บทที่ 2 กำเนิดรัฐ (State Origin)

รัฐหรือประเทศเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เกิดจากสาเหตุอะไร? นับว่าเป็นคำถามที่บรรดาปราชญ์ทางรัฐศาสตร์ได้พยายามค้นหาสาเหตุและคำตอบอยู่ตลอดเวลา มีการตั้งสมมติฐานของการเกิดองค์กรทางการเมืองที่เรียกว่า รัฐ นี้ในหลายสมมติฐาน แม้จะมีการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยาก็ตาม แต่ไม่มีหลักฐานใดสามารถอธิบายว่า แท้จริงรัฐเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? จากการศึกษาค้นคว้าของนักรัฐศาสตร์ได้ตั้งทฤษฎีของตัวเองขึ้นมาหลายทฤษฎี เพื่ออธิบายถึงสาเหตุการกำเนิดรัฐ ในบรรดาทฤษฏีเหล่านั้น บางทฤษฎีสามารถอธิบายกำเนิดรัฐบางรัฐได้ แต่ไม่อาจอธิบายกำเนิดรัฐอื่นๆ ได้ เพราะการกำเนิดรัฐทั้งหลายในโลก ไม่เหมือนกัน ทฤษฎีหนึ่งจึงไม่อาจตอบคำถามการเกิดรัฐอื่นได้อย่างลงตัว ดังนั้น จึงเกิดมีทฤษฏีกำเนิดรัฐหลายทฤษฎี แต่ละทฤษฎีมีจุดอ่อนและจุดแข็งต่างกัน มีทั้งน่าเป็นไปได้และไม่น่าเป็นไปได้ แม้ในพระพุทธศาสนาก็มีคำสอนที่ปรากฏใน อัคคัญญสูตรและมหาโควินทสูตรเกี่ยวกับกำเนิดรัฐเหมือนกัน แต่ไม่ใช่คำสอนเกี่ยวกับทฤษฎีการกำเนิดรัฐโดยเฉพาะ เป็นเพียงหลักคำสอนที่เกี่ยวเนื่องเพื่ออธิบายเชื่อมโยงถึงหลักธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติ และควรงดเว้นเพื่อเข้าถึงความสงบสุขของมนุษย์เท่านั้น

ทฤษฎีกำเนิดรัฐ

ทฤษฎีกำเนิดรัฐตามทัศนะของนักรัฐศาสตร์มีหลายทฤษฎี ดังต่อไปนี้

1. ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (Devine Right Theory)

2. ทฤษฎีการแบ่งงาน (Devision of Labor Theory)

3. ทฤษฎีสัญชาตญาณ หรือทฤษฎีธรรมชาติ (Instinct or Natural Theory)

4. ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social Contract Theory)

5. ทฤษฎีอภิปรัชญา (Metaphysical Theory)

6. ทฤษฎีทางกฎหมาย (Legal or Juristic Theory)

7. ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory)

8. ทฤษฎีพลกำลัง (Force Theory)

9. ทฤษฎีอัคคัญสูตร (Akkhanyasuta Theory)

10. ทฤษฎีมหาโควินทสูตร (Mahakhovintasuta Theory)

1. ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (Devine Right Theory)

ทฤษฎีนี้อธิบายตามแนวความเชื่อในคริสต์ศาสนาที่เชื่อว่า พระเจ้าสร้างรัฐและทุกสรรพสิ่งบนโลก รัฐเป็นการบันดาลตามเจตนารมณ์ของพระเจ้าว่า เพื่อให้มีอำนาจในการควบคุมมนุษย์ มนุษย์ไม่ได้สร้างรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ คือ องค์ประกอบของรัฐ ผู้ปกครองรัฐเป็นตัวแทนของพระเจ้า ทุกคนจะต้องเชื่อฟังคำสั่งของผู้ปกครองรัฐ การล่วงละเมิดฝ่าฝืนถือว่ามีโทษและเป็นบาป

2. ทฤษฎีการแบ่งงาน (Devision of Labor Theory)

ทฤษฎีนี้ถือว่า รัฐเกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ควบคมุการแบ่งงาน เพราะมนุษย์ในสังคมมีภาระหน้าที่รับผิดชอบมากมายหลากหลายสลับซับซ้อน รัฐจึงจำเป็นต้องมีอำนาจในการควบคุมดูแลการแบ่งงาน หากไม่มีรัฐแล้วจะเกิดความสับสนวุ่นวาย เพราะขาดกลไกในการขับเคลื่อนไปในทิศทางที่พึงประสงค์

3. ทฤษฎีสัญชาตญาณ หรือทฤษฎีธรรมชาติ (Instinct or Natural Theory)

ทฤษฎีนี้เชื่อว่า รัฐเกิดจากสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่ไม่อาจจะอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังได้ การอยู่รวมกันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ก่อให้เกิดชุมชนและสังคมมนุษย์ขึ้น อันได้แก่ รัฐ

4. ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social Contract Theory)

ทฤษฎีนี้มีแนวคิดว่า มนุษย์เป็นผู้ตกลงยินยอมทำสัญญาสังคมเพื่อก่อตั้งรัฐขึ้นมา โดยมอบอำนาจอธิปไตยแต่บุคคลที่ 3 ใช้อำนาจแทน ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราช มอบให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจโดยเด็ดขาด (Absolute Government) ในการปกครอง ตามแนวคิดของโธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbs) และรูปแบบประชาธิปไตย โดยมอบอำนาจอธิปไตยให้ผู้แทนทำหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตย ทั้งด้านบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ เมื่อมอบให้ทำหน้าที่แล้วสามารถเรียกคืนได้ ตามแนวคิดของจอห์น ล็อค ว่าเป็นสาเหตุของการเกิดรัฐ หมายถึงสังคมและรัฐเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ยอมสละสิทธิ์และยินยอมยกสิทธิ์ให้แก่องค์กรทั้ง 3 ทำหน้าที่แทนประชาชน ขั้นตอนดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาประชาคม เป็นเหตุให้เกิดสังคมและรัฐ

5. ทฤษฎีอภิปรัชญา (Metaphysical Theory)

ทฤษฎีนี้เชื่อว่า รัฐมีสภาพพิเศษแตกต่างจากสังคมมนุษย์ทั่วไป เป็นสภาพนามธรรม จับต้องสัมผัสไม่ได้ เป็นสภาวะที่มีอยู่จริง มีตัวตนเป็นเอกเทศจากสังคมมนุษย์ธรรมดา มีสภาพเฉพาะของตนเอง รัฐเป็นอมตะ คงอยู่ตลอดกาล มนุษย์เกิดมาเพื่อรัฐ แม้มนุษย์จะตายไป แต่รัฐจะต้องคงอยู่

6. ทฤษฎีทางกฎหมาย (Legal or Juristic Theory)

ทฤษฎีนี้ถือว่า เมื่อประชากรมาอยู่รวมกันในสังคมเป็นจำนวนมากขึ้น ย่อมมีการออกกฎเกณฑ์ ข้อบังคับและบทบัญญัติต่างๆขึ้นมาใช้บังคับให้คนอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข องค์กรที่ออกบทบัญญัติ และมีอำนาจใช้บทบัญญัติ หรือกฎหมายนั้น ก็คือ รัฐนั่นเอง

7. ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory)

การกำเนิดรัฐตามทฤษฎีนี้ คือ รัฐเกิดจากการที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีวิวัฒนาการติดต่อกันเป็นระยะเวลานานตามลำดับ จากกลุ่มเล็กๆ เริ่มจากกลุ่มวงศาคณาญาติ ขยายเป็นเผ่าพันธุ์ วิวัฒนาการเป็นนครรัฐ คือ รวมเผ่าพันธุ์หลายๆเผ่าเข้าด้วยกัน มีการรวบรวมหลายๆนครรัฐเข้าด้วยกัน วิวัฒนาการเป็นจักรวรรดิ คือ อาณาจักรที่กว้างใหญ่ เมื่ออาณาจักรอันกว้างใหญ่ดังกล่าวเสื่อมอำนาจลง มีการแบ่งแยกออกเป็นหลายๆรัฐ หรือประเทศปกครองตนเอง

8. ทฤษฎีพลกำลัง (Force Theory)

ทฤษฎีนี้มีทัศนะว่า รัฐเกิดขึ้นจากการใช้กำลังหรือใช้อำนาจของผู้ที่มีความเข้มแข็งกว่ายึดครองดินแดน หรือประเทศที่อ่อนแอกว่าให้อยู่ภายใต้อำนาจ อำนาจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดรัฐ เพราะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดอำนาจการปกครอง นิติบัญญัติ และตุลาการ

9. ทฤษฎีอัคคัญญสูตร (Akkhanyasuta Theory)

ในพระพุทธศาสนามีการกล่าวถึงไม่เพียงแต่กำเนิดรัฐอย่างเดียว แต่ยังกล่าวรวมไปถึงกำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ ตลอดจนชั้นวรรณะของมนุษย์อีกด้วย ซึ่งปรากฏในพระสุตตันตปิฎก อัคคัญญสูตร พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสถึงเรื่องกำเนิดรัฐโดยตรง แต่จุดประสงค์สำคัญเป็นการตรัสสอนสามเณร ๒ รูปที่เข้าเฝ้า เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ทางกาย วาจา ใจ ที่ทำให้เป็นคนประเสริฐหรือไม่ประเสริฐ เป็นคนดีหรือเลวเพราะการกระทำ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด หรือชน ชั้นวรรณะแต่อย่างใด เพราะมนุษย์ยุคแรกของโลกนั้น มีกำเนิดเท่าเทียมกัน ไม่แตกต่างกันเลย ซึ่งตรัสถึงกำเนิดรัฐ กำเนิดโลก และมนุษย์เพียงเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ซึ่งเนื้อหาโดยย่อในพระสูตรดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี

สมัยนั้น สามเณรชื่อ วาเสฏฐะและภารัทวาชะ (เดิมนับถือศาสนาอื่น) อยู่ปริวาส (อบรม) ในภิกษุทั้งหลาย ปรารถนาความเป็นภิกษุ ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้กำลังจงกรมอยู่ในที่แจ้ง เพื่อฟังธรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกท่านมีชาติเป็นพราหมณ์ มีสกุลเป็นพราหมณ์ ออกบวช พวกพราหมณ์ที่เป็นชั้นหัวหน้า ไม่ด่า ไม่บริภาษบ้างหรือ กราบทูลว่า ด่าอย่างเต็มที่ ตรัสถามว่า ด่าอย่างไร กราบทูลว่า ด่าว่าพราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐ เป็นวรรณะขาว บริสุทธิ์ วรรณะอื่นเลว เป็นวรรณะดำ ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เป็นบุตรของพรหม เกิดจากปากพรหม เป็นพรหมทายาท พวกท่านละวรรณะอันประเสริฐ ไปเข้าสู่วรรณะเลว คือพวกสมณะศีรษะโล้น ซึ่งเป็นพวกไพร่ พวกดำ พวกเกิดจากเท้าของพระพรหม ซึ่งเป็นการไม่ดี ไม่สมควรเลย

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พราหมณ์พวกนั้นลืมตน เกิดจากองค์กำเนิดของนางพราหมณีแท้ๆ ยังกล่าวว่าประเสริฐสุด เกิดจากปากพรหมเป็นต้น ซึ่งเป็นการตู่พระพรหมและพูดปด

แล้วตรัสเรื่องมนุษย์ ๔ วรรณะ ที่ทำชั่วทำดีได้อย่างเดียวกัน และเรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศล (ผู้เป็นกษัตริย์) แต่ปฏิบัติต่อพระองค์ซึ่งพวกพราหมณ์ถือว่าเป็นพวกดำ (เพราะปลงศีรษะออกบวช) อย่างเต็มไปด้วยความเคารพ

ครั้นแล้วตรัส (เป็นเชิงปลอบใจ หรือให้หลักการใหม่) ว่าท่านทั้งหลายมาบวชจากโคตร จากสกุลต่างๆ เมื่อมีผู้ถามว่าเป็นใคร ก็จงกล่าวตอบว่า พวกเราเป็นสมณะศากยบุตร ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต ผู้นั้นย่อมควรที่จะกล่าวว่า เราเป็นบุตร เป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดจากธรรม อันธรรมสร้าง เป็นธรรมทายาท (ผู้รับมรดกธรรม) ทั้งนี้เพราะคำว่า ธัมมกาย (กายธรรม) พรหมกาย (กายพรหม) และผู้เป็นธรรม ผู้เป็นพรหม นี้เป็นชื่อของตถาคต

(เป็นการแก้ข้อด่าของพวกพราหมณ์ โดยสร้างหลักการใหม่ให้พวกมาบวชจากทุกวรรณะ ได้ชื่อว่า มีกำเนิดใหม่ที่ไม่แพ้พวกพราหมณ์)

ครั้นแล้วตรัสเรื่อง สมัยหนึ่งโลกหมุนเวียนไปสู่ความพินาศ สัตว์ทั้งหลายไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหมกันโดยมาก เมื่อโลกหมุนกลับ (คือเกิดใหม่ภายหลังพินาศ) สัตว์เหล่านั้นก็จุติมาสู่โลกนี้ เป็นผู้เกิดขึ้นจากใจ กินปีติเป็นภักษา (ยังมีอำนาจฌานอยู่) มีแสงสว่างในตัว ไปได้ในอากาศ (เช่นเดียวกับเมื่อเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม)

อาหารชั้นแรก

แล้วเกิดมีรสดิน (หรือเรียกว่า ง้วนดิน) อันสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส สัตว์ทั้งหลายเอานิ้วจิ้มง้วนดินลิ้มรสดูก็ชอบใจ เลยหมดแสงสว่างในตัว เมื่อแสงสว่างหายไป ก็มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ มีดาวนักษัตร มีคืนวัน มีเดือน มีกึ่งเดือน มีฤดู และปี เมื่อกินง้วนดินเป็นอาหาร กายก็หยาบกระด้าง ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏ พวกมีผิวพรรณดี ก็ดูหมิ่นพวกมีผิวพรรณทราม เพราะดูหมิ่นผู้อื่นเรื่องผิวพรรณ เพราะความถือตัวและดูหมิ่นผู้อื่น ง้วนดินก็หายไป ต่างก็พากันบ่นเสียดาย แล้วก็เกิดสะเก็ดดินที่สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรสขึ้นแทนใช้เป็นอาหารได้ แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายก็หยาบกระด้างยิ่งขึ้น ความทรามของผิวพรรณนาก็ปรากฏชัดขึ้น เกิดการดูหมิ่น ถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้น สะเก็ดดินก็หายไป เกิดเถาไม้สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรสขึ้นแทน ใช้กินเป็นอาหารได้ ความหยาบกระด้างของกาย และความทรามของผิวพรรณนาก็ปรากฏมากขึ้น เกิดการดูหมิ่นถือตัว เพราะเหตุผิวพรรษนั้นมากขึ้น เถาไม้ก็หายไป ข้าวสาลี ไม่มีเปลือก มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสารก็เกิดขึ้นแทน ใช้เป็นอาหารได้ ข้าวนี้เก็บเย็น เช้าก็แก่แทนที่ขึ้นมาอีก เก็บเช้าเย็นก็แก่แทนที่ขึ้นมาอีก ไม่ปรากฏพร่องไปเลย ความหยาบกระด้างของกาย ความทรามของผิวพรรณนาก็ปรากฏมากขึ้น

เพศหญิงเพศชาย

จึงปรากฏเพศหญิงเพศชาย เมื่อต่างเพศเพ่งกันแลกันเกินขอบเขต ก็เกิดความกำหนัดเร่าร้อน และเสพเมถุนธรรมต่อหน้าคนทั้งหลาย เป็นที่รังเกียจและพากันเอาสิ่งของขว้างปา เพราะสมัยนั้นถือว่าการเสพเมถุนเป็นอธรรม เช่นกับที่สมัยนี้ถือว่าเป็นธรรม (ถูกต้อง) ต่อมาจึงรู้จักสร้างบ้านเรือน ปกปิดซ่อนเร้น

การสะสมอาหาร

ต่อมามีผู้เกียจคร้านที่จะนำข้าวสาลีมาตอนเช้าเพื่ออาหารเช้า นำมาตอนเย็นเพื่ออาหารเย็น จึงนำมาครั้งเดียวให้พอทั้งเช้าและเย็น ต่อมาก็นำมาครั้งเดียวให้พอสำหรับ ๒ วัน ๔ วัน ๘ วัน มีการสะสมอาหาร จึงเกิดมีเปลือกห่อหุ้มข้าวสาร ที่ถอนแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทน ปรากฏความพร่อง (เป็นตอนๆ ที่ถูกถอนไป) มนุษย์เหล่านั้นก็ประชุมกันปรารภความเสื่อมลงโดยลำดับ แล้วก็มีการแบ่งข้าวสาลี กำหนดเขต (เป็นของคนนั้นคนนี้)

อกุศลธรรมเกิดขึ้น กษัตริย์เกิดขึ้น

ต่อมาบางคนรักษาส่วนของตน ขโมยของคนอื่นมาบริโภค เมื่อถูกจับได้ ก็เพียงแต่สั่งสอนกันไม่ให้ทำอีก เขาก็รับคำ ต่อมาขโมยอีก ถูกจับได้ถึงครั้งที่ ๓ ก็สั่งสอนเช่นเดิมอีก แต่บางคนก็ลงโทษ ตบด้วยมือ ขว้างด้วยก้อนดิน ตีด้วยไม้ เขาจึงประชุมกันปรารภว่า การลักทรัพย์ การติเตียน การพูดปด การจับท่อนไม้เกิดขึ้น ควรจะแต่งตั้งคนขึ้นให้ทำหน้าที่ติคนที่ควรติ ขับไล่คนที่ควรขับไล่ โดยพวกเราจะแบ่งส่วนข้าวสาลีให้ จึงเลือกคนที่งดงาม มีศักดิ์ใหญ่แต่งตั้งเป็นหัวหน้า เพื่อปกครองคน (ติและขับไล่คนที่ทำผิด) ค่าว่า มหาสมมต (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง) กษัตริย์ (ผู้เป็นใหญ่แห่งนา) ราชา (ผู้ทำความอิ่มใจ สุขใจแก่ผู้อื่น) จึงเกิดขึ้น

กษัตริย์ก็เกิดขึ้นจากคนพวกนั้น มิใช่พวกอื่น จากคนเสมอกัน มิใช่คนไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม ธรรมจึงเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เกิดพราหมณ์ แพศย์ ศูทร

ยังมีคนบางกลุ่มออกบวชมุ่งลอยธรรมที่ชั่ว ที่เป็นอกุศล จึงมีนามว่า พราหมณ์ (ผู้ลอยบาป) สร้างกุฎีหญ้าขึ้น เพ่งในกุฎีนั้น จึงมีนามว่า ฌายกะ (ผู้เพ่ง) บางคนไปอยู่รอบหมู่บ้าน รอบนิคม แต่งตำรา (อรรถกถาว่า แต่งพระเวทและสอนให้ผู้อื่นสวดสาธยาย) คนจึงกล่าวว่า ไม่เพ่ง นามว่า อัชฌายกะ (ผู้ไม่เพ่ง) จึงเกิดขึ้น เดิมหมายความเลว แต่บัดนี้หมายความดี (อัชฌายกะ ปัจจุบันนี้แปลว่า ผู้สาธยาย)

ยังมีคนบางกลุ่ม ถือการเสพเมถุนธรรม ประกอบการงานเป็นส่วนๆ จึงมีชื่อว่า เวสสะ (แพศย์ ประกอบการค้า)

ยังมีคนบางกลุ่ม ประกอบการฆ่าสัตว์ อาศัยการล่าสัตว์เลี้ยงชีวิต จึงมีชื่อว่า ศูทร (พระไตรปิฎกฉบับไทยตกหาย ข้อความวรรคนี้ทั้งวรรค จึงต้องแปลตามฝรั่ง อรรถกถาอธิบายคำว่า สุทท (ศูทร) ว่าเพี้ยนมาจากคำว่า สุทท (นายพราน) หรือ ขุทท (งานเล็กๆน้อยๆ) เป็นเชิงว่าพวกแพศย์ คือ ผู้ทำงานสำคัญ แต่พวกศูทรทำงานเล็กๆน้อยๆ ที่เข้าใจกันทั่วไป คือ ศูทรเป็นพวกคนงาน หรือคนรับใช้)

ครั้นแล้วตรัสสรุปว่า ทั้งพราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็เกิดจากคนพวกนั้น มิใช่เกิดจากคนพวกนั้น เกิดจากคนที่เสมอกัน มิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม (แสดงว่าการแบ่งชั้นวรรณะนั้น ในชั้นเดิมมิได้มาจากหลักการอื่น นอกจากการแบ่งงานหรือแบ่งหน้าที่กันตามความสมัครใจ แล้วก็ไม่ใช่ว่าใครวิเศษกว่าใครมาแต่ต้น แท้จริงก็คนชั้นเดียวกันมาแต่เดิม ทั้งนี้เป็นการทำลายทิฏฐิมานะ ช่วยให้ลดการดูหมิ่นกันและกัน เป็นการปฏิเสธหลักการของพราหมณ์ ที่ว่า ใครเกิดจากส่วนไหนของพระพรหม ซึ่งสูงต่ำกว่ากัน)

สมณมณฑล

แล้วตรัสต่อไปว่า มีสมัยซึ่งบุคคลในวรรณะทั้ง ๔ มีกษัตริย์ เป็นต้น ไม่พอใจธรรมะของตนออกบวช ไม่ครองเรือน จึงเกิดสมณมณฑล หรือ คณะของสมณะขึ้น จากคณะทั้ง ๔ คือ เกิดจากคนเหล่านั้น มิใช่เกิดจากคนพวกอื่น เกิดจากคนที่เสมอกัน มิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม (อันนี้เป็นการพิสูจน์ว่า คนชั้นสมณะที่พวกพราหมณ์ดูหมิ่นอย่างยิ่งนั้น ก็เกิดจากวรรณะทั้ง ๔ ซึ่งมีมูลเดิมมาด้วยกัน ไม่ใช่ใครสูงต่ำกว่ากัน)

การได้รับผลเสมอกัน

ครั้นแล้วตรัสสรุปว่า ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และสมณะ ถ้าประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ มีความเห็นผิด ประกอบกรรมซึ่งเกิดจากความเห็นผิด เมื่อตายไปก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเหมือนกัน ถ้าตรงกันข้าม คือ ประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ มีความเห็นชอบ ประกอบการกรรมซึ่งเกิดจากความเห็นชอบ เมื่อตายไป ก็จะเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ เหมือนกัน หรือถ้าทำทั้งสองอย่าง (คือชั่วก็ทำ ดีก็ทำ) ก็จะได้รับทั้งสุขทั้งทุกข์เหมือนกัน

อนึ่ง วรรณะทั้ง ๔ นี้ ถ้าสำรวมกาย วาจา ใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ ประการก็จะปรินิพพานได้ในปัจจุบันเหมือนกัน

และวรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ หมดกิจ ปลงภาระ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นก็นับว่า เป็นยอดแห่งวรรณะเหล่านั้นโดยธรรม มิใช่โดยอธรรม เพราะธรรมเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ในที่สุด ตรัสย้ำถึงภาษิตของสนังกุมารพรหมและของพระองค์ ที่ตรงกันว่า

กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่ชนผู้ถือโคตร แต่ผู้ใดมีวิชชา (ความรู้) จรณะ (ความประพฤติ) ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์

ใจความสำคัญของอัญคัญญสูตร และเมื่อวิเคราะห์เนื้อหาในพระสูตรนี้แล้ว พอจะสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับกำเนิดของรัฐได้ดังนี้

1. สภาพธรรมชาติ (State of Nature) ในทัศนะของอัคคัญญสูตรนั้น ตอนแรกเริ่มมีลักษณะบริสุทธิ์ผุดผ่อง เสมือนว่าโลกยุคนั้นเป็นสวรรค์ เพราะปรากฏว่า มนุษย์ยุคแรกมีบรรพบุรุษจุติมาจากอาภัสสรพรหม ซึ่งเป็นพรหมชั้นหนึ่งในจำนวน 16 ชั้น จึงเป็นมนุษย์ที่ไม่มีความอยากความต้องการ เพราะมีพร้อมทุกสิ่ง กายเป็นทิพย์ อาหารก็เป็นทิพย์ ความจำเป็นที่จะก่อเป็นสังคม เป็นรัฐก็ไม่มี เป็นสภาวะที่สงบต่างคนต่างอยู่ ความขัดแย้งกันก็ไม่มี

2. เมื่อมนุษย์เหล่านั้น ดำรงชีพอยู่ด้วยอาหารหยาบ และมีลักษณะเป็นสังคม ก็ยังไม่มีปัญหา เพราะปัจจัยเลี้ยงชีพขั้นพื้นฐานคืออาหารนั้น สามารถหาเอาได้จากพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ ยังไม่รู้จักการเก็บสะสม เพราะยังไม่มีความจำเป็นต้องสะสม ทรัพย์สินส่วนบุคคลจึงยังไม่มี ทรัพยากรที่มีอยู่จึงเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวม

3. มนุษย์ยุคบรรพกาล ยังมีความดีพร้อม แต่มนุษย์เหล่านั้น ต้องสูญเสียความดีไป เมื่อมีความแตกต่างกันเกิดขึ้นโดยเฉพาะคือ ความแตกต่างทางผิวพรรณ จึงเกิดความชั่วขึ้น คือ การดูหมิ่นเหยียดหยามกันขึ้น ความดีจึงเริ่มถูกบดบัง

4. การสืบพันธุ์เป็นสัญชาติญาณดั้งเดิม และเป็นเหตุให้เกิดครอบครัว เมื่อเกิดครอบครัวขึ้นแล้ว ทำให้เกิดความผูกพันเฉพาะครอบครัว จึงเกิดความคิดสะสม ต้องแบ่งปันปักเขตการทำมาหากินกันเป็นสัดส่วน

5. เมื่อสังคมเติบโตขึ้น มนุษย์มีมากขึ้น ภาวะที่แท้จริงของมนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลจวบจนปัจจุบันก็คือ มนุษย์มีดีมีชั่ว ความชั่วที่ปรากฏครั้งแรกในหมู่มนุษย์ คือความโลภเป็นต้นเหตุให้เกิดความเห็นแก่ตัว ความเกียจคร้าน และการลักขโมย ความชั่วต่อมาคือ การเหยียดหยาม การทะเลาะวิวาท ผลก็คือทำให้สังคมปั่นป่วนระส่ำระสาย

6. แต่ความต้องการของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ก็คือความสุขความสงบ ความระส่ำระสายในสังคม จึงเป็นสิ่งขัดแย้งต่อความต้องการของมนุษย์ เป็นเหตุให้มนุษย์แสวงหาทางคืนสู่ความสงบสุขที่เคยมีมาแต่เดิม โดยร่วมใจกันไปขอให้ผู้มีความสามารถมีกำลังแข็งแรงกว่า ทำหน้าที่ขจัดปัดเป่าความระส่ำระสายในสังคม โดยให้อำนาจลงโทษผู้ทำผิด ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความระส่ำระสายนั้น

7. ผู้ที่ได้รับเลือกนี้มีฐานะเป็นหัวหน้า เป็นตำแหน่งมหาชนสมมติ ตำแหน่งที่ได้มาจึงคล้ายๆการเลือกตั้งประมุขของรัฐในบางประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาชนสมมติกับคนอื่นๆในสังคม มีลักษณะคล้ายกับความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของรัฐกับพสกนิกร

8. มหาชนสมมติ ได้รับมอบอำนาจจากมหาชนให้เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองชีวิต และทรัพย์สิน ช่วยเป็นผู้ตัดสิน ในกรณีที่มีความขัดแย้งในสังคม หน้าที่หลักที่สำคัญที่สุด คือ การลงโทษผู้กระทำผิด

9. ตามอัญคัญญสูตร เราจึงสรุปได้ว่า ความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาท และการเอารัดเอาเปรียบกันในหมู่มนุษย์เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความจำเป็นต้องมีรัฐ มีผู้ปกครอง และมีผู้ใต้ปกครอง ทั้งนี้เพราะเมื่อมนุษย์จำนวนมากรวมตัวกันเป็นสังคม ปัญหาที่ตามมาคือความขัดแย้ง แม้แต่ในปัจจุบันนี้ก็มีลักษณะเช่นนั้นปรากฏอยู่

10. ทฤษฎีมหาโควินทสูตร (Mahakhovintasuta Theory)

ทฤษฎีนี้สอดคล้องกับการกำเนิดรัฐแบบการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย โดยทั่วไปแล้ว องค์ประกอบของรัฐที่ถือว่าเป็นรัฐที่สมบูรณ์นั้น จะประกอบไปด้วย อาณาเขต ประชากร รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย ลักษณะของอำนาจอธิปไตย ก็คือ เด็ดขาด เป็นการทั่วไป แผ่ไปทั่ว และแบ่งแยกไม่ได้ ถ้าหากอำนาจอธิปไตยของรัฐๆหนึ่งแบ่งแยกก็จะทำให้เกิดมีรัฐใหม่ขึ้นมา มหาอาณาจักรในโควินทสูตรมีการแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ จำนวน ๗ แคว้น เมื่อมีการแบ่งแยกอาณาเขต มีกษัตริย์ปกครอง มีอำนาจอธิปไตยเกิดขึ้นใหม่ ก็ถือว่ารัฐใหม่เกิดขึ้นทันที รัฐที่เกิดขึ้นตามรูปแบบนี้ในปัจจุบันก็มีปรากฏให้เห็น เช่น สหราชอาณาจักร ซึ่งมีอาณานิคมทั่วโลก และในที่สุดก็มีการเรียกร้องเอกราช บางแห่งต้องเกิดสงครามต่อสู้ เช่น อินเดีย เป็นต้น และสหภาพโซเวียตมีการแบ่งแยกออกเป็นประเทศใหม่หลายๆประเทศ แต่เป็นไปโดยการใช้กำลังแย่งชิงและวิธีการต่างๆ ซึ่งต่างจากในมหาโควินทสูตรที่รัฐเกิดขึ้นด้วยความเต็มใจของกษัตริย์ผู้มีอำนาจในขณะนั้น ซึ่งมีข้อความโดยย่อดังต่อไปนี้

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ บุตรแห่งคนธรรพ์ ชื่อ ปัญจสิขะ เข้าไปเฝ้ากราบทูลเล่าเรื่องที่ได้พบเห็นมาจากเทพชั้นดาวดึงส์ ในที่ประชุมชื่อ สุธัมมสภา ท้าวสักกะได้กล่าวพรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้า 8 ประการ คือ

1. ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์

2. ทรงแสดงธรรมอันเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตน เป็นต้น

3. ทรงแสดงธรรมอันเป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ ควรเสพ ไม่ควรเสพ เลว ประณีต ดำ ขาว และมีส่วนเปรียบ

4. ทรงบัญญัติด้วยดี ซึ่งข้อปฏิบัติอันจะนำไปสู่พระนิพพานแก่พระสาวก พระนิพพานและข้อปฏิบัติก็เข้ากันได้เหมือนน้ำในแม่น้ำคงคากับยมุนา

5. ทรงได้สหาย คือ พระเสขะผู้ปฏิบัติ และพระอรหันต์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว แต่ก็ทรงปลีกพระองค์จากสหายเหล่านั้น ทรงประกอบความยินดีในการอยู่แต่พระองค์เดียว

6. ทรงมีลาภ และชื่อเสียงอันเพียบพร้อม มีกษัตริย์เป็นต้นรักใคร่ แต่ก็เสวยพระกระยาหารอย่างปราศจากความเมา

7. ทรงพูดอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใดพูดอย่างนั้น

8. ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง มีความดำริอันสำเร็จสมบูรณ์ (ไม่ติดอยู่เพียงขั้นใดขั้นหนึ่ง)

ต่อมามีแสงสว่างอันโอฬารปรากฏขึ้น สนังกุมารพรหมก็นิรมิตอัตภาพอันหยาบให้ปรากฏแก่เทพชั้นดาวดึงส์ ถามทราบความว่า กำลังสนทนากันเรื่องอะไรแล้ว สนังกุมารพรหมก็เล่าเรื่อง โชติปาลมาณพ ผู้เป็นบุตรของโควินทพราหมณ์ ปุโรหิตของพระเจ้าทิสัมปติ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นปุโรหิตแทนบิดาของตน เมื่อท่านถึงแก่กรรม เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้วก็ทำหน้าที่เจริญรอยตามบิดา จนคนทั้งหลายขนานนามว่า มหาโควิทนพราหมณ์

ต่อมาเมื่อพระเจ้าทิสัมปติสวรรคต เรณุราชกุมารผู้เป็นพระราชโอรส และเป็นพระสหายของมหาโควินทพราหมณ์ขึ้นเสวยราชย์ ก็ตรัสสั่งโควินทพราหมณ์ให้แบ่งราชสมบัติออกเป็น 7 ส่วน ส่วนหนึ่งเพื่อพระองค์ อีก 6 ส่วนเพื่อกษัตริย์ราชกุมารอื่นๆ ที่เป็นพระสหายรักใคร่ จึงมี 7 แคว้น 7 ราชธานี ดังนี้

1. แคว้น กาลิงคะ ราชธานี ชื่อ ทันตปุระ

2. แคว้น อัสสกะ ราชธานี ชื่อ โปดนะ

3. แคว้น อวันตี ราชธานี ชื่อ มาหิสสติ

4. แคว้น โสจิระ ราชธานี ชื่อ โรรุกะ

5. แคว้น วิเทหะ ราชธานี ชื่อ มิถิลา

6. แคว้น อังคะ ราชธานี ชื่อ จัมปา

7. แคว้น กาสี ราชธานี ชื่อ พาราณสี

มหาโควินทพราหมณ์เป็นปุโรหิต ถวายอนุสาส์นแต่พระมหากษัตริย์ทั้ง 7 แคว้นนั้น ต่อมาได้กราบทูลลาพระมหากษัตริย์ทั้ง 7 ออกบวช ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย เป็นราชาของราชาทั้งหลาย เป็นพรหมของพวกพราหมณ์ และเป็นเทวดาของพวกคฤหบดี ใครไอ จาม หรือพลาดหกล้ม ก็เปล่งวาจาว่า ขอนมัสการมหาโควินทพราหมณ์บ้าง สัตตปุโรหิต (ปุโรหิตของพระราชาทั้ง 7) บ้าง มหาโควินทพราหมณ์ได้เจริญฌานมีพรหมวิหาร 4 เป็นอารมณ์ มีสาวกปฏิบัติตามได้ผลเป็นอันมาก นี้เป็นเรื่องเล่าของสนังกุมารพรหมในเทวสภาในดาวดึงส์ ปัญจสิขะ บุตรแห่งคนธรรพ์เล่าถวายพระผู้มีพระภาคอีกต่อหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์เองได้เสวยพระชาติเป็นมหาโควินทพราหมณ์ในครั้งนั้น แต่ในครั้งนั้น ทรงชี้ทางแก่สาวกแค่ที่จะไปอยู่ร่วมกับพรหมได้ แต่ในชาตินี้ทรงแสดงมรรค ๘ อันเป็นไปเพื่อพระนิพพาน (สูงกว่าพรหมโลก)

สรุป

ทฤษฎีกำเนิดของรัฐดังกล่าวมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า แต่ละทฤษฎีพยายามอธิบายจุดกำเนิดของรัฐให้ใกล้เคียงและชัดเจนที่สุด แต่ละทฤษฎีล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อยอยู่ในตัวเอง ไม่มีความสมบูรณ์ถูกต้องชัดเจนพอที่จะชี้ชัดลงไปว่า แท้จริงแล้วรัฐมีจุดกำเนิดมาอย่างไร แต่ตามพื้นฐานของความเป็นจริงแล้ว หากนำจุดเด่นของแต่ละทฤษฎีมาประมวลกันเข้าเป็นอันเดียวแล้ว ก็สามารถอธิบายกำเนิดของรัฐและจุดประสงค์ทางการเมืองของแต่ละทฤษฎีได้เช่นกัน ทฤษฎีเทวสิทธิอธิบายการกำเนิดรัฐตามหลักการของคริสต์ศาสนาที่ถือว่า พระเจ้าให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งในโลกรวมทั้งรัฐด้วย ซึ่งเป็นการง่ายในการตั้งทฤษฎีนี้ แต่เป็นการยากต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทฤษฎีนี้สนับสนุนอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชของพระมหากษัติรย์ หรืออำนาจของผู้นำที่ไม่สนับสนุนในระบอบประชาธิปไตย โดยถือว่าอำนาจพระมหากษัตริย์ทรงมีอย่างเต็มที่ในฐานะเป็นตัวแทนพระเจ้า ไม่มีใครจะละเมิดหรือล้มล้างได้ ทุกคนต้องเชื่อฟัง ซึ่งเป็นผลดีต่อการเมืองการปกครองในยุคหนึ่งเช่นกัน

ทฤษฎีการแบ่งงานไม่สามารถอธิบายได้ว่า รัฐเกิดขึ้นมาก่อนแล้วจึงแบ่งงาน หรือการแบ่งงานเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงก่อให้เกิดรัฐ ประชาชนที่ถูกแบ่งงานให้ทำตามความเหมาะสมมาจากไหน รวมตัวกันเข้าเป็นสังคมโดยวิธีใด

ทฤษฎีที่สามารถอธิบายกำเนิดรัฐได้อย่างชัดเจน คือ ทฤษฎีพลกำลัง หรือทฤษฎีอำนาจบังคับ ในการใช้กำลังรวบรวมเผ่าชนที่อ่อนแอกว่าเข้ามาอยู่ในอำนาจ แล้วก่อตั้งรัฐขึ้น ซึ่งมีรัฐที่กำเนิดขึ้นมาในลักษณะนี้ไม่น้อยเช่นกัน แต่รัฐทุกรัฐในโลกก็ไม่ได้เกิดในลักษณะนี้ทั้งหมด ทฤษฎีนี้ไม่อาจอธิบายการกำเนิดรัฐได้ครอบคลุมทั้งหมดได้อยู่ดี

ส่วนทฤษฎีอภิปรัชญานั้น อธิบายการกำเนิดรัฐในรูปแบบของนามธรรม พิเศษแตกต่างจากสังคมมนุษย์ทั่วไป แต่เป็นสภาวะที่มีอยู่จริง ไม่อาจตอบคำถามได้อย่างแท้จริงว่า รัฐเกิดขึ้นได้อย่างไร ทฤษฎีนี้น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มทฤษฎีเทวสิทธิได้

ทฤษฎีกำเนิดรัฐที่มีทฤษฎีและสมมติฐานไปในแนวทางเดียวกัน คือ ทฤษฎีสัญชาตญาณหรือทฤษฎีธรรมชาติ ทฤษฎีสัญญาประชาคม และทฤษฎีทางกฎหมาย ทฤษฎีวิวัฒนาการ สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับการกำเนิดของรัฐได้อย่างสมเหตุผล ตามแนวทางของทฤษฎีอัคคัญญสูตร คือรัฐนั้นพัฒนาไปจากรูปแบบของครอบครัวแล้วค่อยๆเจริญขึ้น มีการสร้างบ้านเรือนมากขึ้น มีการเริ่มสะสมอาหารและทรัพย์สมบัติ มีการออกกฎเกณฑ์ กติกา ที่เป็นลักษณะสัญญาประชาคม ที่ใช้ควบคุมสังคม มีความจำเป็นที่จะมีหัวหน้ามาคุ้มครองรักษากฎเกณฑ์ กติกา รักษาความสงบสุขแก่สมาชิกในสังคม ตลอดจนรักษาทรัพย์สินก็เกิดขึ้นตามมา และเริ่มมีการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเกิดขึ้น กษัตริย์พระองค์หนึ่งๆก็จะทรงครอบครองอาณาจักรที่มีอาณาเขตแน่นอน รัฐที่สมบูรณ์แบบก็เกิดขึ้นแต่บัดนั้น

ส่วนทฤษฎีมหาโควินทสูตรเป็นแนวกำเนิดรัฐในรูปแบบการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยจากรัฐรัฐหนึ่ง ซึ่งเป็นรัฐที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ มีลักษณะคล้ายกับรูปแบบของจักรวรรดิ แล้วถูกแบ่งแยกออกเป็นรัฐอิสระหลายๆรัฐ แต่ละรัฐก็มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง ก่อให้เกิดรัฐใหม่ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการกำเนิดรัฐในสมัยกลางที่จักรวรรดิล่มสลาย และเกิดเป็นนครรัฐใหม่ๆ ขึ้นมาแทน เช่นเดียวกับการเกิดรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่การเกิดรัฐใหม่ตามมหาโควินทสูตรมีความแตกต่างกับการเกิดรัฐในอัคคัญญสูตร ในอัคคัญญสูตรเป็นการอธิบายการเกิดขึ้นของโลก มนุษยชาติ รัฐ กษัตริย์ และชนชั้นต่างๆเป็นปฐม แต่การเกิดขึ้นของรัฐในมหาโควินทสูตรนั้น เกิดขึ้นหลังจากมีรัฐแล้ว และแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ก่อให้เกิดเป็นรัฐใหม่ขึ้นมา

0 comments:

แสดงความคิดเห็น