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก คือ

1. แสดงธรรมตามลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดตอน

2. แสดงโดยอ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจได้

3. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง

4. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ

5. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น ไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น[19]

จะเห็นได้ว่า ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในท่ามกลางเจ้าลัทธิต่างๆ จึงไม่มีปัญหาของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายแห่งลัทธิที่แตกต่าง

3. หลักการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชนชั้นที่แตกต่างกัน

ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บริษัท 4” คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา[20] มีสถานภาพทางสังคมหลายชั้น เช่น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูตร สมณะ และจัณฑาล[21] เป็นพุทธศาสนิกชนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ร่วมถวายทาน รักษาศีล สดับพระธรรมเทศนาในพระวิหารได้ ในธรรมสภาได้ ประกอบศาสนกิจอื่นๆ ร่วมกันได้ด้วยความรักสามัคคี ไม่มีใครตั้งข้อรังเกียจเรื่องชาติตระกูล หรือดูหมิ่นดูแคลน ขับไล่ ฉุดคร่าออกไปจากสมาคมนั้นๆ ไม่เพราะพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญในเรื่องคุณธรรม แข่งขันกันทำความดี ส่งเสริมสนับสนุนการทำความดีทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมมากกว่าความแตกต่างด้านชาติตระกูล ดังพุทธวจนะที่ว่า “บุคคลจะเป็นคนเลย หรือเป็นคนประเสริฐ ก็เพราะชาติตระกูล หามิได้ บุคคลเป็นคนเลว หรือเป็นคนประเสริฐ ก็เพราะกรรม คือ การกระทำของเขาเอง”[22] จะเห็นได้ว่า พุทธศาสนิกชนจะชื่นชม ยกย่อง เชิดชูผู้ที่มีคุณธรรมหรือบรรลุคุณธรรมขั้นสูงตามลำดับว่า เป็น “พระอริยะ” คือ ท่านผู้ประเสริฐกว่าคนทั้งหลาย

ในส่วนของพระภิกษุสงฆ์ผู้เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนานั้นมาจากคนทุกชั้น วรรณะ ต่างลัทธิศาสนา ความเชื่อค่านิยม ทัศนคติ ก็สามารถอยู่ร่วมกันในสังฆมณฑลได้อย่างปกติสุข ไม่มีใครรังเกียจในเรื่องฐานะ ความเป็นอยู่ก่อนบวชแต่อย่างไร เนื่องจาก “ความประพฤติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยความประพฤติ คือ ศีลเสมอกัน ไม่ประพฤติแตกต่างกัน มีความเห็นถูกต้องดีงามเสมอกัน ไม่ขัดแย้งเพราะความเห็นผิด”[23] และมีเป้าหมายสูงสุด คือ บรรลุความสิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง ซึ่งภิกษุสงฆ์ทุกรูปเมื่อบวชเข้ามาแล้ว ต้องปฏิบัติตนตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา[24] เพื่อบรรลุเป้าหมาย คือ การขัดเกลาตัวเองให้ถึงความหลุดพ้นจากิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งปวง จนถึงความสิ้นสุดทุกข์ดังกล่าวมาแล้ว

จะเห็นได้ว่า หลักการอยู่ร่วมกันตามแนวพระพุทธศาสนานั้นลึกซึ้งกว่าหลักประชาธิปไตยแบบตะวันตก แบบตะวันตก กลุ่มหลากหลายลัทธิ ความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรม ก็ยังแยกกันเป็นกลุ่มอยู่อย่างนั้น กลุ่มใครกลุ่มมัน ไม่มีทางที่จะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อยู่รวมกันแบบหลวมๆ เพื่อต่อสู้ปกป้องผลประโยชน์กลุ่มของตัวเองเท่านั้น แต่การอยู่ร่วมกันตามแนวพระพุทธศาสนานั้น มีความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งกาย วาจา ใจ ประพฤติปฏิบัติต่อกันด้วยจิตอันเมตตา มีความเป็นมิตร มีความเป็นญาติ จะคิด จะพูด จะทำ หรือปรึกษาสิ่งใดกับใครๆ ก็ไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนตน และผู้อื่น มีความเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน[25] ประดุจคนในครอบครัวเดียวกัน

4. หลักแห่งสิทธิและเสรีภาพ

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ส่งเสริมทั้งสิทธิและเสรีภาพ โดยมีหลักการซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎก ดังนี้

หลักแห่งสิทธิ ประกอบไปด้วย

1. สิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน

2. สิทธิในการบรรพชาอุปสมบท

3. สิทธิในการเข้าประชุมสงฆ์

4. สิทธิมนุษยชน

1. สิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน

พระพุทธศาสนาส่งเสริมสิทธิในชีวิตร่างกาย ไม่เฉพาะในมนุษย์เท่านั้น ยังรวมไปถึงสัตว์โลกทั้งมวลด้วย โดยห้ามฆ่าสัตว์ ในทรัพย์สิน ห้ามลักทรัพย์ของคนอื่น เคารพสิทธิในของรักหวงแหนของคนอื่น โดยห้ามประพฤติผิดในกาม สิทธิในความนับถือตนเอง โดยห้ามไม่ให้พูดโกหก สิทธิในความปลอดภัยของกันและกัน โดยห้ามไม่ให้ดื่มน้ำเมา[26]

นอกจากห้ามประพฤติผิดดังกล่าวแล้ว ยังสอนให้ประพฤติในหลักการตรงกันข้ามอีก คือ ให้มีเมตตากรุณาต่อคนและสัตว์โดยหาประมาณมิได้ ให้ประกอบสัมมาชีพ เลี้ยงชีพโดยสุจริต ให้สำรวม คือ ระมัดระวังในของรักของคนอื่น โดยยินดีพอใจเฉพาะในคนรักของตัวเอง ให้มีสัจจะ ความจริงใจ และให้มีสติรอบคอบ[27]

นอกจากนี้แล้วยังมีหลักคำสอนที่ส่งเสริมสิทธิในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินที่ละเอียดขึ้นไปอีก ได้แก่ อกุศลกรรมบถ (ทางที่ไม่ส่งเสริมสิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน) และกุศลกรรมบถ (ทางที่ส่งเสริมสิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน)

อกุศลกรรมบถ 10 (ทางปฏิบัติที่ไม่ส่งเสริมสิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน) จัดเป็นกายกรรม คือ ทำด้วยกาย 3 อย่าง คือ

1. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์

2. อทินนาทาน ลักทรัพย์

3. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในคู่ครองของผู้อื่น

จัดเป็นวจีกรรม คือ ทำด้วยวาจา 4 อย่าง คือ

1. มุสาวาท พูดเท็จ

2. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด สร้างความแตกแยก

3. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ

4. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล

จัดเป็นมโนกรรม คือ ทำด้วยใจ 3 อย่าง คือ

1. อภิชฌา โลภอยากได้ของคนอื่นโดยทุจริต

2. พยาบาท ปองร้ายคนอื่น

3. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบ[28]

กุศลกรรมบถ 10 (ทางปฏิบัติที่ส่งเสริมสิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน) จัดเป็นกายกรรม คือ ทำด้วยกาย 3 อย่าง คือ

1. ปาณาติบาต เวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์

2. อทินนาทาน เวรมณี เว้นจากการลักทรัพย์

3. กาเมสุมิจฉาจาร เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในคู่ครองของผู้อื่น

จัดเป็นวจีกรรม คือ ทำด้วยวาจา 4 อย่าง คือ

1. มุสาวาท เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ

2. ปิสุณาวาจา เวรมณี เว้นจากการพูดส่อเสียด สร้างความแตกแยก

3. ผรุสวาจา เวรมณี เว้นจากการพูดคำหยาบ

4. สัมผัปปลาปะ เวรมณี เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล

จัดเป็นมโนกรรม คือ ทำด้วยใจ 3 อย่าง คือ

1. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของคนอื่นโดยทุจริต

2. อพยาบาท ไม่ปองร้ายคนอื่น

3. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก[29]

การกระทำ 10 อย่างนี้ เป็นข้อควรประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

จะเห็นได้ว่า หลักการประชาธิปไตยในเรื่องสิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินนั้น พระพุทธศาสนามีหลักการดังกล่าว ไม่เพียงระดับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์เท่านั้น ยังส่งเสริมเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์ทุกชนิดที่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ส่วนในแนวทางปฏิบัตินั้น มีขั้นตอนในระดับเบื้องต้นธรรมดา และระดับสูงที่ละเอียดขึ้นตามระดับจิตของแต่ละบุคคลที่จะต้องพัฒนาให้เกิด ให้มีตามลำดับ

2. สิทธิในการบรรพชาอุปสมบท

ในพระพุทธศาสนาแม้เกิดในท่ามกลางศาสนาพราหมณ์และลัทธิอื่นๆหลากหลายในสังคมขณะนั้น พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงรังเกียจวรรณะ หรือชนชั้นต่างๆ ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนาเลย หากปฏิบัติตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ เช่น อัฏฐบริขาร 8 ครบ มีคุณสมบัติครบ ไม่มีลักษณะต้องห้าม มีสิทธิ์ได้รับการอุปสมบทได้ทั้งนั้น และเมื่อบวชแล้ว ประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยเท่ากัน ไม่กีดกันภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งมาจากสถานภาพที่ดีกว่าหรือเลวกว่าแต่อย่างใด เมื่อปฏิบัติตามพระธรรมวินัย คือ อธิศีลสิกขา มีศีลบริสุทธิ์ยิ่ง อธิจิตสิกขา จิตหมดจดบริสุทธิ์ยิ่ง อธิปัญญาสิกขา มีปัญญารู้ยิ่ง[30] ก็สามารถได้รับสิทธิ์ประโยชน์ คือ การบรรลุธรรมถึงความเป็นพระอริยะได้สมควรแก่ความสามารถในการปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ คือ ความเปลี่ยนแปลงจากคนธรรมดา คือ ปุถุชน เป็นพระอริยบุคคลนั้น มีดังนี้

พระอริยบุคคล 8 จำพวก คือ

1. พระโสดาปัตติมรรค

2. พระโสดาปัตติผล

3. พระสกทาคามิมรรค

4. พระสกทาคามิผล

5. พระอนาคามิมรรค

6. พระอนาคามิผล

7. พระอรหัตมรรค

8. พระอรหัตผล[31]

นี่คือสิทธิประโยชน์ที่พระภิกษุผู้เข้ามาบวชจะได้รับ แต่ทั้งนี้แม้มีสิทธิจะได้รับก็ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคลด้วย คือ ได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ตามที่กล่าวมา ข้อ 1 – ข้อ 4 พุทธบริษัท ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีสิทธิประโยชน์เท่ากัน ส่วนสิทธิประโยชน์ ข้อ 7 – ข้อ 8 จะต้องอยู่ในภาวะของภิกษุ แม้พุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์สามารถบรรลุได้ก็จริง เมื่อบรรลุแล้วต้องอุปสมบทเป็นภิกษุภาวะ เนื่องจากเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นสูงสุด จะต้องอยู่ในเพศของภิกษุ ซึ่งเป็นเพศที่ได้รับสิทธิพื้นฐานจากการบรรพชาอุปสมบท มีข้อปฏิบัติทางกาย วาจา คือ ศีล 227 สิกขาบทสูงกว่าคฤหัสถ์

3. สิทธิในการเข้าประชุมสงฆ์

สิทธิในการเข้าร่วมประชุมเป็นสิทธิพื้นฐานของพระภิกษุสงฆ์ได้รับทุกรูปเท่าเทียมกัน เป็นสิทธิตามพระวินัยที่ภิกษุรูปใดไม่ให้ความร่วมมือ มีโทษเป็นอาบัติทุกกฎ เมื่อเข้าประชุมสงฆ์ก็ได้รับสิทธิเสนอความเห็นคัดค้าน หรือเห็นด้วยก็ได้ การเสนอความคิดเห็นเป็นสิทธิของภิกษุผู้เข้าร่วมประชุม หากเห็นด้วย ก็ให้นิ่ง ไม่เห็นด้วย ให้พูดคัดค้าน

โดยปกติแล้วการเสนอญัตตินั้นแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ 1. ญัตติทุติยกรรม วิธีการ คือ เสนอญัตติ 1 ครั้ง และขอความเห็นชอบอีก 1 ครั้ง 2. ญัตติจตุตถกรรม วิธีการ คือ เสนอญัตติ 1 ครั้ง และขอความเห็นชอบอีก 3 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง[32]

ญัตติทุติยกรรมใช้ในสังฆกรรม ดังนี้

1. การสวดพระปาฏิโมกข์ คือ สาธยายทบทวนศีล 227 ข้อ ทุก 15 วัน

2. สวดมอบผ้ากฐิน คือ ขอความเห็นชอบในการมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่สมควรรับ

3. สวดสมมติ คือ แต่ตั้งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ทำหน้าที่แจกอาหาร เสนาสนะ จีวร

4. การปวารณา คือ อนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้

ญัตติจตุตถกรรม ใช้ในสังฆกรรม ดังนี้

1. การสวดอุปสมบทบวชพระ คือ รับคฤหัสถ์เข้ามาเป็นภิกษุ

2. การสวดลงโทษภิกษุผู้ประพฤติผิดวินัย 7 อย่าง (ตัชชนียกรรม)

3. การสวดยกเลิกการลงโทษผู้ประพฤติผิดวินัย 7 อย่าง[33]

การใดจะใช้การสวดแบบญัตติทุติยกรรม หรือญัตติจตุตถกรรมขึ้นอยู่กับความสำคัญของกิจนั้นๆ หากต้องการความละเอียดรอบคอบเป็นเรื่องใหญ่ จะใช้การสวดแบบจตุตถกรรม หากเป็นเรื่องสำคัญรองลงมาจะใช้สวดแบบญัตติทุติยกรรม

4. สิทธิมนุษยชน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้เลิกระบบทาส ไม่เอามนุษย์มาเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย ห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้ใช้ กับทั้งสอนให้เลิกทาสภายใน คือ ไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง[34] ในความเป็นมนุษย์ในโลกย่อมมีสิทธิในชีวิตร่างกาย สิทธิในการดำรงชีวิตในสังคมอย่างอิสระเท่ากับมนุษย์อื่นๆในโลก ไม่ควรให้สิทธิใครหรือชนขั้นใดเหนือกว่าบุคคลอื่น ในการใช้อำนาจความเป็นนายบีบบังคับให้คนอื่นอยู่ภายใต้อำนาจ เพื่อแสวงหาประโยชน์อื่นใดจากความเป็นมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมที่ด้อยกว่า อันแสดงถึงความโหดร้าย ทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์เดรัจฉานที่ซื้อขายกันได้โดยทั่วไป พระพุทธเจ้าจึงห้ามพุทธบริษัทไม่ให้ทำเช่นนั้น และทรงสั่งสอนให้เลิกทาสทั้งภายนอกและภายใน ให้มีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข ดังปรากฏในพระวินับปิฎกและพระสุตตันตปิฎก ดังต่อไปนี้

ในพระวินัยปิฎก “ห้ามไม่ให้ภิกษุมีทาสหญิงชายไว้ใช้ ภิกษุใดฝ่าฝืน เป็นอาบัติทุกกฎ”[35] “ห้ามมิให้สงฆ์บวชบุคคลที่เป็นทาส หรือหนีมา”[36]

และในพระสุตตันตปิฎก ห้ามผู้นับถือพระพุทธศาสนาทำการค้าขายที่ไม่สมควร เรียกว่า “มิจฉาวณิชชา” 5 ประการ คือ 1. ค้าขายเครื่องประหาร 2. ค้าขายมนุษย์ 3. ค้าขายสัตว์สำหรับฆ่าทำอาหาร 4. ค้าขายน้ำเมา 5. ค้าขายยาพิษ[37]

จากหลักการนี้แสดงให้เห็นถึง การทรงส่งเสริมทั้งสิทธิมนุษยชน และสิทธิแห่งการมีชีวิตของสัตว์ทั้งปวง

ส่วนในพรหมชาลสูตร ทรงแสดงไว้ในจุลศีล ห้ามไม่ให้ภิกษุรับทาสีทาสาที่มีผู้มอบให้[38]

จะเห็นได้จากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนส่งเสริมสิทธิของทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ให้มองข้ามคุณค่าของชีวิต ซึ่งเป็นการปลดเปลื้องจากทาสภายนอก นอกจากนี้แล้วพระพุทธศาสนายังสอนให้ปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการเป็นทาสภายใน คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ด้วยศีล สมาธิ และปัญญาตามลำดับ

จากข้อความข้างต้น อันเกี่ยวกับทาสภายในและทาสภายนอก คือ การทำคนให้เป็นทาสของคนจริงๆ กับทาสภายใน คือ การที่คนเป็นทาสแห่งอำนาจฝ่ายต่ำในตัวเองนี้ จะเห็นได้ว่า จะโดยประวัติศาสตร์ หรือโดยหลักฐานใดๆก็ตาม แสดงว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกในโลกที่มีหลักการและคำสอนเพื่อให้เลิกระบบทาส อันเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตามที่เรียกร้องกันในปัจจุบันนี้[39]

พระพุทธศาสนานอกจากจะส่งเสริมสิทธิแล้ว ยังมีคำสอนที่ส่งเสริมเสรีภาพในการพูด การกระทำ การแสดงออกในการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐาน อันเป็นหลักการประการหนึ่งของประชาธิปไตย ซึ่งประกอบไปด้วย

1. เสรีภาพในการพูด ในการแสดงความเห็น พระพุทธศาสนาจะให้เสรีภาพของเต็มที่ในการประชุมสงฆ์ เพื่อทำสังฆกรรมต่างๆ จะเป็นแบบญัตติทุติยกรรม หรือญัตติจตุตถกรรมก็ตาม จะเปิดโอกาสให้พระภิกษุผู้เข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ตาม โดยขั้นตอน คือ เสนอญัตติ จากนั้นขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ถ้าที่ประชุม เห็นด้วย กรรมนั้นก็สำเร็จ ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ยกเลิกไป ตัวอย่างในการประชุมสงฆ์ เพื่อพิจารณาให้ผ้ากฐิน และเรื่องการอุปสมบท มีดังนี้

1. การให้ผ้ากฐิน ทำด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา เสนอญัตติ 1 ครั้ง ขอความเป็นชอบ 1 ครั้ง ประกอบไปด้วย

1.1 เสนอญัตติ “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้ เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ”

1.2 ขอความเห็นชอบ “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ สงฆ์ให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน การให้ผ้ากฐินนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงทราบความนี้ไว้อย่างนี้”[40]

2. การให้อุปสมบท ทำด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา คือ เสนอญัตติ 1 ครั้ง ขอความเห็นชอบ 3 ครั้ง ประกอบไปด้วย

2.1 เสนอญัตติ “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ เป็นอุปสัมปนาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ นี่เป็นญัตติ”

2.2 ขอความเห็นชอบ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ เป็นอุปสัมมนาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ สงฆ์อุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้นี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด”

2.3 ครั้งที่ 2 “ข้าพเจ้ากล่าวคำข้อนี้เป็นครั้งที่ 2 ...”

2.4 ครั้งที่ 3 “ข้าพเจ้ากล่าวคำข้อนี้เป็นครั้งที่ 3...”

ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความข้อนี้ไว้ด้วยอย่างนี้[41]

จะเห็นว่าพระพุทธศาสนาให้เสรีภาพในการพูด การแสดงความเห็น ในการตัดสินในกิจการสงฆ์โดยรวม และมีขั้นตอนตามแบบประชาธิปไตยของระบบรัฐสภาแบบประชาธิปไตยในการออกกฎหมาย ซึ่งมีการเสนอญัตติ การให้ความเห็น 3 วาระ ซึ่งหลักเสรีภาพของพระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยที่เก่าแก่ก่อนระบอบประชาธิปไตยตะวันตกเสียอีก

2. เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือลัทธิความเชื่อ

พระพุทธศาสนามีหลักการแห่งการให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่มีการบีบบังคับใครให้นับถือโดยวิธีการอื่น เช่น บังคับขู่เข็ยให้กลัวอำนาจลึกลับ เทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเครื่องล่อ รางวัลประการใด แต่ให้อิสระเสรีในการตัดสินใจให้เชื่อด้วยปัญญาของบุคคลนั้นเอง เมื่อเห็นด้วยปัญญาของตนเองประการใดแล้ว จึงนับถือศาสนา ลัทธิคำสอนนั้น ดังปรากฏในเกสปุตตสูตร หรือกาลามสูตร ดังนี้

...ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆกันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินว่าอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับทิฏฐิของตน อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเราเมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้...[42]

3. หลักแห่งความเสมอภาค ประกอบไปด้วย

1. ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์

2. ความเสมอภาคในความเป็นชายและหญิง

3. ความเสมอภาคในการเป็นภิกษุ

1. ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์

พระพุทธศาสนายอมรับสมภาพหรือความเสมอภาค คือ ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ โดยหลักคำสอนที่ปฏิวัติสังคมชนชั้นของอินเดียที่นับถือหยั่งรากลึกอันยาวนานในวรรณะ 4 คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และคนนอกวรรณะอีก 1 คือ จัณฑาล[43] โดยหลักการที่ว่า วรรณะใดทำกรรดีก็เป็นคนดี ใครทำกรรมชั่วก็เป็นคนชั่วเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นวรรณะใด ซึ่งมีมีปรากฏดังนี้ ในวาเสฏฐสูตร มีข้อความที่พระพระพุทธเจ้าตรัสกับพราหมณ์วาเสฏฐะว่า

เมื่อสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ก็พร่ำกล่าวว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติ บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนชั่ว เพราะชาติก็หาไม่ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ ที่แท้ ชื่อว่าเป็นคนชั่วเพราะกรรม ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นศิลปินเพราะกรรม เป็นพ่อค้าเพราะกรรม เป็นคนรับใช้เพราะกรรม แม้เป็นโจรก็เพราะกรรม แม้เป็นทหารก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตเพราะกรรม แม้เป็นพระราชาก็เพราะกรรม บัณฑิตทั้งหลายมีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้ในกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไปฉะนั้น บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยกรรมอันประเสริฐนี้ คือ ตบะพรหมจรรย์ สัญญมะ และทมะ กรรม ๔ อย่างนี้ เป็นกรรมอันสูงสุดของพรหมทั้งหลาย ทำให้ผู้ประพฤติถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ ระงับกิเลสได้ สิ้นภพใหม่แล้ว

ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่าผู้นั้นชื่อว่าเป็นพรหม เป็นท้าวสักกะ ของบัณฑิตผู้รู้แจ้งทั้งหลาย”[44]

ทรงตรัสถึงความเป็นผู้ประพฤติธรรมย่อมเป็นผู้เสมอกัน ในสีลวิมังสชาดก ว่า

“[๗๕๘] ข้าพระองค์มีความสงสัยว่า ศีลประเสริฐ หรือสุตะประเสริฐ ศีลนี่แหละประเสริฐกว่าสุตะ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยแล้ว.

[๗๕๙] ชาติและวรรณะเป็นของเปล่า ได้สดับมาว่า ศีลเท่านั้นประเสริฐที่สุด บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยศีล ย่อมไม่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ.

[๗๖๐] กษัตริย์และแพศย์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไม่อาศัยธรรม ชนทั้งสองนั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมเข้าถึงทุคติ.

[๗๖๑] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทหยากเยื่อ

ประพฤติธรรมในธรรมวินัยนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในไตรทิพย์.

[๗๖๒] เวท ชาติ แม้พวกพ้อง ก็ไม่สามารถจะให้อิสริยยศหรือความสุขในภพหน้าได้ ส่วนศีลของตนเองที่บริสุทธิ์ดีแล้ว ย่อมนำความสุขในภพหน้ามาให้ได้”[45]

ในบรรดาวรรณะ 4 จะถึงความเป็นคนเลวหรือประเสริฐกว่ากันไม่ได้ขึ้นอยู่กับวรรณะแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับการประพฤติธรรม ทรงตัสกับสามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะ ในอัคคัญญสูตรว่า

“ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็เมื่อวรรณะทั้งสี่เหล่านี้แล รวมเป็นบุคคลสองจำพวก คือพวกที่ตั้งอยู่ในธรรมดำ วิญญูชนติเตียนจำพวกหนึ่ง พวกที่ตั้งอยู่ในธรรมขาว วิญญูชนสรรเสริญจำพวกหนึ่งเช่นนี้ ไฉนพวกพราหมณ์จึงพากันอวดอ้างอยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พวกพราหมณ์เป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พราหมณ์พวกเดียวเป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มี

กำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม ดังนี้เล่า ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพวกเขา ข้อนั้นเพราะเหตุไร

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะว่า บรรดาวรรณะทั้งสี่เหล่านั้น ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสและอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ได้วางภาระเสียแล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว สิ้นเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นไปแล้วเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นปรากฏว่าเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายโดยชอบธรรมแท้ มิได้ปรากฏโดยไม่ชอบธรรมเลย ด้วยว่าธรรมเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยบรรยายนี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

...ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้ภาษิตคาถาไว้ว่า

กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็คาถานี้สนังกุมารพรหมขับถูกไม่ผิด ภาษิตไว้ถูก ไม่ผิด ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราเห็นด้วย

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ถึงเราก็กล่าวอย่างนี้ว่า

กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์”[46]

พระพุทธเจ้าตรัสถึงความเสมอภาคของมนุษย์ว่า อยู่ที่ความประพฤติไม่ได้อยู่ที่ชาติตระกูลสูงหรือต่ำกับพราหมณ์ชื่อ สุนทริกภารทวาช ในสุนทริกสูตรว่า

“ท่านอย่าถามถึงชาติ แต่จงถามถึงความประพฤติเถิด ไฟย่อมเกิดจากไม้แล บุคคลผู้เกิดในตระกูลต่ำ เป็นมุนี มีความเพียร เป็นผู้รู้ทั่งถึงเหตุผล ห้ามโทษเสียด้วยหิริ ฝึกตนแล้วด้วยสัจจะ ประกอบด้วยการปราบปราม ถึงที่สุดแห่งเวท มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว ผู้ใดมียัญอันน้อมเข้าไปแล้ว บูชาพราหมณ์ผู้นั้น ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมบูชาพระทักขิไณยบุคคลโดยกาล"[47]

พระพุทธเจ้าทรงแสดงความไม่ต่างกันของวรรณะ 4 แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ในกัณณกัตถลสูตรว่า

“เปลวกับเปลวสีกับสี หรือแสงกับแสงของไฟที่เกิดจากไม้ต่างๆกันนั้น ไม่แตกต่างกันเลย เมื่อวรรณะทั้ง 4 มีความเพียรชอบเหมือนกัน ผลย่อมเสมอกัน ไม่แตกต่างกัน”[48]

2. ความเสมอภาคในความเป็นเพศชายและหญิง

พระพุทธศาสนายอมรับในความเสมอภาคของเพศชายและหญิงว่า มีความสามารถและสติปัญญาเท่าเทียมกัน สามารถพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้มีคุณธรรมตามลำดับจนถึงการบรรลุคุณธรรมขั้นสูง โดยไม่มีการแบ่งแยกเพศชายหญิงแต่อย่างใด ดังพระพุทธดำรัสว่า

“มิใช่แต่บุรุษจะเป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถาน แม้สตรีมีปัญญาเห็นประจักษ์ ก็เป็นบัณฑิตได้ในที่นั้นๆ มิใช่บุรุษจะเป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถาน แม้สตรีที่คิดความได้รวดเร็ว ก็เป็นบัณฑิตได้”[49]

พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระเจ้าเปนทิโกศล ในสาวัตถีนิทานเกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของสตรี เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงเบิกบานพระทัย เพราะพระนางมัลลิกาเทวีประสูติพระธิดาว่า

“ดูกรมหาบพิตร ผู้เป็นใหญ่ยิ่งกว่าปวงชนแท้จริง แม้สตรีบางคนก็เป็นผู้ประเสริฐ พระองค์จงชุบเลี้ยงไว้ สตรีที่มีปัญญา มีศีล ปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวดังเทวดา จงรักสามี บุรุษเกิดจากสตรีนั้น ย่อมเป็นคนแกล้วกล้า เป็นเจ้าแห่งทิศได้ บุตรของภริยาดีเช่นนั้น แม้ราชสมบัติก็ครอบครองได้”[50]

บุรุษและสตรีเสมอภาคกันในการบวชเป็นบรรพชิต และสามารถบรรลุคุณธรรมได้เหมือนกัน ดังปรากฏในโคตรมีสูตรที่ท่านพระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ควรทำให้แจ้งซึ่งโสตาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผลได้หรือไม่ พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรอานนท์ มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ควรทำให้แจ้งแม้โสตาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผลได้”[51]

3. ความเสมอภาคในความเป็นภิกษุ

ผู้เข้ามาบวช จะเป็นพระภิกษุด้วยการอุปสมบท และสามเณรด้วยการบรรพชา ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นใด มีสถานภาพทางสังคมอย่างไร เมื่อเข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็มีภาวะเสมอภาคกันทั้งในการประพฤติปฏิบัติภายใต้พระธรรมวินัยอันเดียวกัน ได้รับการปฏิบัติเสมอกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ไม่ว่าก่อนบรรพชาอุปสมบทจะมีฐานะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หรือจัณฑาล จะเป็นผู้ปกครอง มีตำแหน่งสูงหรือไม่ก็ตาม จะมีฐานะยากจนเข็ญใจ หรือเป็นเศรษฐีก็ตาม ไม่แบ่งแยกสูงต่ำ โดยสถานภาพก่อนบวชแต่อย่างไร เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้ว ย่อมเสมอกันทุกรูป ไม่มียกเว้น จะเห็นได้จากการออกบวชของเจ้าศากยะทั้ง 5 คือ พระเจ้าภัททิยศากยะ อนุรุทธศากยะ อานันทศากยะ ภัคคุศากยะ กิมพิลศากยะ จากศากยวงศ์ เทวทัตจากโกลิยวงศ์ และอุปาลีซึ่งเป็นภูษามาลา รวมเป็น 7 ท่าน เสด็จไปทูลของบวขต่อพระศาสดาซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม ก่อนบวชเจ้าศากยะเหล่านั้นทูลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นศากยะ มีมานะถือตัวกล้า อุปาลีผู้นี้เป็นคนรับใช้ของข้าพเจ้าทั้งหลายมานานแล้ว ขอพระองค์จงให้อุปาลีบวชก่อนเถิด ข้าพระเจ้าทั้งหลายจักได้ทำการกราบไหว้ ลุกต้อนรับ ประณมมือ และกิจที่สมควรอื่นๆแก่อุปาลิ เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพระเจ้าทั้งหลายจักละมานะ ความถือตัวว่าเป็นศากยะได้”

พระศาสดาก็โปรดให้บวชอุปาลิก่อน ให้บวชศากยะเหล่านั้นภายหลัง[52]

5. หลักแห่งเสียงข้างมาก

การออกเสียงเพื่อลงมติในพระพุทธศาสนานั้น ส่วนมากจะใช้มติเป็นเอกฉันท์ จะคัดค้าน แม้เสียงเดียว ก็คือว่า ในสังฆกรรมต่างๆ ญัตตินั้นก็ตกไป มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่ใช้เสียงข้างมาก ซึ่งใช้มติดังกล่าวทั้งในญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม ดังนี้

กรณีใช้มติเอกฉันท์

1. ประกาศมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง (สวดกฐิน)

2. สมมติแต่งตั้งภิกษุเข้าหน้าที่ทำการสงฆ์

3. การอนุญาตให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ (ปวารณา)

4. อุปสมบท การบวชกุลบุตรเป็นภิกษุ

5. การสวดเพิกถอนอาบัติของภิกษุผู้ล่วงละเมิดอาบัติสังฆาทิเสส (การสวดอัพภาน)

6. สังฆกรรมอื่นๆ ที่ทำเป็นการสงฆ์[53]

กรณีใช้มติเสียงข้างมาก

การใช้มติเสียงข้างมาก ใช้ในกรณีเดียว คือ วิธีการตัดสินความผิดของภิกษุที่เรียกว่า วิธีระงับอธิกรณ์ หรือระงับความขัดแย้งที่ใช้วิธีการตัดสิน คือ ตามเสียงข้างมากเป็นประมาณ เรียก เยภุยยสิกา[54]

ตามที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า การลงมติออกเสียงในพระพุทธศาสนานั้น จะใช้มติเอกฉันท์ ยกเว้นกรณีระงับอธิกรณ์แบบเยภุยยสิกา หลักการแห่งเสียงข้างมากในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนามีความเข้มข้นมากกว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตก ที่ยึดเพียงรูปแบบเสียงข้างมากอย่างเดียว

ประชาธิปไตยตามแนวพระพุทธศาสนาซึ่งปรากฏในคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น มีหลักการสำคัญที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยแบบตะวันตก อันประกอบไปด้วยหลักแห่งการมีส่วนร่วมในการปกครอง หลักแห่งการอยู่ร่วมกันในสังคมของกลุ่มหลากหลายอย่างสันติ หลักแห่งสิทธิและเสรีภาพ หลักแห่งความเสมอภาค และหลักแห่งเสียงข้างมากอย่างครบถ้วน โดยความเป็นจริงแล้ว หลักแห่งประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ก่อนลัทธิประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นโลกเสียอีก ดังจะเห็นได้จากประวัติประชาธิปไตยในยุคทองของกรีก โสเครตีส (Socrates) เกิดหลังพุทธปรินิพพานแล้ว 75 ปี เพลโต (Plato) เกิดหลังพุทธปรินิพพานแล้ว 115 ปี และอริสโตเติล (Aristotle) เกิดหลังพุทธปรินิพพานแล้ว 159 ปี[55] จากหลักฐานดังกล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นประชาธิปไตยแห่งปวงประชา คือ หมู่สัตว์ทั้งหลาย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขทั้งกายและใจ ของมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งปวง



[1] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, รศ., ดร. “รัฐศาสตร์กับการเมือง” (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ตะเกียง : 2534) หน้า 51.

[2] Lewis Copelend and Lawrence Lamn (Eds.) The World’s Great Speechs, (2nd Ed., New York : Dover, 1985) P/315.

[3] สุขุม นวลสกุล, รศ., วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ, รศ., “การเมืองและการปกครองไทย” (กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยรามคำแหง : 2539) หน้า 18.

[4] จรญ สุภาพ, ศ., “หลักรัฐศาสตร์” ฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด : 2522) หน้า 52 -53.

[5] จิรโชค (บรรพต) วีระสัย ศ., ดร., และคณะ. “รัฐศาสตร์ทั่วไป” (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง, 2538) หน้า 282.

[6] C.P. Henry W. Ehrman (ed.) Democracy in a Changing Society, New York : Pracger, 1964

[7] ประสาร ทองภักดี, พ.ท., “หลักการปกครอง (หลักรัฐศาสตร์)” (กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ : 2525) หน้า 118 -119.

[8] สุขุม นวลสกุล, รศ., ดร., วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ, รศ., “การเมืองการปกครองของไทย” (กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยรามคำแหง : 2503) หน้า 14 -18.

[9] จิรโชค (บรรพต) วีระสัย, ศ., ดร., และคณะ. อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 5, หน้า 267 – 282.

[10] พระวินัยปิฎก, มหาวรรค ภาค 2, เล่มที่ 5, หน้า 258.

[11] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, ฉักกนิบาต, เล่มที่ 22 หน้า 322.

[12] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, สัตตกนิบาต, เล่มที่ 23 หน้า 21.

[13] พระอภิธรรมปิฎก, วิภังค์, เล่มที่ 35, หน้า 369.

[14] อังคุตตรนิกาย, จตุกกนิบาต, เล่มที่ 21, หน้า 23.

[15] อังคุตตรนิกาย, จตุกกนิบาต, เล่มที่ 21, หน้า 42.

[16] ทีฆนิกาย, ปาฏิกวรรค, เล่มที่ 11 หน้า 203.

[17] พระสุตตันตปิฎก, ทีฆนิกาย, สีลขันธวรรค, สามัญผลสูตร, หน้า 45 -49.

[18] พระสุตตันตปิฏก, ทีฆนิกาย, มหาวรรค, เล่มที่ 10, หน้า 1.

[19] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, ปัญจกนิบาต, เล่มที่ 22, หน้า 206.

[20] พระสุตตันตปิฎก. อังคุตตรนิกาย. จตุกกนิบาต, เล่มที่ 21, หน้า 178.

[21] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, จตุกกนิบาต, เล่มที่ 21 หน้า179

[22] พระสุตตันตปิฎก, ขุททกนิกาย, สุตตนิบาต, เล่มที่ 25, หน้า 382.

[23] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, ฉักกนิบาต, เล่มที่ 22, หน้ 322.

[24] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, ติกนิบาต, เล่มที่ 20, หน้ 294.

[25] พระสุตตันตปิฎก, มัชฌิมนิกาย, อุปริปัณณาสก์, เล่มที่ 14, หน้า 112.

[26] พระสุตตันตปิฎก, ขุททกนิกาย, อปทาน, เล่มที่ 24, หน้า 77 – 78.

[28] พระสุตตันตปิฎก, ทีฆนิกาย, มหาวรรค, เล่มที่ 10, หน้า 356.

[29] พระสุตตันตปิฎก, ทีฆนิกาย, ปาฏิกวรรค, เล่มที่ 11, หน้า 384..

[30] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, ติกนิบาต, เล่มที่ 20, หน้า 294.

[31] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, อัฏฐกนิบาต, เล่มที่ 23, หน้า 301.

[32] พระวินัยปิฎก, มหาวรรค, เล่ม 4, หน้า 77 – 79.

[33] พระวินัยปิฎก, มหาวรรค, เล่ม 5, หน้า 221 – 224.

[34] สุชีพ ปุญญานุภาพ, “คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา” (กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย”, 2541) หน้า 55.

[35] พระวินัยปิฎก, มหาวรรค. เล่ม 7, หน้า 346.

[36] พระวินัยปิฎก, มหาวรรค, เล่ม 4, หน้า 156.

[37] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, ปัญจกนิบาต, เล่ม 22, หน้า 232.

[38] พระสุตตันตปิฎก, ทีฆนิกาย, สีลขันธวรรค, เล่มที่ 12, หน้า 284.

[39] สุชีพ ปุญญานุภาพ, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 34, หน้า 78.

[40] พระวินัยปิฎก, มหาวรรค, เล่มที่ 5, หน้า 109.

[41] พระวินัยปิฎก, มหาวรรค, ภาค 1, เล่มที่ 4, หน้า 77 – 79.

[42] พระสุตตันตปิฎก, มัชฌิมนิกาย, มัชฌิมปัณณาสก์, เล่มที่ 5, หน้า 212 –218.

[43] พระสุตตันตปิฎก, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 20, หน้า179

[44] พระสุตตันตปิฎก, มัชฌิมนิกาย, มัชฌิมปัณณาสก์, เล่มที่ 5, หน้า 483 -490.

[45] พระสุตตันตปิฎก, ขุททกนิกาย, ชาดก ภาค 1, เล่มที่ 19, หน้า 126.

[46] พระสุตตันตปิฎก, ทีฆนิกาย, ปาฏิกวรรค, เล่มที่ 3, หน้า 71 – 88.

[47] พระสุตตันตปิฎก, สังยุตตนิกาย, สคาถวรรค, เล่มที่ 7, หน้า 223 – 236.

[48] พระสุตตันตปิฎก. มัชฌิมนิกาย, มัชฌิมปัณณาสก์, เล่มที่ 5, หน้า 391 – 400.

[49] พระสุตตันตปิฎก, ขุททกนิกาย, เถรีคาถา, เล่มที่ 2, หน้า 178.

[50] พระสุตตันตปิฎก, สังยุตตนิกาย, สคาถวรรค, เล่มที่ 15, หน้า 377.

[51] พระสุตตันตปิฎก, อังคุตตรนิกาย, สัตตก – อัฏฐก – นวกนิบาต, เล่มที่ 15, หน้า 249.

[52] พระวินัยปิฎก, จุลวรรค ภาค 2, เล่มที่ 7, หน้า 127.

[53] พระวินัยปิฎฏ อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 10, หน้า 13.

[54] พระวินัยปิฎก, มหาวิภังค์ ภาค 1, เล่มที่ 1, หน้า 36.

[55] สุชีพ ปุญญานุภาพ, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 36, หน้า 53.

0 comments:

แสดงความคิดเห็น