บทที่ 1 ทฤษฎีการเมือง (Political Theory)




ความนำ
        ทฤษฎีการเมืองเป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าหาทางแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย  โดยการตั้งสมมติฐาน  การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์  การสรุปผล  การตีความ  การอธิบาย  และการเสนอแนะเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำๆกัน  จนกลายเป็นกฎเกณฑ์หรือทฤษฎีทางการเมืองขึ้นมา  ทฤษฎีการเมืองในปัจจุบันเป็นการแสวงหาความรู้หรือความจริงค่อนข้างมีความชัดเจนและสามารถอธิบายหรือทำนายปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ใกล้เคียงความเป็นจริง  มีความน่าเชื่อถืออยู่ไม่น้อย  แต่อย่างไรก็ตามการวิวัฒนาการของทฤษฎีการเมืองในยุคปัจจุบันย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกับทฤษฎีการเมืองในยุคโบราณเช่นกัน  เพราะทฤษฎีการเมืองยุคโบราณเป็นพื้นฐานในการศึกษา  ค้นคว้า หาคำตอบต่างๆ  และมีการปรับปรุงแก้ไขในข้อบกพร่องอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก่อให้เกิดแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา

ความหมายของทฤษฎีการเมือง

            ความหมายของทฤษฎีการเมืองมีหลากหลายทัศนะขึ้นอยู่กับการตีความและมุมมองของนักปราชญ์แต่ละท่าน  ซึ่งพอที่จะประมวลได้ดังนี้
            จรูญ  สุภาพ (2528:1)  ได้ให้ทัศนะว่า ทฤษฎีการเมืองมีลักษณะชัดเจนและแน่นอนกว่าปรัชญาการเมือง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสาระ คำอธิบายและความหมาย  โดยทั่วไปทฤษฎีการเมืองจะเป็นผลเนื่องมาจากการศึกษาค้นคว้าและพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงที่อาจรับกันได้  แต่อาจไม่เป็นความจริงแท้สมบูรณ์เหมือนวิทยาศาสตร์
            ทฤษฎีการเมืองจะมีลักษณะที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาจากการศึกษารวบรวมความเป็นจริง  หลักทั่วไปซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูล และทดสอบข้อมูลเหล่านั้นจากสภาพที่เป็นจริงในสังคม  คุณค่าซึ่งหมายถึงประโยชน์ที่จะพึงบังเกิดขึ้นได้   และน่าที่จะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ
            รอเบอร์ต อี. เมอร์ฟี่ (Robert E. Murphy) (1970 : 37)  ให้ทัศนะว่า ทฤษฎีการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ความคิด  หรือปรัชญาเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง นักทฤษฎีการเมืองมุ่งมั่นที่จะทำความเข้าใจและตีค่าข้อมูลความจริงทั่วไปที่มีความสัมพันธ์กับการกำหนดสมมติฐาน (hypothesis) เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองและคุณค่าทางสังคม
            เอ็ดเวอร์ด ซี. สมิธ (Edward C. Smith) และอาร์โนลด์ เจ. เซอร์เชอร์ (Arnold J. Zurcher, 1968 : 288 – 9 ) เสนอคำจำกัดความที่ดูจะครอบคลุมลักษณะและขอบเขตของทฤษฎีการเมืองไว้ได้ทั้งหมด  โดยให้ไว้ว่า ทฤษฎีการเมืองคือ ส่วนทั้งหมดของคำสอน (doctrine) ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิด, รูปแบบ, พฤติกรรม และจุดมุ่งหมายของรัฐ  ส่วนของคำสอนนี้อาจแบ่งลักษณะออกเป็นประเภทได้ดังนี้   จริยธรรม,  จินตนาการ,   สังคมวิทยา,  กฎหมาย, และวิทยาศาสตร์  สมิธและเซอร์เชอร์ให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ ดังนี้
            1)   ลักษณะแบบจริยธรรม (Ethical)  ได้แก่ ส่วนของทฤษฎีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ  ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องในกิจกรรมทางการเมือง
            2)   ลักษณะแบบจินตนาการ (Speculative)   คือส่วนที่เป็นความคิดฝัน    หรือมโนภาพที่ยังไม่ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา  เช่น การใฝ่ฝันถึงรัฐในอุดมคติ หรือการวาดภาพเลิศนครในจินตนาการ
            3)   ลักษณะเชิงสังคมวิทยา (Sociological)  เป็นส่วนของทฤษฎีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์หรือทดลองเปรียบเทียบเพื่อแสวงหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับส่วนอื่นๆ ของสังคม  หรือการวิเคราะห์รัฐในรูปของการรวมตัวทางสังคม
            4)   ลักษณะแบบกฎหมาย (Legal) ได้แก่ส่วนที่ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของกฎหมาย  สังกัปของกฎหมาย  และสถานะทางกฎหมาย  ซึ่งเกิดขึ้นมาจากสถาบันต่างๆ และเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะกระจายและควบคุมการใช้อำนาจทางการเมือง
            5)   ลักษณะแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific)  ได้แก่ทฤษฎีที่เกิดจากการสังเกตการณ์  การทดลอง  เปรียบเทียบพฤติกรรมการเมืองเพื่อจะค้นหาแนวโน้มและความน่าจะเป็นไป การศึกษาสาเหตุและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฯลฯ  เป็นต้น  (อ้างจาก สุขุม นวลสกุลและโกศล  โรจนพันธุ์. 2544 : 3 – 4 )

          สมบัติ   จันทรวงศ์ (2527 : 26) ได้ให้ความหมายไว้ว่า  ทฤษฎีการเมืองหมายถึง กฎแห่งพฤติกรรมทางการเมืองซึ่งเป็นสากล  ที่นักรัฐศาสตร์สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ในการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้  จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีการเมือง  ตามความหมายนี้  เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงมาจากการที่นักสังคมศาสตร์  พยายามทำให้ความรู้ทางสังคมศาสตร์  เป็นความรู้ที่อาจมีการพิสูจน์  หรือทดลองอย่างใดอย่างหนึ่งได้  เช่นเดียวกับกฎทางวิทยาศาสตร์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง  ในทางปฏิบัติ ทฤษฎีการเมืองตามนัยนี้  ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดแก่วิธีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล  และหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการประเมินค่านิยม (value judgement)  ทฤษฎีการเมืองซึ่งพยายามอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป  โดยนำข้อเสนอต่างๆมาวางเป็นกฎเกณฑ์  จึงสามารถมีได้หลายระดับ  ตามความน่าเชื่อถือได้ของข้อมูลที่ได้มาจากการสังเกตและพิสูจน์  และอาจมีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมทั้งระบบ  เช่น ทฤษฎีว่าด้วยระบบการเมือง หรือเฉพาะบางส่วนของกิจกรรมทางการเมือง เช่น ทฤษฎีพรรคการเมือง ทฤษฎีภาวะผู้นำ  เป็นต้น

            ตามความหมายดังกล่าวข้างต้น  ทฤษฎีการเมือง หมายถึงหลักเกณฑ์หรือกฎเกณฑ์ทางการเมือง  ที่เกิดจากการศึกษา ค้นคว้า  และพิสูจน์ว่าเป็นความจริงและมีคุณค่าเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติหรือใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง



ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเมือง

            ทฤษฏีการเมืองมีความเกี่ยวข้องกับศัพท์เฉพาะทางการเมือง เช่น  ปรัชญาทางการเมือง  ความคิดทางการเมือง  อุดมการณ์ทางการเมือง  ลัทธิการเมือง  และสังกัปทางการเมือง
            1)   ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy)  เฮนรี บี เมโย (Henry B. Mayo, 1960) ให้ความหมายว่า หมายถึงหลักจริยธรรมซึ่งถือเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายสังคม  ปรัชญาทางการเมืองเป็นเสมือนหลักการหรือเหตุผลหรือความยึดมั่นของรัฐ  หรือถ้าจะอธิบายอีกแง่หนึ่ง ปรัชญาทางการเมืองเป็นเสมือนรากฐานของระบบการเมือง  ระบบการเมืองทั่วไปแต่ละแบบก็มักจะมีปรัชญาการเมืองของตัวเองที่เหมาะสมกับความต้องการและสิ่งแวดล้อม (อ้างจาก จรูญ  สุภาพ  : 2522)
            สมพงษ์  เกษมสิน  ได้ให้ความหมายของปรัชญาการเมืองไว้ว่า
            ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) เป็นการศึกษาการเมืองในระดับลึกซึ้งและเกี่ยวโยงกับสาขาอื่นด้วย  เพื่อให้รู้แจ้ง ปรัชญาการเมืองมักเน้นหลักจริยธรรมซึ่งเป็นเสมือนหลักการหรือเหตุผลที่ถูกต้องและมีคุณธรรม  ถือเป็นรากฐานของระบบการเมืองแต่ละแบบ  ปรัชญาการเมือง อาจมีลักษณะที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์  คือเป็นข้อคิดที่อาจพิสูจน์ไม่ได้  และมุ่งค้นหาสิ่งต่างๆ  หรือหาความสัมพันธ์ต่างๆในส่วนที่วิทยาศาสตร์เข้าไปไม่ถึง” (อ้างจากสุขุม นวลสกุลและโกศล โรจนพันธุ์ , 2544 : 2 )
            จรูญ  สุภาพ (2528 : 2) ได้ให้ความหมายของปรัชญาการเมืองอีกนัยหนึ่งว่า 
            ปรัชญาการเมือง  หมายถึง จินตนาการหรือการคาดการณ์ต่างๆ หรือ ความปรารถนาที่จะกำหนดลักษณะในด้านการเมืองและการปกครองที่ดีที่สุดและสมบูรณ์ที่สุด   ดังนั้น  ปรัชญาทางการเมืองจึงอาจไม่เป็นวิทยาศาสตร์  เพราะสิ่งที่ปรากฏในปรัชญาการเมืองมักจะเน้นถึงจินตนาการหรือความมุ่งหวัง  หรือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้บรรลุถึงซึ่งความสมบูรณ์แบบแห่งการเมืองและการปกครอง  ปรัชญาทางการเมืองมุ่งค้นหาสิ่งต่างๆ หรือหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ในส่วนที่วิทยาศาสตร์เข้าไปไม่ถึง
            2.   ความคิดทางการเมือง (Political Thought)
          จรูญ สุภาพ (2522 : 7) ได้ให้ความหมายว่า  ความคิดทางการเมือง หมายถึงความคิดความเชื่อของมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในยุคใดยุคหนึ่ง   แนวความคิด ลัทธิการเมืองที่สำคัญๆ ในปัจจุบันนี้เกิดขึ้นจาก    แนวความคิดของบุคคลที่มีสติปัญญา   สามารถนำเอาความรอบรู้  ประสบการณ์  และข้อสังเกตเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของสังคม เช่น พฤติกรรมของบุคคล ความปรารถนา ความต้องการ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ความร่วมมือหรือความขัดแย้งกัน  รวมตลอดถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสงบสุข หรือปัญหาต่างๆที่ทำให้หลักประกันในชีวิตของบุคคลต้องเสื่อมคลายลง  ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิต นอกจากนั้น ก็เป็นข้อคิดเกี่ยวกับการมีและการใช้อำนาจการปกครองในสังคมว่าควรจะเป็นไปในแนวใด  เพื่อให้บังเกิดผลหรือประโยชน์สูงสุดต่อบรรดาผู้เป็นสมาชิกแห่งสังคมนั้น
            สุขุม นวลสกุลและโกศล โรจนพันธุ์ (2544 : 1) ได้ให้ความหมายของความคิดทางการเมืองว่า ความคิดทางการเมือง หมายถึง ความคิดที่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองอย่างกว้างๆ  ความคิดทางการเมืองที่ใช้ตามนัยแห่งภาษาอังกฤษ เป็นเสมือนยาหม้อใหญ่ที่รวมหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน  ความคิดทางการเมืองมีแนวโน้มไปในทางด้านพรรณนา (descriptive) และมักเน้นหนักความคิดเชิงประวัติศาสตร์  คือเรียงลำดับว่าใครคิดอย่างใด เมื่อใด  ปกติไม่ค่อยมีการแยกหัวข้อวิเคราะห์
            3.   อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) มักใช้ในรูปความเชื่อและความคิดในระดับที่ไม่ลึกซึ้งนัก  เน้นความเชื่อศรัทธามากกว่าเหตุผล  แต่อุดมการณ์ทางการเมืองมีผลในการยึดถือและมักเป็นพลังผลักดันให้เกิดการกระทำ  หรือความเคลื่อนไหวทางการเมือง  อุดมการณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือยึดหลักศีลธรรมและคุณธรรม  แต่เป็นความคิดหรือความเชื่อที่ปลูกฝังเพื่อให้เกิดผลทางการเมือง (สุขุม นวลสกุลและโกศล โรจนพันธ์ (2544 : 2)
          C.J. Friedrich and Z.K. Brzinski (1961) ได้ให้ความหมายว่า  อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเสมือนเป้าหมาย หรืออุดมคติทางการเมืองที่เป็นพลังผลักดันให้มนุษย์มีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือปฏิบัติการอย่างใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย (อ้างจาก จรูญ สุภาพ : 2522)
            สมบัติ  จันทรวงศ์ (2527 : 25) ได้ให้ทรรศนะไว้ว่า
            อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นความคิดทางการเมืองที่มุ่งผลในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการปกปักรักษาระบบการเมืองอย่างที่เป็นอยู่  หรือการวิพากษ์ระบบที่เป็นอยู่  เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการเกิดของระบบใหม่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดทางการเมืองที่มีฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่า  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสถาบันทางสังคมเสียใหม่ให้สมบูรณ์  จะยังผลให้มนุษย์บรรลุถึงความสมบูรณ์ได้โดยอัตโนมัติ
            4.   ลัทธิการเมือง (Political Ism)
          ชัยอนันต์  สมุทวณิช ได้ให้ความหมายไว้ว่า
          ลัทธิการเมือง (Political Ism) ได้แก่ หลักการทางการเมืองซึ่งมีลักษณะผสมผเสจากความคิดหรือทฤษฎีของเมธีหลายท่านประกอบกันเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับระบบการเมือง ชี้แนะและการจัดวางอำนาจ, โครงสร้างทางการเมือง, ความเกี่ยวพันระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจกับบุคคล  และประโยชน์คุณค่าที่จะบังเกิดขึ้นในการปฏิบัติตามลัทธิ  อย่างไรก็ตาม ลัทธิการเมืองหนึ่งๆ อาจนำเอาความคิดจากปรัชญาการเมืองหลายความคิดมาผสมผสานกันก็ได้  หรือปรัชญาการเมืองหนึ่งๆ อาจก่อนให้เกิดลัทธิการเมืองมากกว่าหนึ่งลัทธิได้” (อ้างจากสุขุม นวลสกุล และโกศล  โรจนพันธุ์, 2544 : 2)
            จรูญ  สุภาพ (2528 : 1) ได้ให้ความหมายลัทธิการเมืองไว้ว่า
            ลัทธิการเมือง หมายถึงแนวความคิดเกี่ยวกับระบบการเมือง  โดยมุ่งอธิบายสาระสำคัญแห่งระบบการเมือง  อันได้แก่ อำนาจทางการเมืองและอำนาจของรัฐ  ขอบเขต  ที่มา  ที่ตั้งของอำนาจดังกล่าวนี้  และความเกี่ยวพันระหว่างองค์การหรือหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐกับบุคคล  ซึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งรัฐนั้น  ตลอดถึงผลประโยชน์และคุณค่าที่จะบังเกิดขึ้นต่อบุคคล ซึ่งรวมกันขึ้นเป็นสังคมหรือชุมชน
            ดังนั้น จึงปรากฏว่าลัทธิบางลัทธิสนับสนุนให้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมืองมีมาก  ซึ่งมีผลทำให้สิทธิและบทบาทของประชาชนมีน้อยลง  แต่บางลัทธิได้สนับสนุนให้บทบาทและอำนาจของบุคคลมีมากและมุ่งจำกัดอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจรัฐไม่ให้มากจนเกินไป
            ผลที่เกิดขึ้นก็คือ  ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและบุคคลจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามแบบลัทธิที่ได้เกิดขึ้น
            ที่สำคัญก็คือ ทุกลัทธิมีเหตุผลที่จะสนับสนุนคุณประโยชน์แห่งลัทธิ  ซึ่งหมายถึงคุณค่าที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ลัทธินั้นในการกำหนดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมเสมอ
            จะเห็นได้ว่าลัทธิการเมืองนั้นเป็นผลมาจากเหตุผลหลายประการดังกล่าวแล้วข้างต้น  ลัทธิการเมืองอาจนำเอาแนวความคิดหลายแนว ปรัชญาการเมือง ทฤษฎีการเมืองหลายส่วนมาผสมผสานกันได้  หรืออาจเกิดขึ้นจากแนวความคิดเดียวหรือปรัชญาการเมืองเดียวก็ได้  นอกจากนั้น  แนวความคิดและปรัชญาการเมืองบางอย่างซึ่งมีสาระที่ลึกซึ้ง กว้างขวาง มีเหตุผล หรือเป็นความจริง ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดลัทธิการเมืองแบบต่างๆได้เช่นกัน  ดังจะเห็นได้ว่าปรัชญาการเมืองบางประการ เช่น ปรัชญาในเรื่องเสรีภาพของบุคคล  จะปรากฏให้เห็นเนื้อหาสาระสำคัญของลัทธิการเมืองแบบปัจเจกชนนิยม เสรีนิยม อนาธิปไตย และสังคมนิยมแบบประชาธิปไตย
            5.   สังกัปทางการเมือง (Political Concepts)
          สุขุม นวลสกุลและโกศล โรจนพันธุ์ (2544 : 2) ได้ให้ความหมายไว้ว่า
            สังกัปทางการเมือง หมายถึงความคิดหรือทรรศนะเกี่ยวกับศัพท์เชิงนามธรรมทางการเมือง  เช่น ความยุติธรรม, จุดมุ่งหมายแห่งรัฐ, ผู้ปกครองที่ดี, สิทธิ, ความมั่นคงแห่งรัฐ เป็นต้น  ศัพท์เหล่านี้มีความหมายไปหลายทางตามความเข้าใจหรือการพิจารณาของแต่ละคน  ทฤษฎีการเมืองเป็นการพยายามหาความเกี่ยวโยงระหว่างสังกัปต่างๆ ดังกล่าวโดยให้ต้องด้วยเหตุผลและความเหมาะสม

แนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเมือง

            จรูญ สุภาพ (2528 : 3) ได้กล่าวถึงแนวความคิดที่มีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเมืองไว้ดังนี้ คือ  ทฤษฎีการเมืองมุ่งให้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญดังต่อไปนี้
            1.   กลุ่ม  หมายถึงกลุ่มอิทธิพลที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของบุคคล
          2.   ดุลยภาพ  หมายถึงสภาวะที่สามารถดำรงอยู่ได้
          3.   อำนาจ  การควบคุม  และอิทธิพล  ปัจจุบันถือว่าเป็นแนวความคิดที่สำคัญอย่างยิ่งในทฤษฎีการเมือง
            4.   การดำเนินการหรือการปฏิบัติการ   หมายถึงพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มในสภาวการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง  เพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่มุ่งหวัง
          5.   ชนชั้นนำ  หมายถึงกลุ่มผู้นำหรือชั้นผู้นำ  ซึ่งจะต้องปรากฏอยู่ในทุกระบบการเมือง
          6.   การตัดสินใจ  ถือเป็นแนวความคิดพื้นฐานประการหนึ่งในทางการเมือง  ระบบ กระบวนการและผลของการตัดสินใจนั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะแห่งระบบการเมืองต่างๆได้
          7.   ปฏิกิริยาและเกม  หมายถึงการกระทำที่มีลักษณะโต้ตอบต่อการกระทำใดๆ  เป็นการศึกษาในทำนองคาดคะเนว่าปฏิกิริยาโต้ตอบควรจะเป็นประการใด  แนวความคิดในข้อนี้ถือได้ว่า เป็นแนวความคิดในระบอบรองของแนวความคิดที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ
          8.   หน้าที่  หมายถึงการมุ่งศึกษาถึงหน้าที่หรือการดำเนินงานเพื่อให้บังเกิดผล หน้าที่เหล่านี้บางครั้งก็อาจจะมีผลกระทบต่อสังคม  หรือบางทีอาจเป็นสิ่งที่สนับสนุนสังคมนั้นได้  เช่น หน้าที่ของความเชื่อ  แบบแผนแห่งพฤติกรรม  สถาบัน และวิทยาศาสตร์
          แนวความคิด (8 ประการ)  ดังกล่าวข้างต้นนี้  นับเป็นเรื่องใหม่ในทฤษฎีการเมือง  แต่แนวความคิดที่มีอยู่เดิมของทฤษฎีการเมืองนั้นก็ยังมีความสำคัญอยู่  เช่น สถาบัน รัฐบาล เสรีภาพ  ความยุติธรรม  ความเสมอภาค  อำนาจอธิปไตย และลักษณะสำคัญสากลของมนุษย์  เป็นต้น
            กล่าวโดยสรุป  ทฤษฎีการเมืองช่วยให้วิชาการปกครองหรือวิชารัฐศาสตร์มีลักษณะเป็นปึกแผ่น  มีกฎเกณฑ์และแน่นอนมากขึ้น
            ผลจากทฤษฎีการเมืองนี้เป็นรากฐานที่สำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้ลัทธิการเมืองได้ก่อรูปขึ้น  และสร้างเสริมให้ลัทธิการเมืองมีขอบเขตกว้างขวาง  ทั้งในด้านสาระเนื้อหา รวมตลอดจนเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลัทธิการเมืองนำมาใช้เป็นประโยชน์เพื่อกำหนดระบบการเมืองแห่งลัทธิการเมืองนั้นๆ  ข้อคิดจากทฤษฎีการเมืองจึงถือเสมือนเป็นข้อมูลและหลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างลัทธิการเมืองให้บังเกิดขึ้นได้

หน้าที่ของทฤษฎีการเมือง

        ทินพันธุ์ นาคะตะ (2541 : 41) ได้กล่าวถึงหน้าที่ของทฤษฎีการเมืองในปัจจุบันไว้ดังนี้
            หน้าที่ของทฤษฎีการเมืองปัจจุบัน ที่สำคัญๆ ควรมีดังนี้ คือ  ประการแรก ช่วยรวบรวมความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน  โดยทำหน้าที่เป็นกรอบแห่งแนวความคิด  ที่ช่วยกำหนดความหมาย  และจัดระเบียบข้อมูล เกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆที่มีอยู่มากมาย  รวมทั้งช่วยให้เกิดความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆ ได้ดีขึ้น  ประการที่สอง  ช่วยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน  เกี่ยวกับเรื่องที่จะทำการศึกษาวิจัยกันต่อไป  โดยใช้เป็นเกณฑ์ในการมองปัญหาและตัวแปรต่างๆ   ประการที่สาม  ช่วยเป็นแนวทางสำหรับการจัดระเบียบ  และการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่างๆ  ในรูปของคำกล่าวเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ค้นพบกันแล้ว  เป็นการประมวลความรู้ต่างๆ   ประการที่สี่  ช่วยให้มีแนวความคิดที่ทดสอบได้เกี่ยวกับโลกแห่งความเป็นจริง  และประการสุดท้าย  ช่วยให้มีกรอบแห่งแนวความคิด  มีเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์  รวมทั้งมีตัวแบบสำหรับการมองตัวแปรต่างๆ ในจำนวนที่จำกัด

จุดมุ่งหมายของทฤษฎีการเมือง

        จรูญ  สุภาพ (2528 : 3)  ได้กล่าวไว้ดังนี้
            จุดมุ่งหมายของทฤษฎีการเมือง  ทฤษฏีการเมืองเสนอแนะเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของรัฐหรือการปกครองได้ด้วย  จุดหมายปลายทางนี้เป็นเรื่องสำคัญ  เช่น ทฤษฎีการเมืองจะให้แนวความคิดดังนี้  ความหมายของวัตถุประสงค์และจุดหมายปลายทางของการปกครอง  โอกาสที่จะเข้าถึงจุดหมายปลายทางดังกล่าว  การลงทุน หรือ ราคา  ของการที่จะได้มาซึ่งจุดหมายปลายทางที่ได้กำหนดขึ้น  รวมตลอดถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น  ผลที่ตามมา จากการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์  รวมทั้งการเสี่ยงภัยต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้น  ปรากฏการณ์ ที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องมาจากการกระทำเพื่อให้เข้าถึงซึ่งจุดหมายปลายทาง

ประโยชน์ของทฤษฎีการเมือง

        สมพงศ์  เกษมสิน (2519 : 8)  ได้กล่าวถึงประโยชน์ของทฤษฎีการเมืองไว้ว่า  ปัจจุบันนี้ทฤษฎีการเมืองวิวัฒนาการมาสู่รูปแบบที่มีลักษณะการใช้หลักเกณฑ์การพิสูจน์ทฤษฎี   หรือสมมติฐานที่ตั้งขึ้น  โดยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์  ใช้วิธีการวิจัยจากข้อมูลที่รวบรวมตามหลักการ  ทำให้ผลลัพธ์หรือข้อสรุปมีความแม่นยำมากขึ้น  แม้จะไม่แน่นอนเหมือนกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Nature Science) แต่ก็นับว่ามีความถูกต้องสูงกว่าวิธีการแบบเดิมที่ใช้เพียงวิธีการสังเกตการณ์และเปรียบเทียบ  เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีการเมืองมีคุณค่าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือช่วยให้วิชาการปกครองหรือวิชารัฐศาสตร์มีลักษณะเป็นปึกแผ่น  มีกฎเกณฑ์และแน่นอนมากขึ้น
            ลอเรนซ์ ซี. แวนลาสส์ (Lawrence C. Wanlass, 1953 : 14) กล่าวถึงคุณค่าและประโยชน์ของทฤษฎีการเมือง ดังนี้
          1.   ทฤษฎีการเมืองช่วยให้คำจำกัดความที่ถูกต้องแก่ศัพท์ทางการเมือง เช่น คำว่า เสรีภาพ, ประชาธิปไตย,  ฯลฯ         คำจำพวกนี้นิยมใช้กันโดยทั่วไปไม่เฉพาะแต่นักศึกษารัฐศาสตร์เท่านั้น  ทฤษฎีการเมืองสอนให้รู้ซึ้งถึงความหมายที่แท้จริงของศัพท์เฉพาะเหล่านี้  ซึ่งจะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการแสดงโวหารทางการเมือง โน้มน้าวความคิดเห็นของผู้อื่น
          2.   ทฤษฎีการเมืองมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์  เพราะนำผู้ที่ศึกษาให้เข้าสู่บรรยากาศความคิดในสมัยก่อน ช่วยให้เข้าใจถึงพลังผลักดันที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญๆ  เพราะเหตุที่ว่าปรากฏการณ์ในอดีตเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์  จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องทราบถึงความคิดที่ชักจูงให้เกิดการกระทำนั้น  เช่น การที่จะเข้าใจถ่องแท้ถึงประวัติศาสตร์โลกสมัยกลาง (Middle Ages) นั้น จำเป็นต้องทราบถึงการพิพาทแย่งความเหนือกว่าในการปกครองคนระหว่างจักรพรรดิกับสันตปาปา เป็นต้น
          3.   ความรู้ในความคิดทางการเมืองแห่งอดีตนั้นมีส่วนช่วยให้เข้าใจถึงการเมืองในสมัยปัจจุบัน  เพราะปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันล้วนเกิดขึ้นจากสถานการณ์ในอดีต  หรืออาจเทียบเคียงได้กับปรากฏการณ์ในอดีต  และหลักการเมืองต่างๆ  ที่นำมาใช้เป็นผลจากวิวัฒนาการของความคิดทางการเมืองสมัยก่อน เช่น  ทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจในระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา  มีรากฐานมาจากความคิดของเมธีการเมืองสมัยกลาง เป็นต้น
            4.   ทฤษฎีการเมืองสอนให้มีความเข้าใจในนโยบายและการปรับปรุงโครงร่างทางการปกครอง  เพราะประเทศทุกประเทศต้องมีหลักการอันเกิดจากปรัชญาการเมืองใดปรัชญาหนึ่งเป็นสิ่งนำรัฐบุรุษและประชาชน  ในการวางนโยบายหรือปฏิรูปการปกครอง  ความก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จของระบบการเมืองในประเทศเป็นผลมาจากการวางโครงร่างการปกครองอยู่ทฤษฎีการเมืองที่เหมาะสมกับสภาพการณ์  และความต้องการของประเทศนั้น
            5.   คุณค่านอกเหนือไปจากที่กล่าวมาแล้ว  ได้แก่ การที่ทฤษฎีการเมืองเป็นเสมือนตัวแทนแสดงให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์แห่งอาณาจักรทางปัญญาในสมัยต่างๆ  รัฐในอุดมคติหรือเลิศนครแห่งจินตนาการล้วนแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และความพยายามที่จะใช้ความรู้ความเฉลียวฉลาดเสนอแนะรูปแบบที่ดีที่สุดแห่งการปกครอง  (อ้างจาก สุขุม นวลสกุล และโกศล  โรจนพันธุ์, 2544 : 6) 

สรุป

        ทฤษฎีการเมืองโบราณมีลักษณะเป็นปรัชญาการเมืองมากกว่า  เพราะเป็นการเน้นรูปแบบการเมืองในลักษณะของอุดมคติ   อุดมการณ์  แนวคิด  การศึกษาวิเคราะห์        โดยยึดหลัก จริยธรรมและคุณธรรมของผู้ปกครองว่าที่ดีที่สุดหรือที่เลวที่สุดเป็นอย่างไร  รูปแบบการปกครองที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์เป็นอย่างไร  โดยเกิดจากการศึกษา ค้นคิดขึ้นมาเองของนักปราชญ์เป็นส่วนมาก  โดยไม่ได้มีการศึกษาทดสอบ วิเคราะห์ในเชิงวิทยาการที่เป็นที่ยอมรับได้ในหลักการว่า ถูกต้องเที่ยงตรง เพียงแต่อาศัยความมีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือของเจ้าของแนวความคิดเท่านั้น  ก็นำไปสู่แนวทางการปฏิบัติ  ซึ่งผลที่ตามมาจึงเกิดการเมืองการปกครองในหลากหลายรูปแบบ  หลายระบบ และหลายลัทธิ  ซึ่งการศึกษาทฤษฎีการเมืองในสมัยโบราณนี้จึงมีลักษณะเหมาะที่จะเป็นการศึกษาปรัชญา หรือประวัติศาสตร์มากกว่ารัฐศาสตร์  การศึกษาทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่เริ่มจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีความเป็นทฤษฎีมากขึ้น  มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างมีความเที่ยงตรงตามหลักวิธีการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น การแสวงหาข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงโดยวิธีทางศาสตร์  การสร้างทฤษฎีทางการเมือง  จึงยึดหลักความเป็นจริงที่เป็นผลมาจากการวิจัย  จึงมีข้อเท็จจริง หลักการและคุณค่า น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้  อย่างไรก็ตามแม้ทฤษฎีการเมืองจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างทฤษฎี  แต่ไม่อาจถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้  เพราะข้อเท็จจริงของพฤติกรรมทางการเมืองนั้นเปลี่ยนแปลงได้  ต่างจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ  ซึ่งมีความเที่ยงตรง อาจพิสูจน์ได้ตลอดเวลา
15:07 | หนังออนไลน์ใหม่ | 2 comments

2 ความคิดเห็น: